กรณ์ จูง 40 เอสเอ็มอี พบ ประยุทธ์ ไกล่เกลี่ย สสว.ฟ้องกราวรูด

สมาพันธ์นักธุรกิจไทย จูงเอสเอ็มอี 40 ราย ร้องทุกข์ “กรณ์” ขอความเป็นธรรม โดน สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี ฟ้องกราวรูด

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่พรรคกล้า ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน ผู้ประสานงานสมาพันธ์นักธุรกิจไทย นำคณะตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนกว่า 40 ราย เข้าพบ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค และ นายภิมุข สิมะโรจน์ ที่ปรึกษาพรรค เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย จากการเข้าร่วมทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และถูกฟ้องร้อง

ว่าที่ ร.ต.สมชายกล่าวว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ที่ให้จัดตั้งกองทุนร่วมทุนในวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเพื่อเพิ่มบริษัทให้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มากขึ้น โดยได้มอบหมายให้ สสว.เป็นผู้ดำเนินการ

ต่อมา สสว.ได้เชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกองทุน “5,000 ล้าน หุ้นส่วนใหม่ธุรกิจไทย” โดยแจ้งเป้าหมาย 6 ข้อ ได้แก่ 1. เป็นแหล่งระดมทุนของเอสเอ็มอี ที่ปลอดภาระดอกเบี้ยจ่าย 2. ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันใดในการระดมทุน 3.ผู้ร่วมลงทุนทุกฝ่ายมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการและรับผิดชอบร่วมกัน 4.มีระบบพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาคอยแนะนำต่าง ๆ

5. สนับสนุนด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสมรวมทั้งส่งเสริมด้านการบริหารจัดการการตลาด การบัญชี และอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ เอสเอ็มอีเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และสามารถพัฒนาตนเองระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ และ 6. อื่น ๆ เพื่อเชิญชวนให้เอกชนสนใจและเข้าร่วมลงทุน

ว่าที่ ร.ต.สมชายกล่าวว่า เอสเอ็มอี หลายรายได้เข้าร่วมกองทุนร่วมทุนดังกล่าว เนื่องจากมองวัตถุประสงค์ของการร่วมทุนเป็นโครงการที่ดี และเนื่องจากในช่วงปี 2547 ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ จึงทำให้เกิดความเดือดร้อนจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อกอบกู้ธุรกิจ จึงได้เข้าร่วมทุนด้วย

“อย่างไรก็ตามต่อมา เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการของ สสว. ทำให้ไม่มีบริษัทใดเลยที่ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเหตุให้ สสว.ฟ้องดำเนินคดีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเรียกเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าพี่เลี้ยงคืน เนื่องจากผิดสัญญาร่วมลงทุน”

ว่าที่ ร.ต.สมชายกล่าวว่า การเข้าพบนายกรณ์และคณะในวันนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือนักธุรกิจไทยที่ถูก สสว.ฟ้องร้องทั้งหมด อยากขอให้ช่วยส่งเสียงถึงนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสัญญาที่ไม่ตรงกับการเชิญชวนมาร่วมทุน

โดยขอให้ สสว.ยึดปฏิบัติตามนโยบายการร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital Fund และจัดทำระเบียบการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาท ในความบกพร่องผิดพลาดของการบริหารจัดการกองทุนฯ อย่างเร่งด่วน

สุดท้ายขอให้มีคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยยึด ข้อเท็จจริงมากกว่า ข้อกฎหมาย เพราะ หนังสือเชิญชวนให้ร่วมลงทุน กับ เงื่อนไขในสัญญา ไม่ตรงกัน และที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้อัดฉีดเม็ดเงินหลายหมื่นล้านไปที่ สสว.เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกันกับพวกตนได้ในอนาคต

ด้านนายกรณ์ กล่าวว่า ฟังแล้วเข้าใจ ปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคกล้าจะพยายามนำข้อเสนอของทางสมาพันธ์นักธุรกิจไทยในวันนี้ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้กำกับนโยบายโดยตรง ซึ่งพรรคกล้าเองมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี หรือคนตัวเล็กในภาคธุรกิจอยู่แล้ว เราอยากเห็นการเจราจาพูดคุยเพื่อจะหาทางออกร่วมกัน มากกว่า การหาทางออกด้วยการฟ้องร้องกันทางกฎหมาย