ประยุทธ์ ปรับสูตรบริหารโควิด คุมราคา Antigen Test Kit ต้องไม่แพง

นายอนุชา บูรพชัยศรี เผย รัฐบาลปรับแผนบริหารโควิด-19 ออกเป็น 4 ด้าน ระดมฉีดผู้สูงอายุ – กลุ่มโรคเสี่ยงใน กทม. ให้ได้ 1 ล้านโดสใน 2 สัปดาห์ นายกฯ สั่งคุมราคา Antigen Test Kit ต้องไม่แพง  

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ว่า เนื่องจากปัจจุบันการแพร่ระบาดโควิด มีสายพันธุ์เดลตาที่มีความรุนแรงและติดต่อได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา เป็นปัญหาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย 

ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ จึงมีการออกข้อกำหนด เพื่อลดการแพร่ระบาด ซึ่งการบริหารจัดการของรัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนและปลดล็อคในหลายเรื่องเพื่อเอาชนะโควิดให้ได้โดยเร็ว 

นายอนุชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีการยกระดับและปรับเปลี่ยนการทำงาน โดยแบ่งการทำงาน 4 ระบบที่เชื่อมโยงกัน ด้านที่ ด้านแรกป้องกัน ในภาพรวมการจัดหาและการฉีดวัคซีนจะต้องจัดหามาให้เร็วและฉีดให้เร็วที่สุด ปัจจุบันฉีดไปแล้ว 12 ล้านโดส และในปัจจุบันรัฐบาลจะเร่งกระจายและเร่งฉีด 

ขณะนี้กระจายไป 5.4 ล้านโดส ลดการสูญเสียของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ ในกทม.และปริมณฑล จะระดมฉีดให้ได้ 1 ล้านโดสในช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ไป และจะมีการจำกัดการเคลื่อนย้าย การเข้าออกพื้นที่จะให้สถานการณ์ กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมได้โดยเร็ว

ส่วนประสิทธิภาพ ของวัคซีนมีผลการศึกษา จากการเก็บสถิติกลุ่มแพทย์ 7 แสนคน ที่ได้รับวัคซีนทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้า มีรายงานบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 707 คน คิดเป็น 0.01% ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนแล้ว อาการหนัก 3 ราย เสียชีวิต 2 ราย หากเทียบกับการเสียชีวิตในภาพรวมทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าแม้ป้องกันการติดเชื้อลงไม่ได้ 100% แต่ก็ลดความรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก

ด้านสอง การตรวจคัดกรอง ได้มีการปลดล็อกไป 2 เรื่อง ทั้งในส่วนการปลดล็อคให้โรงพยาบาลรับการตรวจให้ประชาชน แม้จะไม่มีเตียงรองรับ โดยให้ลงทะเบียนเข้าระบบแยกกับตัวและรักษาต่อไปตามความรุนแรงของอาการ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องปฏิเสธการตรวจโดยทันที 

นอกจากนี้ยังปลดล็อคการให้ใช้ชุดตรวจไวหรือที่เรียกว่า Antigen Test Kit โดยกระจายให้โรงพยาบาลหรือคลีนิคชุมชนสามารถใช้ได้ทันที พร้อมส่วนกลางที่จะให้ประชาชนซื้อไปใช้เองในระยะต่อไป

แอนติเจนคิท เพื่อให้คนที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงรู้ว่าผลเบื้องต้นเป็นอย่างไร ผลเป็นบวกจะต้องตรวจซ้ำ เพื่อยืนยันผล ก่อนเข้าระบบแยกกักตัว รักษาต่อไป

โดยรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเรื่องกฎระเบียบต่างๆเพื่อปลดล็อคให้ได้ และให้ประชาชนสามารถไปใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป รวมถึงเรื่องการควบคุมราคาขายตามโรงพยาบาลเอกชน หรือ ตามร้านขายยาทั่วไป

“โดยนายกฯ ได้กำชับว่าราคาต้องไม่แพงและประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนของวัคซีนทางเลือกและชุดตรวจไวหรือAntigen Test Kit ซึ่งย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้เก็บภาษีนำเข้าในส่วนเหล่านี้” นายอนุชา กล่าว 

ด้านที่สาม การกักตัว สามารถรองรับการเดินทางของผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ รวมถึงแรงงานเข้ามาได้โดยไม่ต้องลักลอบผิดกฎหมาย

ด้านที่สี่ การรักษา นอกจากมีการเพิ่มจำนวนเตียงเช่นที่รพ.บุษราคัม ที่เพิ่มเตียง 1,000-2,500 เตียง ทำให้มีเสียงไม่ต่ำกว่า 3,000 – 4,000 เตียงแล้ว ยังได้เปิดศูนย์พักคอยอีก 17 แห่ง รองรับผู้ป่วย 2,560 เตียง และจะเสริมเป็น 3,000 เตียงต่อไป พร้อมกันนี้อนุมัติการแยกกับตัวที่บ้านหรือ Home isolation หรือการปรับตัวในชุมชนหรือ community isolationมาใช้ 

สำหรับผู้ติดเชื้อและไม่มีอาการหรืออาการน้อยในเกณฑ์สีเขียว โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์พร้อมการติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเต็มที่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและอาหารทุกมื้อ ไม่ต่างจากการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลทั่วไป 

นายอนุชา กล่าวอีกว่า ส่วนการส่งมอบวัคซีนและแผนกระจายวัคซีน อาจจะมีการส่งมอบวัคซีนที่เป็นการนำเข้ามาซึ่งปัจจุบันหากมีปัญหาทางกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล ยังมีการเจรจาเพิ่มเติมกับผู้ผลิตรายอื่นๆ รวมทั้งการนำเข้าจากผู้ผลิตทั้ง บริษัทไฟเซอร์ฯ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันและ สปุตนิก วี (Sputnik V) ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมเข้ามาซึ่งรัฐบาลจะเร่งนำเข้าวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนให้เร็วที่สุด

สำหรับแผนการกระจายวัคซีน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อกระจายตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขโดย ศบค. ได้พิจารณาจากการประชุมร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้เสนอต่อที่ประชุม ศบค. เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายตามคำแนะนำของคณะแพทย์ว่าวัคซีนที่นำเข้ามาควรจะฉีดให้กับใครและกระจายไปในพื้นที่จุดใด