“ประยุทธ์” ในมหาวิกฤต เปลี่ยน “กองหนุน” เป็น “กองต้าน”

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสภาพหลังพิงฝา เพราะอยู่ภาวะวัคซีนขาดแคลน การบริหารจัดการฉีดวัคซีนสับสนวุ่นวาย เศรษฐกิจที่ซึมเซาอยู่แต่เดิม เจอพิษโควิด-19 เล่นงาน เหมือนเป็นโชคร้ายซ้ำสอง

เงินคงคลังที่กู้มาใช้เยียวยารอบแรก 1 ล้านล้านบาท ใกล้หมด ต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินรอบใหม่อีก 5 แสนล้าน

ในจังหวะที่สภาผู้แทนราษฎร เปิดสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ฝ่ายค้านขู่ว่าจะเป็นน้องๆ ของ  “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” 

ขู่คว่ำทั้งงบประมาณ 65 วาระที่ 1 ลามไปถึง พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท  

พรรคเล็กร่วมรัฐบาล ฉวยจังหวะที่รัฐบาลต้องใช้เสียงในสภา ในการผ่านกฎหมายสำคัญ เริ่มก่อหวอด – อิดออด โดยอ้างถึงคำขู่ถอนตัวร่วมรัฐบาล 

แม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีเสียง 275 เสียง แต่ก็มากกว่าฝ่ายค้าน ที่มีเป็นทางการ 212+1 เสียง (รวมกับไทยศรีวิไลย์) ตัวเลขกลมๆ ห่างกันถึง 60 เสียง

กระนั้นก็ไม่อาจประมาทได้ เพราะในช่วงชุลมุนเรื่องวัคซีน และ การแก้ปัญหาโควิด-19 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล อย่าง ภูมิใจไทย – ประชาธิปัตย์ ออกมาตะลุมบอนกับพลังประชารัฐ มีบางจังหวะที่ฟาดหางไปถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ผู้นำสูงสุด

สถานการณ์ตอนนี้เสียงในสภายังอาจคอนโทรลได้ แต่ก็อาจมีเสียงแตกปลาย 

ส่วนอารมณ์ม็อบนอกสภายังต้องพึ่งสถานการณ์โควิด -19 ให้เบรกอารมณ์ม็อบนักเรียน นักศึกษา ที่ทำกิจกรรมได้เนืองๆ ไม่สามารถนัดทำอีเวนต์แฟลชม็อบได้เหมือนก่อนหน้านี้ 

แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มม็อบอาวุโส” ที่เคยเป็นแนวร่วมกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงก่อนหน้านี้ แต่วันนี้กลายเป็น “แนวร่วมมุ่มกลับ”

ตัวอย่างเช่น “กลุ่มประชาชนคนไทย”  นำโดย “นิติธร ล้ำเหลือ”  หรือ ทนายนกเขา คนเดียวกับวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่ขวางขบวนม็อบราษฎรไม่ให้ไปทำเนียบรัฐบาล บริเวณแยกพญาไท

เป็นคนเดียวกับแกนนำ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เครือข่าย กปปส. ที่ร่วมชัตดาวน์รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  

ขนาบข้างด้วย “พิชิต ไชยมงคล” แกนนำ คปท.อีกราย 

วันนี้ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ “เสียสละ” ลาออก จากการเป็นนายกฯ แนบเหตุผลการไล่ผู้นำประเทศคนที่ 29 ว่า “ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถปฏิรูปประเทศและแก้ไขวิกฤตของประเทศชาติได้” 

แถมยังแนบท้ายชื่อ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) 

ทนายนกเขา เคยเป็นหนึ่งในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และยังเป็นทนายของกลุ่มพันธมิตรฯ 

ไม่แปลกที่ในครรลองความเคลื่อนไหว จะปรากฏ “พิภพ ธงไชย” อดีต 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน 

อีกทั้ง ยังเรียกร้องให้ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. ที่มีบทบาทเป็นผู้มากบารมีในพรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ในพรรคร่วมรัฐบาล ให้มา “ไถ่บาป” เสียงนกหวีด ชักชวน “ลุงตู่” ให้มายึดอำนาจ 

“ถ้านายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะรับผิดชอบต่อเสียงนกหวีดของตัวเอง ที่สามารถเป่านกหวีดเรียกมวลชนจำนวนมหาศาลให้มาชุมนุมปักหลักพักค้างอย่างลำบากยากเย็น  นอนกลางถนน กินข้าวกล่อง วันนี้คุณสุเทพต้องเป่านกหวีดเพื่อนำการปฏิรูปใหม่ให้สำเร็จ และสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง” 

“อย่าไปหลงผิดติดอยู่ในร่างแหแค่ตำแห่งรัฐมนตรีตำแหน่งเดียว ควรถอนตัวออกมาเสีย เพื่อมาร่วมการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ กับทิศทางที่นายแพทย์ประเวศ วะสี เสนอไว้ หรือร่วมกับผู้นำ คปท. ที่เป็นเสียงนกหวีดร่วมกับคุณสุเทพมาแต่ครั้งกระโน้น ด้วยการแสวงหา “รัฐบุรุษ” และมวลชน มาสร้างขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เพื่อนำประเทศออกจากวังวนอำนาจเผด็จการทหาร”  

“ที่ต้องยอมรับว่า “เสียงนกหวีด” ในครั้งนั้น ก็มีส่วนไม่มากก็น้อย  ซึ่งไม่ได้หมายถึง “มวลชนมหาประชาชน” ที่เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยจิตใจบริสุทธิ์ แต่หมายถึงตัวผู้นำการเป่านกหวีด  คือตัวคุณสุเทพ เอง ที่กระโดดเข้าร่วมรัฐบาล ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจทหาร  โดยการสนับสนุน รธน.ฉบับ “มีชัย” แทนที่จะสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์”  เพราะ “เขาต้องการอยู่ยาว”

“เสียงนกหวีดที่ทรงพลังนั้น จึงจะกลับมานำการปฏิรูปด้วยจิตใจของมวลมหาประชาชนดั้งเดิมใหม่ได้อีกครั้ง จะได้หรือไม่  อยู่ที่คณะแกนนำเสียงนกหวีดในยุคนั้น จะมี “สำนึกใหม่” หรือเปล่า โดยไม่ถูกกล่าวหาว่าทิ้งมวลชน หรือทิ้งอุดมการณ์ของมวลมหาประชาชน เหมือนที่ถูกคนรุ่นใหม่กล่าวหาอยู่ในขณะนี้”

ร่องรอยจาก “กองหนุน” มาเป็น “กองต้าน” พล.อ.ประยุทธ์ ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในภาวะยากลำบากขึ้นทุกวัน