ครม. อนุมัติ แทรกนิรโทษบุคลากรการแพทย์ ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม
FILE PHOTO : ROYAL THAI GOVERNMENT /

ครม. รับหลักการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อให้ทันสมัย-เพิ่มอำนาจคุมโควิด ใส่หมวด คุ้มครองหมอ-พยาบาล บุคลากรด่านหน้า ในสถานการณ์ฉุกเฉิน-ระบาดรุนแรง

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ. รับหลักการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อให้ทันสมัย-เพิ่มอำนาจการคุมโรคระบบาดโควิด-19 ใส่หมวด คุ้มครองแพทย์-พยาบาล บุคลากรด่านหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉิน-ระบาดรุนแรง เพื่อให้กฏหมายการคุมโรคติดต่อทันสมัย นอกจากนี้ ยังให้เพิ่มหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินของการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรงเพื่อเพิ่มอำนาจด้านสาธารณสุขให้เข้มข้นขึ้น รวมถึงคุ้มครองบุคลากรทางแพทย์และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรคระบาด

อย่างไรก็ตามที่ประชุม ครม. ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการกฤษฎีกาไปปรับปรุงในรายละเอียดเพิ่มเติม และยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งถูกยื่นญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้กล่าวส่งท้ายในที่ประชุม ครม.ว่า ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจชี้แจงให้ดี นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังระบุว่า ข้อกล่าวหาที่ฝ่ายค้านยื่นมานั้นใช้คำรุนแรงมากเกินไป

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว

“โดยเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่/โรคติดต่ออุบัติซ้ำที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ  เพื่อให้สาระของกฎหมายมีความสอดคล้องกับการดำเนินการด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินโรคระบาดมากยิ่งขึ้น และต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน)”


ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกานำสาระของฏหมายไปพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดต่อไป โดยหามาตรการคุ้มครองบุคลากรทางสาธารณสุขด่านหน้า และอาสาสมัครที่ทำงานไปตามปกติ