ยุบ ศบค. ! ตั้งศูนย์อำนวยการโรคติดต่อแห่งชาติ รับมือโควิด

พล.อ. ประยุทธ์ เตรียมเปลี่ยนโครงสร้าง “ศบค.” เป็น “ศรช.” หลัง ประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558

วันที่ 27 กันยายน 2564 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจาก ศบค. ชุดใหญ่ มีมติขยายระยะเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ออกไปอีก 2 เดือน ถึง 30 พ.ย. 2564 พร้อมมาตรการคลายล็อคกิจการ กิจกรรม ต่าง ๆ 

พร้อมกันนี้ได้เร่งจัดทำโครงสร้างหน่วยงาน มารองรับการแก้ไขสถานการณ์โควิด ในระยะต่อไปตาม พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 และอยู่ในกระบวนการดำเนินการ จากนั้นจะจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการโรคติดต่อแห่งชาติ” (ศรช. ) แทน ศบค. 

โดยจะต้องสรรหาบุคคล ขึ้นมาทำหน้าที่บริการสถานการณ์การควบคุมโรคติดต่อ แทน ศบค. และ ศปก.ศบค. หรือ ศบค. ชุดเล็ก ที่อยู่ในโครงสร้างการบริการจัดการควบคุมโรค และกำกับกิจการ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน  

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. อยู่ระหว่างการพิจารณาสรรหา บุคคลในตำแหน่งดังกล่าว คาดว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือหัวหน้าส่วนราชการ ระดับ 11 จะมาทำหน้าที่ในส่วนเลขานุการ ศรช. เนื่องจากคาดการณ์ว่าสถานการณ์การระบาดโรคโควิด คงจะยืดเยื้อถึงปีหน้า

ในโครงสร้างการบริหารใหม่ นอกจากบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ ศรช. แล้ว ยังมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด ที่ต้องรับนโยบายไปปฏิบัติ

ทั้งนี้ พ.ร.ก.แก้ไข พรบ.ติดต่อ 2558 นี้ จะมีอำนาจครอบคลุมคล้าย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความเข้มงวด รวดเร็ว ครอบคลุม การใช้อำนาจของข้าราชการระดับกระทรวงและในระดับจังหวัด 

ส่วนกรุงเทพมหานคร จะมีโครงสร้างศูนย์บูรณการแก้ไขปัญหาโควิด กรุงเทพฯ และปริมณฑล 

คาดว่าหลังจากสำนักงานกฤษฎีกาจัดทำร่างกฎหมายเสร็จและได้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลก็จะประกาศเป็นพระราชกำหนด และมีผลบังคับใช้ หลังมีกระบวนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา