7 คน ร่วมถอดบทเรียน 7 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2564 : ประเทศย่อยยับ

7 คน ร่วมถอดบทเรียน 7 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2564 : ประเทศย่อยยับ

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เวลา 19.00 น. กลุ่ม Re : Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญ ผู้รณรงค์ล่าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” จัดกิจกรรมออนไลน์รำลึกครบรอบ 7 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เฟซบุคผ่านไลฟ์ โดยมี 7 บุคคลสำคัญ มาร่วมถอดบทเรียนของสังคมไทยจากการรัฐประหาร 2557 ที่สืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 มาจนถึงปัจจุบัน

 

“ไอติม” เขย่าคนเชียร์ “ประยุทธ์”

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ได้ขึ้นกล่าวบรรยายในหัวข้อ “7 ปี รัฐประหาร: จากเผด็จการอำนาจปืนสู่เผด็จการอำนาจรัฐ” โดยระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการเป็นประเทศที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นมากที่สุดในโลก คือ 13 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว 7 ปีต่อ 1 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดก็คือการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งครบรอบ 7 ปีในวันนี้

โดยที่ความเลวร้ายของระบอบประยุทธ์คือการยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจอย่างครบวงจร เปลี่ยนเผด็จการอำนาจปืนมาเป็นเผด็จการอำนาจรัฐ นำพาประชาธิปไตยไทยย้อนหลังกลับไปหลายสิบปี ทหารและพวกพ้องที่รวยขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประชาชนต้องได้รับผลกระทบ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่พลเอกประยุทธ์เคยกล่าวหาว่าคนอื่นกระทำต่อบ้านเมือง เป็นสิ่งที่พลเอกประยุทธ์และพรรคพวกกำลังทำมันเองทั้งหมด การทุจริตที่เพิ่มขึ้นมากทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย การทุจริตเชิงอำนาจ ระบบอุปถัมภ์ การปกปิดบัญชีทรัพย์สิน การอ้าแขนเปิดรับคนที่พลเอกประยุทธ์เองเคยกล่าวหาว่าทุจริต มาร่วมในกลไกท้องถิ่น ในพรรค ในสภา หรือแม้กระทั่งมานั่งในคณะรัฐมนตรี

นายพริษฐ์กล่าวต่อไปว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเสมือนพินัยกรรมที่ คสช. เขียนขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจและควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้ง ส.ว. ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ คสช. จิ้มเลือกทั้ง 250 คน ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ถูกขยายขอบเขตอำนาจอย่างไร้การตรวจสอบ แต่ คสช. สามารถควบคุมทุกบุคลากรที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ รวมถึงการมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศที่ล็อคประเทศไว้ 20 ปีล่วงหน้า

ความเชื่อมั่นและศรัทธาที่ประชาชนมีต่อทุกสถาบันทางการเมืองก็เริ่มจะเสื่อมสลาย ระบบรัฐสภาถูกแปรสภาพมาเป็นสภาตรายาง, การใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน, กระบวนการยุติธรรมที่ปฏิเสธแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน, ทหารและตำรวจที่ถูกบีบให้ยืนอยู่ตรงข้ามประชาชน

หรือแม้กระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ควรจะอยู่ในสถานะเหนือการเมือง-อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ก็ถูกระบอบประยุทธ์ลากเข้ามา หรือปล่อยให้ไหลเข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมืองอย่างชัดเจน ผ่านความไม่กล้าหาญของนายกในการถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการกระทำอะไรก็ตามที่สุ่มเสี่ยงจะขัดกับหลักประชาธิปไตย 

“7 ปีหลังจากยึดอำนาจจากประชาชน ความเลวร้ายของรัฐประหารนั้นยังไม่ได้หายไป แต่กลับฝังมรดกมาถึงทุกวันนี้ การมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หรือการเลือกตั้งในปี 2562 นั้นไม่ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประชาธิปไตย แต่ยังคงเป็นเผด็จการที่เปลี่ยนโฉมจากเผด็จการอำนาจปืนมาเป็นเผด็จการอำนาจรัฐ ราคาที่ประชาชนทุกคนต้องจ่ายทุกวินาที ทั้งในรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาประชาธิปไตยหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ควรจะดีกว่านี้ ทำให้การทำรัฐประหารครั้งนั้นและในทุกๆ ครั้ง เป็นสิ่งที่เราให้อภัยไม่ได้ 

ทางออกเดียวของความวิปริตนี้ คือการมาร่วมกันรื้อรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจระบอบประยุทธ์ และทดแทนด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ควบคู่กับการมาร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ที่จะทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนเชื่อมั่น ว่าทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ผ่านกลไกประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย แต่การทำรัฐประหารเมื่อ 7 ปีที่แล้วต้องเป็นครั้งสุดท้าย” นายพริษฐ์กล่าว

“พวงทอง” ชี้ 6 รูปแบบของทุกรัฐประหาร

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ “รัฐไทย vs รัฐทหาร: ทำไมยังไม่หย่าขาดกันเสียที” โดยระบุว่าเวลาที่เราพูดถึงเรื่องทหารกับการเมืองไทย สังคมไทยมักจะมีคำอธิบายว่าเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่ก่อเกิดมาจากนักการเมืองคอรัปชั่น ทำให้ทหารต้องเข้ามายึดอำนาจ ก่อนที่จะถอยออกให้มีการเลือกตั้งแล้ววนเวียนไปเรื่อย

แต่คำอธิบายนี้ไม่ได้พูดถึงว่ากองทัพเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำฝ่ายจารีตนิยมที่พยายามร่วมมือกันออกแบบโครงสร้างอำนาจให้สามารถเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้ตลอดเวลา และหาทางเพิ่มพูนอำนาจให้กับคนในเครือข่ายนี้มากยิ่งขึ้นในทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร

รศ.พวงทองระบุว่าปัญหาคือเครือข่ายชนชั้นนำในด้านหนึ่งไม่สามารถที่จะปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาหรือการเลือกตั้งได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะแข่งขันในระบบรัฐสภาแบบเป็นธรรมได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ไว้ใจนักการเมืองและประชาชน จึงต้องช่วยกันออกแบบระบบการเมืองที่จะทำให้กองทัพและเครือข่ายสามารถคุมเกมทางการเมืองได้ ออกมาในรูปของรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่างๆ 

หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่การรัฐประหารปี 2490 จะพบว่ามีแบบแผนความพยายามสถาปนาอำนาจที่คล้ายๆ กันอยู่ แบ่งออกได้เป็น 6 ประการด้วยกัน คือ

1) กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากคนนอกได้ จนได้ผู้นำทหารหรือคนที่ฝ่ายชนชั้นนำจารีตยอมรับขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี 

2) จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เขียนและผ่านรัฐธรรมนูญที่จะให้อำนาจกับกองทัพมากยิ่งขึ้น

3) มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ที่บางครั้งก็มีอำนาจมากกว่า ส.ส. บางยุคบางสมัยก็ให้มีอำนาจเท่ากับ ส.ส. 

4) การออกแบบกฎหมายพรรคการเมืองและระบบการเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยในสภาขึ้นจำนวนมาก ก่อนดึงเสียงเอาพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ามาร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของทหาร 

5) พยายามขยายอำนาจของกองทัพออกไปอย่างกว้างขวาง เข้าไปในปริมณฑลทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการขยายออกไปถึงขั้นส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนี่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่

6) ก็คือการออกกฎหมายจำกัดอำนาจของรัฐบาลจากการเลือกตั้งเหนือกิจการภายในของกองทัพ ให้มีอำนาจจำกัดในการโยกย้ายตำแหน่งนายพลประจำปี หรือการแบ่งสรรงบประมาณจากกระทรวงกลาโหม

รศ.พวงทองระบุว่า การออกแบบอำนาจทั้ง 6 ประการนี้ ฝังรากลึกอยู่ในระบบการเมืองของรัฐไทยมานานแล้ว โดยใช้รัฐธรรมนูญที่เขียนเองมาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่ไม่ชอบธรรม

“ประการสำคัญ ดิฉันอยากจะบอกว่ารัฐบาลทหารอาจจะเปลี่ยนผู้นำได้หรือบางครั้งเขาอาจจะเชิญเอาพลเรือนเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลได้ แต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่พวกเขาพยายามสร้างกันขึ้นมาจะมีอายุยืนยาวนานกว่าผู้นำรัฐบาล และก็จะถูกใช้เพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่ชนชั้นนำจารีตสนับสนุน และจะกลายเป็นเครื่องมือบ่อนเซาะอำนาจของรัฐบาลที่พวกเขาไม่ต้องการ ดั่งเช่นที่เราเห็นมาแล้วในปี 2549 ที่กลไกต่างๆ ของชนชั้นนำฝ่ายจารีตพยายามช่วยกันเล่นงานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นการที่จะเอาทหารออกจากการเมืองไทย ออกจากโครงสร้างอำนาจของรัฐไทยได้ ต้องจัดการกับรัฐธรรมนูญของ คสช. ให้ได้ ถ้าเราล้มรัฐธรรมนูญนี้ได้ ขั้นต่อไปก็คือการไปจัดการกับกฎหมายลูกอีกจำนวนมากที่ให้อำนาจกับทหารแทรกซึมการเมืองไทยมาเป็นเวลายาวนาน” รศ.พวงทอง กล่าว

“บก.ลายจุด” เล่าประสบการณ์ปืนจี้หัว-อายัดบัญชี 

ต่อมา นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมประชาธิปไตย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนต่อในหัวข้อ “คสช.ในความ (ไม่) จำ” โดยนายสมบัติ ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ต้องเผชิญกับการเป็นนักกิจกรรมที่ต่อต้านการยึดอำนาจของ คสช. โดยระบุว่าสิ่งที่กลายเป็นความทรงจำอันไม่อยากจำของตน คือการถูกทหารนับสิบนายบุกมาที่บ้านพร้อมเอาปืนจ่อหัว ควบคุมตัวเข้าไปในค่ายทหาร เพียงเพราะตนไม่ยอมไปรายงานตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. พร้อมตั้งคำถามว่าอยู่ๆ ทำไม คสช. ถึงสามารถเรียกใครไปรายงานตัวก็ได้ พอไม่ไปก็ถูกไล่ล่าประหนึ่งอาชญากร

นายสมบัติระบุว่า สิ่งที่ตนคิดในเวลานั้นคือความต้องเป็นไปตามที่ถูกระบุไว้ในกฎหมาย แต่ประกาศ คสช. ไม่ใช่กฎหมาย ตนถูกตามไล่ล่า ถูกอายัดบัญชี เงินที่เคยต้องโอนทุกเดือนไปให้ลูกสาว ค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่เป็นหน้าที่ของคนที่เป็นพ่อก็ทำไม่ได้ 

สุดท้ายคดีของตนก็จบลงที่การถูกปรับ 3,000 บาท ตนต่อสู้กันถึงชั้นศาลฎีกากับเงินแค่ 3,000 เพราะมันเป็นเรื่องของหลักการ แต่ในที่สุดศาลก็ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร ตนถูกตัดสินปรับ 3,000 บาท แต่บัญชีที่อายัดไปกลับยังม่สามารถเอาออกมาได้จนอีก 3 ปีต่อมา

“และมันไม่ได้ออกมาจากการที่ คสช. ปลดล็อคบัญชีให้ผม ผมจะต้องไปเรียกร้องเคลื่อนไหวทำกิจกรรมบ้าๆ บอๆ เพื่อที่จะเข้าถึงพลเอกประยุทธ์ให้ได้ เพื่อให้เขารู้ว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วออกคำสั่งอันหนึ่งอายัดบัญชีผม มีนักข่าวไปถามพลเอกประยุทธ์ ว่าสมบัติมาเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่อายัดบัญชีเขา ประยุทธ์บอกว่าไม่รู้จัก เขาเป็นใคร แล้วก็เดินหายไป คือไอ้คนเซ็นประกาศคำสั่ง คสช. นี่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่นอน เขาอาจจะลืมไปแล้วก็ได้ หรือตอนเซ็นมีเรื่องให้เซ็นเยอะแยะผมก็ไม่รู้เหมือนกัน” นายสมบัติกล่าว

นายสมบัติยังกล่าวต่อไป ว่าที่ผ่านมา 7 ปีนี้ ตนได้รับผลกระทบพอสมควร หลังการยึดอำนาจตนยังโดนคดีตามมาอีกหลายอย่าง เพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ มาจนถึงวันนี้เราก็ได้นายกรัฐมนตรีที่มีสติปัญญาและความสามารถในการแก้ไขปัญหาของประเทศได้ต่ำเตี้ยที่สุดคนหนึ่งขึ้นมา และยังคงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือไล่ล่าคนเห็นต่างอยู่ต่อไป

“เราถูกทำให้ก้มหัวปฏิบัติตามและหุบปาก แต่ถ้าคุณต่อต้านหรือมีคำถาม เพียงแค่ตั้งคำถามหรือพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดออกมา คุณมีโอกาสถูกดำเนินคดีติดคุกหัวโตและติดโควิดอยู่ในเรือนจำ เราอยู่ในประเทศที่คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยคิดอ่านที่จะหนีจากประเทศนี้ หนีจากประเทศที่ไร้ความหวัง ไร้อนาคต เนื่องมาจากว่าผู้นำประเทศเพียงไม่กี่คนเป็นคนก่อ แต่กลับเป็นความผิดของคนที่สิ้นหวัง ส่วนไอ้คนที่ทำให้คนสิ้นหวังนั้นไม่มีความผิด เอาไอ้พวกนี้ออกจากอำนาจซะ ประเทศจะมีความหวัง คนนับแสนนับล้านจะไม่คิดฝันที่จะเคลื่อนย้ายตัวเองไปใช้ชีวิตนอกประเทศ” นายสมบัติกล่าว

“เข็มทอง” ชี้รัฐธรรมนูญ 60 ขยาย “ตุลาการภิวัฒน์” 

ต่อมา ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขึ้นกล่าวบรรยายต่อในหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ และองค์กรอิสระที่ (ไม่) อิสระจาก คสช.” ดร.เข็มทอง กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหาที่ขนานนามตัวเองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่มุ่งเน้นไปที่การปราบโกงในความหมายที่แคบที่สุด ซึ่งหมายถึงนักการเมืองเท่านั้น แต่ละเลยปัญหาสำคัญที่มีมาตั้งแต่ปี 2549 นั่นคือปัญหา “ตุลาการภิวัฒน์” เมื่อตุลาการและองค์กรอิสระเข้ามาใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของฝ่ายการเมือง ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการตรวจสอบการทุจริต

ปัญหาตุลาการภิวัฒน์เป็นสิ่งที่ซ้ำเติมปัญหาการเมืองไทย เพราะขณะที่อ้างว่าใช้อำนาจเพื่อตรวจสอบ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นการโจมตีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย สร้างให้เกิดความรู้สึกและความเชื่อในประชาชนบางกลุ่ม ว่านักการเมืองและระบอบประชาธิปไตยผู้แทนไม่เหมาะสมกับประเทศไทย จนหันมาสนับสนุนการรัฐประหารแทน 

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องตุลาการภิวัฒน์ ทั้งที่ปัญหาตุลาการภิวัฒน์ ปัญหาระบบความยุติธรรมสองมาตรฐาน ปัญหาองค์กรอิสระไม่เป็นอิสระ เป็นปัญหาที่ประชาชนหลายกลุ่มพยายามเรียกร้องมาตลอดให้แก้ไข ในทางตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 คงสภาพปัญหานี้ไว้ การแต่งตั้งโดยไม่มีความยึดโยงกับประชาชนทำให้ขาดการยอมรับจากประชาชนและทำให้ไม่มีความโปร่งใส กลไกที่ควบคุมการทำงานอย่างกลไกการถอดถอนก็ถูกนำออกไปจากรัฐธรรมนูญ 2560

“ทั้งๆ ที่ถ้าเราพิจารณาให้ดี สนช. ได้รับการแต่งตั้งมาจากตัว คสช. เอง ก็ยังไม่มีความเป็นอิสระ ไม่ใช่ผู้แทนปวงชน ไม่น่าจะเป็นผู้ที่เหมาะสมในการคัดเลือกองค์กรอิสระ เพราะฉะนั้นผลที่เราเห็นก็คือแทนที่เราจะได้ศาลและองค์กรอิสระซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล กลับกลายเป็นว่าเราได้ศาลและองค์กรอิสระซึ่งเป็นพวกเดียวกันกลับรัฐบาลในขณะนั้น ผลที่ตามมาก็คือศาลและองค์กรอิสระกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดอำนาจของสิ่งที่เราเรียกว่าระบอบ คสช.” ดร.เข็มทอง กล่าว

ดร.เข็มทองยังระบุต่อไปว่า ขณะนี้สังคมกำลังเห็นว่าศาลและองค์กรอิสระไม่เป็นมืออาชีพและไม่เป็นกลาง ศาลและองค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แทนที่จะต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นมืออาชีพ โปร่งใส ชอบธรรม กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามจนทำให้สูญเสียความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาชน

“เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ไขวิกฤตการเมืองปัจจุบัน เราก็ต้องแก้ไขโครงสร้างและความผิดปกติต่างๆ ในระบบศาลและองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งตั้งซึ่งจะต้องกระทำโดยโปร่งใสเปิดเผยมากขึ้น การเพิ่มตัวแทนของประชาชนเข้าไปเพื่อเพิ่มความยึดโยง การนำกลไกควบคุมบางอย่างกลับมา การถอดถอน รวมถึงการไม่ยอมรับองค์กรอิสระปัจจุบัน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ด้วย 

โจทย์ใหญ่ก็คือเราจะทำอย่างไรให้องค์กรเหล่านี้ยังรักษาความเป็นอิสระมากพอที่จะตรวจสอบนักการเมืองที่อยู่ในตำแหน่ง แต่ในขณะเดียวกันตัวผู้ตรวจสอบคนอื่นก็ต้องพร้อมที่จะให้คนอื่นตรวจสอบและรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจของตัวเองด้วย” ดร.เข็มทองกล่าว

“เมนู” ชี้กระแสย้ายประเทศ คนนับล้านกำลังสิ้นหวัง 

จากนั้น นางสาวสุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือ “เมนู” นักเรียนและนักกิจกรรมป ได้ขึ้นกล่าวบรรยายต่อในหัวข้อ “ปรากฏการณ์ย้ายประเทศ : ทศวรรษที่สูญหายของคนรุ่นใหม่” ตอนหนึ่งระบุว่า การมีปรากฏการณ์อยากย้ายประเทศที่มีคนสนใจเป็นจำนวนมากและมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 1 ล้านคนภายในเวลาอันสั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคนจำนวนมากไม่มีความหวังกับประเทศนี้แล้ว ซึ่งสาเหตุที่สำคัญหนึ่งมาจากการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

และในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวที่ทุกประเด็นปัญหาที่เคยถูกกดทับ ได้ถูกนำออกมาพูดถึงในสังคมไทย ผ่านการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศนี้ริดรอนสิทธิของเรามากแค่ไหน

แต่กลายเป็นว่าประเทศนี้ไม่มีพื้นที่ให้เยาวชน เมื่อผู้มีอำนาจเลือกปิดปากและปิดกั้นการแสดงออกของเยาวชน การที่มีทหารกำลังปกครองบ้านเมืองอยู่ยิ่งทำให้เราสิ้นหวังมากขึ้น จนมีเยาวชนหลายๆ คนอยากย้ายไปต่างประเทศ

นางสาวสุพิชฌาย์กล่าวต่อไป ว่าอย่างไรก็ดี การย้ายประเทศเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่ง แต่ทางเลือกอีกทางที่จะทำให้ยุติเรื่องราวแย่ๆ ทั้งหมดนี้ได้ ก็คือการมีความหวังและร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง “เราเชื่อว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว คือข้อยืนยันว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ มันเกิดการเคลื่อนไหวมากมายในรูปแบบที่ไม่มีใครเคยเจอมาก่อน มันเป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์ เป็นพลังงานที่ทำให้เรารู้สึกว่าต่อให้มันค่อยๆ ก้าวไปทีละนิดแต่มันยังคงก้าวไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน มันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น แต่สิ่งที่เรากำลังทำต่อไปนี้ เราเชื่อว่าถ้าทุกคนร่วมมือกันมันจะเปลี่ยนแปลงได้ในไม่ช้า” นางสาวสุพิชฌาย์กล่าว

นางสาวสุพิชฌาย์กล่าวต่อไปว่าหลายๆ คนยังไม่หมดหวังกับประเทศนี้ เพียงแต่ยังไม่เห็นทางออกว่าควรทำอย่างไรต่อไป ที่ผ่านมามีคนจำนวนมากตั้งคำถามกับตนว่าจะเคลื่อนไหวไปเพื่ออะไร เพราะอย่างไรก็ไม่ชนะ แต่ตนก็ยังคงยืนหยัด เพราะเมื่อเรามองเห็นปัญหา ไม่อยากให้ปัญหานั้นส่งผลกระทบถึงคนอื่น และเราก็รู้สึกว่าถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงมันก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนไป 

“เรารอเจ้าชายขี่ม้าขาวไม่ได้ เรารอคนมาเป็นแกนนำไม่ได้ เรารอคนมาเริ่มทำอะไรก่อนไม่ได้ ถ้าเรามัวแต่รอมันก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงหรอก สิ่งที่เราทำได้ก็คือลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงมันตั้งแต่ตอนนี้ ลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหา ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ลุกขึ้นมาสร้างคอนเนคชั่น ขยายความคิดไปเรื่อยๆ ลุกขึ้นมาลงชื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ แคมเปญต่างๆ นั่นคือสิ่งที่เราทำมาตลอด และเราคิดว่าสักวันหนึ่งสิ่งเล็กๆ ที่เราทำมันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” นางสาวสุพิชฌาย์ กล่าว

“ศิริกัญญา” ชำแหละยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เศรษฐกิจล่มสลาย

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายในหัวข้อ “วิกฤติเศรษฐกิจ มรดกแฝงรัฐประหาร: ยุทธศาสตร์หรือโซ่ตรวน” โดยระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้เกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ 2560 โดยตรง ที่กำหนดเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, แผนแม่บท 20 ปี, แผนแม่บทย่อย, แผนปฏิรูปประเทศ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่หน่วยราชการต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม ผลที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้คนจนจนลงไปอีก ผู้ประกอบการก็ต้องปิดกิจการ มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว ทางเดียวที่จะออกจากวิกฤตนี้ได้คือการมีรัฐบาลที่แก้ไขปัญหาตรงเป้า ตรงจุด เห็นหัวประชาชน

โดยที่ยุทธศาสตร์ชาติและแผนต่างๆ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การรองรับกับโรคระบาดอย่างในทุกวันนี้ ทำให้รัฐไทยไม่สามารถที่จะตอบสนองปัญหาได้อย่างคล่องตัว ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. งบประมาณปี 2564 เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับไม่ได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีเพียงการโยกงบบางส่วนที่ไม่จำเป็นมาไว้ในงบกลาง ส่วนที่เหลือก็ยังเป็นการใช้งบประมาณในแบบเดิมเพื่อตอบสนองกับยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก 

รวมทั้งเรื่องของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่แผนการใช้จ่ายยังคงดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีปัญหาในการดำเนินงาน หน่วยงานไม่มีความพร้อม มีการเบิกจ่ายที่ล่าช้า จน 1 ปีที่ผ่านมาไม่มีโครงการไหนเลยที่ประสบความสำเร็จตามเป้า

แม้ว่าต่อมาคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะมีมติให้มีการรื้อแผนใหม่ โดยใช้เวลาเกือบ 1 ปีหลังจากที่เกิดวิกฤตโควิด ผลที่ได้กลับมีเพียงแผนแม่บทเฉพาะกิจขึ้นมาอีก 1 ฉบับ และการปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศเพื่อลดภาระกิจลงเหลือ 62 กิจกรรม ซึ่งไม่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากแผนแม่บทที่ผ่านมาเลย คือตั้งเป้าไว้ต่ำมาก ตัวอย่างเช่น อัตราการว่างงาน ตั้งเป้าไว้ที่ไม่เกิน 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีในปี 2564 ซึ่งเป้านี้ก็สามารถที่จะทำได้ไปแล้วในปี 2563 หรืออย่างความสามารถในการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ ตั้งเป้าไว้ว่าเราจะติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศอาเซียน ซึ่งมีอยู่เพียง 10 ประเทศเท่านั้น วิธีการแปลงแผนแม่บทเฉพาะกิจให้นำไปสู่การปฏิบัติ ก็คือการบรรจุเอา 250 โครงการใหม่ไว้ในงบปี 65 แต่เมื่อดูจากยอดรวมของงบแล้ว ก็ยิ่งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายเข้าไปใหญ่ 

“เห็นได้ชัดแล้วว่าประเทศไทยจะยังคงอยู่ในวังวนวิกฤตนี้ ประเทศจะยังฟื้นตัวได้ช้า และเต็มไปด้วยแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกินเยียวยาให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ หากเรายังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้” นางสาวศิริกัญญากล่าว

“ธนาธร” โยงสัมพันธ์ “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา”

คนสุดท้ายคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ขึ้นกล่าวบรรยายเป็นคนสุดท้ายในหัวข้อ “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา: พันธมิตรเศรษฐกิจหลังรัฐประหาร” โดยนายธนาธร กล่าวว่าตนเชื่อว่าทุกคนไม่ว่าจะมีความคิดทางการเมืองเช่นไร ย่อมอยากเห็นประเทศไทยพัฒนาไปข้างหน้าในทุกด้าน ไม่ว่าจะด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม การบริการภาครัฐ การคมนาคมสาธารณะ สวัสดิการของรัฐที่ดี เทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง การมีงานที่มีคุณค่ามีความหมาย

แต่ทว่าประเทศไทยเรากลับยังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะประชาชนไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศร่วมกันอย่างแท้จริง แต่พันธมิตรระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชน นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา เป็นเจ้าของอำนาจที่ไม่พร้อมและไม่ยอมปล่อยอำนาจให้เป็นของประชาชน

หลังการทำรัฐประหารทุกครั้ง เราจะเห็นการจัดสรรดุลอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใหม่ในหมู่อภิสิทธิ์ชน เมื่อ 7 ปีที่แล้วก็เช่นกัน ที่รัฐบาล คสช. มาจนถึงรัฐบาลประยุทธ์สองหลังการสืบทอดอำนาจได้มีการออกกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน 

“นี่คือทรัพยากรของประเทศ นี่คือภาษีของประชาชน เราต้องอย่าลืมว่ากลุ่มทุนใหญ่ๆ หลายกลุ่มเคยเข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร ภายใต้ชื่อโครงการ ประชารัฐรักสามัคคี กลุ่มทุนต่างๆ เหล่านี้เขาต้องการอะไร? เขาต้องการการคุ้มครองปกป้องจากรัฐ เพื่อให้ตัวเองผูกขาดทางธุรกิจได้ต่อไป เพื่อให้กฎหมายที่ปกป้องกลุ่มธุรกิจของพวกเขาได้รับการคุ้มครองต่อไป” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรกล่าวต่อไป ว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบมาจากนโยบายของรัฐ ในปี 2559 คนรวยที่สุด 1% ของประเทศไทยครอบครองทรัพย์สินในประเทศ 58% ต่อมาในปี 2561 คนรวย 1 % นี้ครอบครองทรัพย์สินเพิ่มจาก 58% ของประเทศเป็น 66.9% ของประเทศ 

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจากการรัฐประหารกับกลุ่มทุนผูกขาดยังล่วงเลยมาถึงช่วงเวลาของสถานการณ์ที่เกิดวิกฤตโควิดด้วย ทั้งที่เราควรจะเอาพลังของทั้งประเทศมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและเยียวยาประชาชน แต่รัฐบาลกลับออกนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ เช่น การให้ตลาดสดและโรงเรียนถูกสั่งปิด แต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ไม่ถูกสั่งปิด ร้านสะดวกซื้อชื่อดังกลับไม่เคยปรากฏอยู่ในไทม์ไลน์ของผู้ป่วยรายใดเลย รวมถึงเมื่อการระบาดของโควิดเริ่มต้นขึ้นปีที่แล้ว รัฐบาลเอาภาษีของประชาชนไปเยียวยาให้กับบริษัทคิงพาวเวอร์ ก่อนที่จะเอามาเยียวยาประชาชนเสียอีก 

“ผมเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างนายทุน-ขุนศึก-ศักดินานี้เองที่เป็นเหตุผลทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปข้างหน้าไม่ได้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลระหว่างคนรวยกับคนจน นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะบอกว่าเราพอแล้ว ไม่เอาอีกแล้วกับโครงสร้างสังคมแบบนี้ ถึงเวลาที่จะต้องมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมด้วยกัน เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นประชาธิปไตย มีโครงสร้างสังคมที่เอื้อให้กับประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพ ได้มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ 7 ปีที่ผ่านมาคือ 7 ปีที่พวกเราสูญเสียเวลา สูญเสียทรัพยากร สูญเสียงบประมาณไปมหาศาล” นายธนาธรกล่าว