“บิ๊กป๊อก” เทกระจาดเงินกู้-งบท้องถิ่น ปูพรม 77 จังหวัด 1.2 แสนล้าน

กลิ่นยุบสภา รื้อ-ล้างบางผังอำนาจ โชยมาเตะจมูกนักการเมือง

นักเลือกตั้งในพรรคแกนนำฝ่ายค้านประเมินสถานการณ์ว่า ดี-ไม่ดีสิ้นปีอาจเห็น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ตัดสินใจล้างไพ่การเมืองใหม่

กับฉากที่ฝ่ายค้านทางการ-ไม่เป็นทางการ เคลื่อนไหวทั้งใน-นอกสภา กดดันให้ท่านผู้นำลาออก ! เพราะติดหล่มวิกฤตศรัทธา จากเหตุการณ์โควิด-19 ระบาดถึง 3 ระลอก

ตัดสลับมาที่ศูนย์กลางอำนาจ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ออกคำสั่งนายกฯ ที่ 85/2564 มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิด “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” เปลี่ยนพื้นที่รับผิดชอบโซนจังหวัดที่รัฐมนตรีแต่ละคนได้ดูแล ซึ่งรัฐมนตรีในพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา ก๊กใหญ่ต่างสมหวัง ได้ดูแลพื้นที่ฐานเสียงตนเอง

เว้นแต่รัฐมนตรีในโควตาพรรคประชาธิปัตย์ที่เสียงฐานกำลังให้รัฐมนตรีพลังประชารัฐและภูมิใจไทยเข้ามาคุมพื้นที่

โฟกัสที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรฯ แห่งพลังประชารัฐ คุม จ.สงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต ส่วน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายทุนภาคใต้ของภูมิใจไทย ได้คุมสุราษฎร์ธานี และกระบี่

ต่างจาก “สินิตย์ เลิศไกร” รมช.พาณิชย์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เจ้าของพื้นที่จากประชาธิปัตย์ ต้องโดดไปดูอีสาน จังหวัดหนองบัวลำภู และร้อยเอ็ด เป็นเหตุให้ประชาธิปัตย์ควันออกหู เคลียร์ใจ พล.อ.ประยุทธ์เป็นการด่วน

กลิ่นยุบสภา โชยมาพร้อมรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลที่รอการแปะกาวประสาน

ไม่แปลกเมื่อกระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

ให้จัดทำคำขอ “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่นระดับพื้นที่” วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท อันเป็นยอดเงินที่อยู่ในงบฯเงินกู้โควิด

ภายใต้ 4 แผนงาน 1.พัฒนาสินค้า ท่องเที่ยว บริการ และการค้า

2.ยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร เช่น การพัฒนาเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์

3.ส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (upskill-reskill-newskill) อบรมอาชีพระยะสั้น ยกระดับทักษะฝีมือ

4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เช่น ถนนในหมู่บ้าน แหล่งน้ำชุมชน

บนเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น และศักยภาพของท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทว่า นักการเมืองขั้วเพื่อไทยที่ใช้สัญชาตญาณตัดสินไม่เชื่อวัตถุประสงค์โครงการภาครัฐ แต่มองว่าเป็น “งบฯการเมือง” ให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลใช้ประโยชน์รับมืออุบัติเหตุการเมือง

พลิกงบฯ 76 จังหวัดที่ได้รับจัดสรรเงินกู้ 45,000 ล้านบาทตามโครงการประกอบด้วย เชียงใหม่ 933,047,204 บาท ลำพูน 384,623,014 บาท ลำปาง 608,419,472 บาท แม่ฮ่องสอน 847,106,181 บาท เชียงราย 771,379,218 บาท พะเยา 518,644,167 บาท แพร่ 487,752,655 บาท น่าน 550,480,972 บาท

พิษณุโลก 556,163,692 บาท ตาก 744,435,805 บาท เพชรบูรณ์ 560,905,700 บาท สุโขทัย 532,272,777 บาท อุตรดิตถ์ 524,228,952 บาท นครสวรรค์ 595,691,124 บาท อุทัยธานี 419,649,303 บาท กำแพงเพชร 517,827,317 บาท พิจิตร 405,808,018 บาท อุดรธานี 686,926,479 บาท

เลย 419,010,150 บาท หนองคาย 395,109,750 บาท หนองบัวลำภู 512,676,379 บาท บึงกาฬ 436,380,214 บาท สกลนคร 613,880,236 บาท นครพนม 595,933,667 บาท มุกดาหาร 440,965,149 บาท ขอนแก่น 731,104,313 บาท กาฬสินธุ์ 790,477,111 บาท

มหาสารคาม 549,542,189 บาท ร้อยเอ็ด 588,237,991 บาท นครราชสีมา 999,491,144 บาท ชัยภูมิ 553,490,249 บาท บุรีรัมย์ 802,675,451 บาท สุรินทร์ 700,303,126 บาท อุบลราชธานี 710,329,541 บาท ยโสธร 501,136,958 บาท ศรีสะเกษ 758,213,800 บาท อำนาจเจริญ 556,055,695 บาท

พระนครศรีอยุธยา 627,805,993 บาท สระบุรี 478,264,054 บาท ลพบุรี 587,076,035 บาท ชัยนาท 547,281,323 บาท สิงห์บุรี 434,864,933 บาท อ่างทอง 491,374,497 บาท นครปฐม 515,520,304 บาท นนทบุรี 518,335,853 บาท ปทุมธานี 544,535,151 บาท สมุทรปราการ 750,975,299 บาท

ราชบุรี 536,187,175 บาท กาญจนบุรี 683,086,331 บาท สุพรรณบุรี 599,090,912 บาท เพชรบุรี 448,586,536 บาท ประจวบคีรีขันธ์ 483,820,107 บาท สมุทรสงคราม 316,768,800 บาท สมุทรสาคร 530,206,024 บาท

ชลบุรี 1,247,918,572 บาท ฉะเชิงเทรา 540,028,537 บาท ระยอง 854,746,451 บาท ปราจีนบุรี 503,440,467 บาท จันทบุรี 415,969,174 บาท ตราด 438,793,694 บาท นครนายก 396,660,041 บาท สระแก้ว 626,875,158 บาท

สุราษฎร์ธานี 668,595,099 บาท ชุมพร 405,678,465 บาท นครศรีธรรมราช 692,798,413 บาท พัทลุง 586,864,003 บาท สงขลา 732,770,187 บาท ภูเก็ต 1,000,249,488 บาท กระบี่ 556,029,025 บาท ตรัง 509,935,875 บาท

พังงา 440,561,555 บาท ระนอง 497,768,396 บาท สตูล 432,951,626 บาท
ยะลา 598,571,319 บาท นราธิวาส 708,613,011 บาท และปัตตานี 750,026,951 บาท

ไม่เพียงแต่งบฯเงินกู้ 45,000 ล้านบาทยังมีงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายใต้งบประมาณปี 2565 เตรียมถูกเข็นลงพื้นที่อีก 77,809,173,500 บาท

แยกเป็นที่เป็นรูปแบบพิเศษ 23,176,982,000 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) 21,563,590,600 บาท เมืองพัทยา 1,613,391,400 บาท

ที่เหลือเป็นงบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ รวม ๆ แล้วรัฐบาลเทงบฯลงท้องถิ่น

เงินกู้ บวกงบฯ อปท. ทั้งสองก้อนรวมกันกว่า 1.2 แสนล้าน


ในช่วงที่รัฐบาลกำลังจนตรอกจากโควิด-19 และข่าวยุบสภาที่กำลังโชยมา