ย้อนประวัติ ร.อ.ธรรมนัส ก่อนศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชะตา สถานะ ส.ส.-รมต.

ธรรมนัส พรหมเผ่า

5 พฤษภาคม 2564 เป็น “วันพิพากษา” ชีวิตทางการเมืองของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ-รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

15.00 นาฬิกา ศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยสถานะความเป็น ส.ส.- รัฐมนตรี ของ “ร.อ.ธรรมนัส” พ้น ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) และ มาตรา 170 หรือไม่

เป็นลูกต่อเนื่องจากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นปี 2563 กรณีถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาจำคุกในข้อหา “พัวพันคดีค้ายาเสพติด” เขาตอบโต้ด้วยการกล่าววรรคทองกลางสภาผู้ทรงเกียรติ

“สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดรัฐนิวเซาท์เวลส์ อ้างว่าเป็นเฮโรอีนหนัก 3.2 กิโลกรัมมันคือแป้ง”ร.อ.ธรรมนัสชี้แจงกลางสภาถึงตราบาปที่ติดตัวมาตลอดชีวิต”

นอกจากนี้ยังถูกขุดคุยประวัติทางการศึกษา-สังคมตั้งคำถาม เรื่อง “วุฒิการศึกษา”

5 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. เส้นกราฟชีวิตของ ร.อ.ธรรมนัส อาจถึงจุดตัด-หักเหของความฝันทางการเมือง ในตำแหน่งสำคัญพรรคพลังประชารัฐคนต่อไป

บทบาทสำคัญทางการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส คือ คีย์แมน “ตัวจริง-เสียงจริง” ได้รับมอบหมายงานสำคัญ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ร.อ.ธรรมนัส รับงานหิน-ตีฐานที่มั่น “ทักษิณ ชินวัตร” ทลายป้อมค่ายพรรคเพื่อไทย ในตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคเหนือ จนสามารถควงพี่เขย-จีรเดช ศรีวิราช อดีตรองนายกอบจ.พะเยา เข้าป้าย และกวาดเก้าอี้ ส.ส.พะเยามาได้ 2 ที่นั่ง จากทั้งหมด 3 ที่นั่ง

หลังการเลือกตั้ง ร.อ.ธรรมนัส เป็นหัวหอกนำทัพชนะเลือกตั้งซ่อม จังหวัดนครศรีธรรมราช เจาะไข่แดงภาคใต้-เมืองหลวงพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผลงานชิ้นโบแดง จนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดสงขลา-นครศรีธรรมราชและภูเก็ต

ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล-ฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร.อ.ธรรมนัส ปรากฏตัวต่อหน้าผู้สื่อข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับ “เจ๊ก้อย-ล็อบนี้ยิสต์คนดัง” ในร้านกาแฟ blue Cloud

คล้อยหลังนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคในขณะนั้น-แกนนำพลังประชารัฐ เดินทางไปส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล-ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี (เกรดเอ)

การมีพวกพ้อง-พี่น้องในแวดวงการเมืองมากมาย และเป็น “คนมีเครดิต” ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็น “มือประสาน 10 พรรคเล็ก” จัดตั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2

ร.อ.ธรรมนัสนิยามตัวเองว่า เป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 จึงไม่ต้องแปลกใจที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง-สองครั้งที่ผ่านมาจะถูกฝ่ายค้านยื่น “ญัตติซักฟอก” แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ทั้งสองครั้ง

“ผมเป็นกำลังหลักในการจัดตั้งรัฐบาล มีบทบาทในการขับเคลื่อนและประสานงาน หากล้มผมได้ รัฐบาลก็สั่นคลอน เพราะหลายเรื่องที่ได้ประสานงานไว้นั้นถือเป็นความลับที่ผมรู้เพียงคนเดียว เขารู้ว่าผมเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จะเอาเลือดไปหล่อเลี้ยงในหัวใจของรัฐบาล จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อล้มผม…เป้าหมายเพื่อที่จะล้มล้างรัฐบาล” ร.อ.ธรรมนัสเปิดใจครั้งแรก-หลังได้รับพระราชทานโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ เพียง 2 วัน

นอกจากความสามารถพิเศษทั้งใน-นอกพรรคพลังประชารัฐแล้ว ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ – ร.อ.ธรรมนัส ยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เคลียร์ “ม็อบหน้าทำเนียบ” ที่เป็นเผือกร้อน และของแสลงของรัฐบาล

อาทิ แต่งตั้ง ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั้งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เพื่อแก้ปัญหา “กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น” ที่มาเรียกร้องให้ยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

หากย้อนเส้นทางการเมือง ร.อ.ธรรมนัส เริ่มต้น “งานการเมือง” เมื่อปี 2542 กับพรรคไทยรักไทย ที่มี “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” หัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นหัวหน้าพรรค

เป็นทีมงานเบื้องหน้า-เบื้องหลังทีมยุทธศาสตร์เลือกตั้งให้กับพรรคไทยรักไทย-ทีมยุทธศาสตร์เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ทำงานร่วมกับ “ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ” และเป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย

ร.อ.ธรรมนัส เข้าใกล้ตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มากที่สุด ในการเลือกตั้งในปี 57 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ- ถูกคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารเสียก่อน

ร.อ.ธรรมนัส อยู่ใน “บัญชีผู้มีอิทธิพล” ที่ถูก คสช.เรียกเข้าค่ายทหาร-รายงานตัว เพราะเป็นแม่งานในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง-การ์ดนปช.

ขาอีกข้างหนึ่งของ ร.อ.ธรรมนัส เหยียบอยู่บนผู้มีบารมีในวงการต่าง ๆ  อาทิ ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ตลาดคลองเตย-ตลาดนัดจตุจักร สลากกินแบ่งรัฐบาล สโมสรฟุตบอลพะเยาเอฟซี

ร.อ.ธรรมนัสจึงได้รับสมญานามว่าเป็น “ 5 เสือกองสลาก”

ตอกย้ำด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อคราวรับตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นรายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเดือนละ 3 ล้านบาท หรือ 36 ล้านบาทต่อปี

ร.อ.ธรรมนัส ยังเคยเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ “เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-นายทหารคนสนิทของทักษิณ ในฐานะกรรมการบริษัท รักษาความปลอดภัย ที.พี.การ์ด จำกัด ที่มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธานกรรมการบริษัท

ร.อ.ธรรมนัส ยอมรับว่า เป็นคนที่คอยกลั่นกรองงานให้พล.อ.ไตรรงค์ และยึดถือแนวทางการทำงานของ “เสธ.ไอซ์” คือ ยึดแนวทางการเจรจา ไม่ถึงขั้นต้องฆ่าต้องแกงกัน

เส้นทางการทหาร “ผู้กองธรรมนัส” ชื่อ-สกุลเดิม นายยุทธภูมิ โบพรหม-นายพชร โบพรหม หรือ นายพชร พรหมเผ่า-นายมนัส พรหมเผ่า มีชื่อเล่นว่า “นัท” เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 (ตท.25) และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 รุ่นเดียวกันกับ “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม”

รับราชการครั้งแรกครอง “ยศร้อยโท” หรือ ร.ท.พชร พรหมเผ่า ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ หลังจากนั้นในปี 2536 ร.อ.ธรรมนัสต้องต่อสู้คดีในชั้นศาลออสเตรเลียข้อหาพัวพันยาเสพติดถึง 4 ปี

ก่อนจะกลับมายังประเทศไทยในปี 2539 และกลับเข้ารับราชการทหาร โดยใช้ข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติ ล้างมลทินในยศ “ร.ท.พชร พรหมเผ่า” โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พระราชทานยศทหารกลับคืน ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศทหาร “ร้อยโท พชร พรมเผ่า” สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2541 เนื่องจากประพฤติตนไม่เหมาะสมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 ประกาศ ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2541 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี (ตำแหน่งในขณะนั้น)

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัส อ้างว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ได้รับการเลื่อนยศเป็น “ว่าที่ร้อยเอก” ซึ่งข้อมูลสวนทางกับประกาศนุเบกษาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศทหาร-ร้อยโท

คณะทำงานของ ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงภายหลัง-เผยแพร่คำสั่งกระทรวงกลาโหม ลงชื่อโดยพล.อ.วัฒนชัย วุฒิศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายชวน หลีกภัย) กรณียศ “ว่าที่ร้อยเอกธรรมนัส” อ้างถึงคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งที่ 360/2541 ลง 1 มิถุนายน 2541 เรื่อง เลื่อนยศนายทหารสัญญาบัตร เลื่อนยศ ร้อยโทพชร พรหมเผ่า เป็น “ว่าที่ร้อยเอก” ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2541

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศทหาร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอด ร้อยโท พชร พรหมผ่า สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด ออกเสียจากยศ ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2541 เนื่องจากประพฤติตนไม่สมควรตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทางทหาร พ.ศ.2476 ประกาศ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2541

พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรษ 80 พรรษา พ.ศ.2550 ขึ้นมา โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

และนายธรรมนัส พรหมเผ่า จึงสามารถใช้ยศ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 ดังกล่าว

ยศคำนำหน้าชื่อ “ธรรมนัส” จึงมีทั้ง “ร้อยเอกธรรมนัส” และ “นายธรรมนัส”

ราวเดือนสิงหาคม 2541 “ร.อ.มนัส” มีข่าวในคดีฆาตกรรม “ดร.พูลสวัสดิ์ จิราภรณ์” และถูกควบคุมในเรือนจำ 3 ปี 1 เดือน และต่อสู้คดีจนกระทั้งปี 2547 ศาลชั้นยกฟ้อง-อัยการไม่อุทธรณ์

ช่วงปลายปี 2561 ร.อ.ธรรมนัส ถูกตำรวจกองปราบปรามออกหมายเรียกใน “คดีบิตคอยน์” ข้อหากระทำความผิดหลอกลวงนายเออาร์นี โมตาวา ซาริมา นักธุรกิจชาวฟินแลนด์ โอนเงินสกุลดิจิทัล หรือ บิตคอยน์ มูลค่า 797 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นบริษัทดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ DNA ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสถือหุ้นอยู่ โดยอยู่ในข่ายกระทำความผิดฐานฟอกเงิน แต่ถูกกันไว้เป็นพยานเท่านั้น

ร.อ.ธรรมนัส มีชื่ออยู่ในโผเกียรติยศ-ได้รับรางวัล “เกียรติยศจักรดาว” ประจำปี 2564 โดยตำแหน่งในฐานะนักการเมือง ในวันที่ 27 มกราคม 2564 แต่งานถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ร.อ.ธรรมนัส เกิดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2508 เป็นคนจังหวัดพะเยา ประวัติทางการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พุทธศาสนมหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต Doctor of Philosophy (รัฐประศาสนศาสตร์) California University FCE ประเทศสหรัฐอเมริกา

สถานภาพสมรส ระบุไว้ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ว่า นางอริสรา พรหมเผ่า เป็นคู่สมรสตามกฎหมาย-ถือหุ้นในบริษัท-ขุมข่ายธุรกิจในเครือ “ธรรมนัสกรุ๊ป” หลายบริษัท

ภรรยาคนที่สอง น.ส.ธนพร ศรีวิราช หรือ “จุ๊บจิ๊บ” อดีตนางสาวไทยปี 2559-น้องสาวนายนายจีรเดช ศรีวิลาช ส.ส.พะเยา พลังประชารัฐ อดีตรองนายกอบจ.พะเยา-นายกเทศมนตรีเมืองดอกคำใต้

เป็นคู่สมรสที่อยู่กินฉันสามีภรรยา-ออกงานสังคมและลงพื้นที่ตรวจราชการ จนได้รับตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมือง-ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีบุตรทั้งใน-นอกสมรสรวม 7 คน

ปี 2555 นายธรรมนัส หรือ ร.อ.ธรรมนัส ได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิธรรมนัส พรหมเผ่า” ต่อนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดพะเยา ทุนเริ่มแรก 1 ล้านบาท โดยมีนายธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานกรรมการ
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

อาทิ เพื่อสงเคราะห์และช่วยเหลือเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพลภาพ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ และไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด

ทั้งความโชคดีและความโชคร้ายของ ร.อ.ธรรมนัส จึงถูกเรียกทั้ง “พ่อพระ” และผู้ที่ต้องคำพิพากษาทั้งในและต่างประเทศ

ข้อมูลเกี่ยวกับยศ-ตำแหน่ง ร.อ.ธรรมนัส

ทีมงาน ร.อ.ธรรมนัส เผยแพร่เอกสารความเป็นไปเป็นมาก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ในกรณีที่เกี่ยวพันกับคดีที่ออสเตรเลีย เมื่อปี 2536 ดังนี้

1. ร้อยโท พชร พรหมเผ่า เดินทางออกจากประเทศไทย ไปประเทศออสเตรเลียเมื่อเดือน เมษายน 2536

2. ร้อยโท พชร พรหมเผ่า เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อเดือนมษายน 2539 หลังจากพันโทษตามคำพิพากษาของศาลประเทศออสเตรเลีย

3. กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้พิจารณาให้ ร้อยโท พชร พรหมเผ่า ออกจากราชการ เนื่องจากขาดงานราชการเกิน 15 วัน

4. พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539 โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมาย ว่าด้วยการล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา

5. หลังวันที่ 11 กันยายน 2539 ร้อยโท พชร พรหมเผ่า ได้ยื่นเรื่องขอกลับเข้ารับราชการทหาร และกองบัญชาการทหารสูงสุด ได้อนุมัติรับ ร้อยโท พชร พรหมเผ่า กลับเช้ารับราชการทหารตามระเบียบ

6. กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งที่ 360/2541 ลง 1 มิถุนายน 2541 เรื่อง เลื่อนยศนายทหารสัญญาบัตร เลื่อนยศ ร้อยโทพชร พรหมเผ่า เป็น “ว่าที่ร้อยเอก” ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2541

7. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศทหาร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอด ร้อยโท พชร พรหมผ่า สังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด ออกเสียจากยศ ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2541 เนื่องจากประพฤติตนไม่สมควรตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทางทหาร พ.ศ.2476 ประกาศ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2541

8. พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรษ 80 พรรษา พ.ศ.2550 ขึ้นมา โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการล้างมลทินในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

9. นายธรรมนัส พรหมเผ่า จึงสามารถใช้ยศ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ พ.ศ.2550 ดังกล่าว


10. ด้วยผลของกฎหมายพ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มีผลให้

10.1 ร้อยโท พชร พรหมเผ่า ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาของหาออสเตรเลียและ ไม่เคยถูกลงทัณฑ์ทางวินัยคดีขาดราชการ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 (ตามข้อ 2,3)

10.2 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่คยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 (ตามข้อ 7)

10.3 ร้อยเอก ธรรมนัส เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย และไม่เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดตามคำพิพากษาศาล และไม่เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัย ทำให้ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนนการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

10.4 เมื่อปี พ.ศ.2557 พรรคเพื่อไทย ได้พิจารณาส่งร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสังกัดพรรคเพื่อไทย

10.5 ในปี พ.ศ.2562 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเลือก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมผ่า เป็นผู้แทนราษฎของประชาชนในเขต 1 จังหวัดพะเยาด้วยคะแนนเสียงจำนวน 52,417 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงมาก

เมื่อเทียบกับเขตการเลือกตั้งทั่วประเทศไทย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในปัจจุบันด้วย