อาจกล่าวได้ว่าวันที่ 3 และ 4 มีนาคม ที่จะถึงนี้ เป็นเกมชี้ชะตาการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะแท้งก่อนถึงการลงมติวาระที่ 3 หรือไม่
เพราะศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการปรึกษา หน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)
ตามที่ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามญัตติ ว่าให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่
คนการเมืองต่างเดาสถานการณ์กันล่วงหน้าว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งโหวตผ่านวาระที่ 2 รายมาตรา อาจเสียเปล่า
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญ ไฟเขียวให้เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าไปต่อได้ โดยอนุญาตให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยมี ส.ส.ร. การพิจารณาจากวาระ 2 ก็จะเข้าสู่การลงมติในวาระที่ 3 วันที่ 17 มีนาคมที่จะถึงนี้
จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ…. อันที่เพิ่งผ่านที่ประชุมรัฐสภาไปสดๆ ร้อนๆ
1.ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน ระบุคุณสมบัติ 1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง 3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวัน สมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า5 ปีการศึกษา
หรือเคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเป็น ส.ส.ร.ได้ โดยใช้เกณฑ์เดียวกับการห้ามสมัครเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 นอกจากนี้ ยังห้ามเป็นข้าราชการการเมือง ห้ามเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือรัฐมนตรี
พร้อมทั้ง อนุญาตให้แม่น้ำ 5 สายยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สามารถให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2557, สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ และเคยดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาเป็น ส.ส.ร.ได้ แต่ไม่อนุญาตให้พระสงฆ์
2.ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ร.ได้เขตละ 1 คน
3.ให้ กกต.จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้กระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
4.ส.ส.ร.ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 240 วัน นับแต่มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญวันแรก โดยจะต้องมีการจัดประชุมไม่ช้ากว่า 30 วัน นับจากวันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของ ส.ส.ร.ทั้งหมด
5.สามารถตั้งคณะกรรมาธิการทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งจาก ส.ส.ร. สำหรับกรรมาธิการอื่นอาจตั้งจากบุคคลซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส.ร.ได้ โดยให้พิจารณาถึงความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในการทำหน้าที่และมีจำนวนกรรมาธิการตามความจำเป็น
6.เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา เพื่ออภิปรายโดยไม่มีการลงมติ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นส่งให้ กกต.จัดออกเสียงประชามติภายใน 7 วัน
7.ให้ กกต.ประกาศผลการออกเสียงประชามติให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันออกเสียงประชามติ หากคะแนนประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ
8.แต่หากคะแนนออกเสียงประชามติ ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ หรือผู้มีสิทธิออกเสียงมาออกเสียงลงคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป ให้ กกต.แจ้งผลการออกเสียงประชามติให้ประธานรัฐสภา และประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญทราบโดยเร็ว
จากนั้น คณะรัฐมนตรี หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ ส.ส.และวุฒิสภา (ส.ว) รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้
การออกเสียง ลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ทั้งนี้ บุคคลผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นสมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญอีกมิได้
ทั้ง 8 ขั้นตอน จะเกิดขึ้นได้ต้องฝ่าด่าน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3-4 มีนาคมที่จะถึงนี้ให้ได้ก่อน