OctDem คนเดือนตุลาออกโรง ในรอบ 4 ทศวรรษ จี้ปล่อยตัวผู้ต้องหา ม.112

เสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำคณะราษฎร ที่ถูกคุมขังในเรือนจำ เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากนักการเมืองฝ่ายค้าน เอ็นจีโอภาคประชาชน นักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย

ล่าสุด อดีตผู้ที่เคยถูกกระทำในฐานะ “ผู้เห็นต่าง” ทางการเมืองใน 4 ทศวรรษก่อน ได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มชื่อว่า “กลุ่มคนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย” ใช้นามภาษาอังกฤษว่า Octdem เป็นการรวมกลุ่มของคนเดือนตุลา หนุ่มสาวนักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อ 4 ทศวรรษก่อน ทั้ง 2514 และ 2519 ร่วมเคลื่อนไหวให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา

เรียกร้องไปถึงกระบวนการศาลยุติธรรมให้ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม ใช้ความเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ชักชวนการมาตั้งกลุ่ม เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ จาตุรนต์ ฉายแสง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช สมศักดิ์ ปริศนานันนทกุล นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ สุธรรม แสงประทุม อำนาจ สถาวรฤทธิ์

ยังมี “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ “พนัส ทัศนียานนท์” อดีตคณบดี นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมวง

“พวกเราใช้เวลาชักชวนกันมาก่อตั้งกลุ่ม Octdem กันภายใน 1 สัปดาห์เศษๆ ก่อนหน้าแถลงข่าว” อาจารย์ธเนศ ซึ่งเป็นอดีตคณบดีศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 1 ในกลุ่ม Octdem กล่าว

จี้จุดยืนผู้พิพากษา ที่จบ มธ.

ด้าน “อาจาย์ชาญวิทย์” อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ แม้จัดลำดับตนเองว่า “ไม่ใช่คนเดือนตุลา” แต่ก็อยู่ในช่วงเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ของชาติและประวัติศาสตร์ของ ธรรมศาสตร์ เพราะอยู่ในธรรมศาสตร์ วันที่ 14 ตุลาคม 2516 และ 5 ตุลาคม 2519 ก่อนการนองเลือด ขณะนั้น “อาจารย์ชาญวิทย์” ทำงานในฐานะรองอธิการบดี ร่วมกับอธิการบดี “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” อธิการบดี และระบายความในใจว่า

“เรามาที่นี่ เรามาเคารพสักการะอนุสรณ์สถานคนเดือนตุลา โดยเฉพาะ 6 ตุลา แต่เราอาจลืมไปแล้วก็ได้ว่า เหยื่อคนแรกของ 6 ตุลา คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์”

“ผมอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เดินไปตามตัวบทกฎหมายที่แท้จริง อยากบอกไปยังผู้พิพากษาทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จบจาก ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งสถาปนาโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การ มีอธิการบดีคนแรกชื่อว่าจอมพล ป.พิบูลสงคราม พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร สัญญา ธรรมศักดิ์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ยึดมั่นในจิตเจตจำนงและวิญญาณธรรมศาสตร์ ในแง่นิติธรรมและนิติรัฐ ฝากไปยังบรรดาผู้พิพากษาที่จบ นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์”

แนะบทเรียน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

“จาตุรนต์ ฉายแสง” อธิบายแนวทางกลุ่ม OctDem ว่า คงไม่ใช่การร่วมขบวนเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบัน แต่เราเป็นผู้ถูกกระทำในอดีต มีประสบการณ์บทเรียนจากการปราบปราม เข่นฆ่า ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม

เราจะใช้ประสบการณ์นี้ให้เป็นประโยชน์ หากผู้มีอำนาจยังปราบปรามผู้ที่เห็นต่างแบบนี้ก็จะเกิดความสูญเสีย สิ่งที่ทำได้คือช่วยเสนอประสบการณ์ เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เราเห็นการคุกคามทำร้ายใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมชัดเจน

“ดังนั้น ขอให้หยุดใช้หลักนิติธรรมที่ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษาที่เห็นต่างจากรัฐ และทางกลุ่มทำหน้าที่หนังสือส่งประธานศาลฎีกา และศาลยุติธรรม เพื่อขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาได้มีโอกาสรับการประกันตัว นี่ไม่ใช่การเข้าร่วมเป็นขบวนเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักศึกษา”

เพราะเชื่อว่าเราไม่สามารถไปเพิ่มจำนวนคนได้ แต่จะรวบรวมประสบการณ์นำเสนอสังคมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนจุดยืนของกลุ่มยอมรับว่ามีคนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของรัฐบาล แต่กลุ่มเรายังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน

“จาตุรนต์” ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ถึงจุดยืนอย่างไรเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันของคณะราษฎร ว่า ทางกลุ่มมีวัตถุประสงค์ชัดเจนในเรื่องเกี่ยวกับหลักนิติธรรม ซึ่งเรื่องที่ต้องทำเฉพาะหน้าตอนนี้คือ เรื่องของการประกันตัวผู้ต้องหาไม่ว่าจะถูกข้อหาใดก็ตาม ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดต้องได้รับสิทธิ์ประกันตัว เราจึงไม่ได้ดูไปที่ข้อเรียกร้อง และเนื้อหาของนักศึกษา เพราะเราพูดหลักใหญ่คือหลักนิติธรรม

คุมขังคณะราษฎร ขัดหลัก รธน.

“จาตุรนต์” ปิดท้ายว่า ต้องการหาแนวทางแก้ปัญหาให้สังคม หลักนิติธรรมเฉพาะหน้าคือหลักประกันตัวในคดีมาตรา 112 แต่หลักวิธีพิจารณาความอาญาและหลักรัฐธรรมนูญ ภาคีกฎหมายระหว่างประเทศ ย่อมให้ความคุ้มครองกับผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกคุมขังด้วยข้อหาอะไรไม่มีเหตุหลบหนีควรให้สิทธิประกันตัว

เมื่อการคุมขังผู้ถูกกล่าวหาขัดหลักรัฐธรรมนูญ จะใช้ช่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ “จาตุรนต์” กล่าวว่า เป็นช่องทางที่พิจารณาต่อไป แต่ประชาชนไม่สามารถยื่นตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ จะต้องผ่านช่องทางอื่น เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน อัยการสูงสุด

แถลงการณ์ปล่อยตัวผู้ต้องหา

“อาจารย์ธเนศ” อ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม Octdem ว่า “ตามที่บรรดานักเรียน นิสิตนักศึกษาเยาวชนและประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ฝ่ายรัฐได้ใช้อำนาจปราบปรามจับกุมคุมขังพวกเขาไว้ในเรือนจำ

ปรากฏว่าศาลยุติธรรมไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัวพวกเขา โดยเฉพาะแกนนำกลุ่มที่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเห็นว่าระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยและนิติรัฐนิติธรรมนั้นการที่ศาลยุติธรรมจะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีและทำคำสั่งใดใดจะต้องเป็นไปโดยยุติธรรมและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ยุติธรรม

การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ เชื่อว่าศาลยุติธรรมย่อมต้องเข้าใจและทราบดีว่าหลักการในการปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาทุกคดีนั้นคือการจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาเหล่านั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และจะปฏิบัติต่อเขาเสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้พิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดแล้วไม่ได้

เราเชื่อว่าศาลยุติธรรมย่อมเข้าใจดีว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและตามกฏหมายสิทธิมนุษยชนเราเชื่อว่าศาลยุติธรรมตระหนักดีว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ดีบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ดี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ดี

กติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองที่ประเทศเรายึดถือและได้ให้สัตยาบันไว้ต่อนานาชาติก็ดี ล้วนมีบทบัญญัติชัดเจนว่าการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาในระหว่างพิจารณาคดีเป็นข้อกำหนดที่ศาลพึงยึดถือและพึงปฏิบัติ

“เราเห็นเราเห็นว่าเหตุผลของศาลยุติธรรมที่ปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราวบรรดาผู้รักประชาธิปไตยนั้นไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวข้างต้น เพราะผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดยังไม่ได้ถูกศาลตัดสินถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดย่อมต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์”

มูลคดีทั้งหมดล้วนสืบเนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามหลักประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีและคดีเช่นนี้ในภาวะการปกติอยู่ในเกณฑ์ที่ศาลอาจใช้ดุลยพินิจปล่อยตัวชั่วคราวได้เป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่ชอบด้วยข้อกฎหมายและความยุติธรรมใดใดทั้งสิ้น

“ไม่ว่าการตัดสินของศาลยุติธรรมที่ปฏิเสธไม่ให้ผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเหล่านั้นได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะมาจากเหตุผลใด จะมีเหตุผลจากการถูกบีบบังคับโดยอำนาจนอกระบบหรือเป็นความประสงค์ของศาลยุติธรรมเองก็ตาม เราเห็นว่าการตัดสินใจดังกล่าวทำให้เกิดวิกฤติความศรัทธาความเชื่อถือ เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรมในที่สุดซึ่งล้วนเกิดจากการกระทำของท่านเองทั้งสิ้น”

“เราเชื่อว่าเจตนาที่จะคุมขังผู้เรียกร้องประชาธิปไตยไว้ตลอดการพิจารณาคดีรวมทั้งการขัดขวางของเจ้าหน้าที่รัฐในการที่ไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นพบปะกับทนายความก็ดี การจงใจข่มขู่คุกคามระยามวิกาลต่อผู้ต้องขังเรานั้นก็ดีย่อมไม่อาจขัดขวางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยความกังวลใจต่อระบบนิติรัฐในประเทศนี้”

หวังศาลปราศจากอคติ

“เราหวังที่จะเห็นศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระและพิจารณาอรรถคดีต่างๆไปด้วยความยุติธรรมและปราศจากอคติ ปราศจากการครอบงำจากผู้หนึ่งผู้ใดหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เราขอเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาต่อศาลยุติธรรมว่าท่านต้องให้โอกาสเขาเหล่านั้นในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่โดยเปิดเผยและมีโอกาสแสวงหาพยานหลักฐานต่างๆมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพวกเขาอย่างเต็มที่”

“โดยอนุญาตให้โดยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพวกเขาในระหว่างการพิจารณาคดีอันเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของพวกเขาที่มีอยู่ตามหลักกฎหมายยุติธรรม”

ด้าน “นพ.สุรพงษ์” การยื่นจดหมายถึงประธานศาลฎีกาครั้งนี้ เรายื่นได้ถึง 2 หมวก หมวกแรกยื่นให้กับประธานศาลฎีกา ซึ่งมีหมวกอีกใบคือ ประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ดังนั้น เมื่อ ก.ต.รับหนังสือแล้วจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอน


เป็นฉากแรก OctDem ชบวนการคนเดือนตุลากลับมาอีกครั้ง