เปิดคำวินิจฉัย “ไพบูลย์” รอด เปิดทาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซบพรรคใหม่ได้

ไพบูลย์ นิติตะวัน

ศาลรัฐธรรมนูญเสียข้างมาก ชี้ชัด “ไพบูลย์” ไม่พ้น ส.ส. เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปไม่ขัดข้อบังคับพรรค รัฐธรรมนูญคุ้มครอง เข้าสังกัด พปชร.ตามกำหนด 60 วัน เปิดทาง ส.ส.บัญชีรายชื่อซบพรรคอื่นได้

วันที่ 20 ตุลาคม 2564 เวลา 15.20 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ องคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหนาพรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

ไพบูลย์ รอด มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากไม่ฟัน พ้น ส.ส.

จากกรณีที่นายไพบูลย์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูป ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรค มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7)

ทั้งนี้ นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบ ปรากฏว่าผู้ถูกร้อง (นายไพบูลย์) เป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป นายไพบูลย์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรค ปชช.

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ปชช.ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ครั้งที่ 10/2562 และมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรค ปชช. และให้แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อไป นายไพบูลย์มีหนังสือลงวันที่ 5 สิงหาคม แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่าที่ประชุม กก.บห.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูป ตามข้อบังคับพรรคปชช. 2561 ข้อ 122

นายทะเบียนพรรคการเมืองตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่ง กกต.พิจารณาและประกาศการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของ ปชช. ในราชกิจจานุเบกษา ประกาศ 6 กันยายน 2562

ต่อมา 9 กันยายน 2562 นายไพบูลย์สมัครเป็นสมาชิก พปชร. และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 หัวหน้าพรรคแจ้งจำนวนสมาชิกต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมืองมีหนังสือ ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2562 แจ้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่านายไพบูลย์เข้าเป็นสมาชิก พปชร.

มีข้อพิจารณาเบื้องต้นว่า การสิ้นสภาพพรรค ปชช.ชอบด้วยพระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบวรรคสี่ หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังแล้วว่า กก.บห.ได้ประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เลิกปชช. ตามข้อบังคับพรรค ข้อ 122 เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนที่กำหนดในข้อ 54 กล่าวคือ มี กก.บห.พรรคการเมืองมาประชุมกัน 16 คน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน กก.บห.ที่มีอยู่ 29 คน และ กก.บห.ที่มาประชุมมีมติเอกฉันท์ทั้ง 16 คนจึงเป็นเสียงข้างมาก ตามข้อ 55

มติของ กก.บห.ให้เลิก ปปช. จึงเป็นไปโดยชอบตามข้อบังคับ 122 ประกอบข้อ 54 และ 55 โดยมีเหตุผลให้เลิกพรรคว่า เนื่องจาก กก.บห.หลายคนลาออก และอีกหลายคนกำลังจะลาออก รวมทั้งขาดบุคลากรสนับสนุนทำให้ไม่สามารถดำเนินการพรรคต่อไปได้ เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับแจ้งการเลิกพรรค

นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคสอง และ กก.บห.ผู้เข้าประชุมลงมติในครั้งนั้นได้ให้ถ้อยคำต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว

ปรากฏว่า 15 คน ให้ถ้อยคำยืนยันสอดคล้องกันว่ามีการประชุมลงมติให้เลิกพรรค ตามเหตุผลดังกล่าวจริง ส่วนอีก 1 คน เดินทางไปต่างประเทศ จึงเสนอให้ กกต.พิจารณาและ มีมติเป็นเอกฉันท์ ประกาศสิ้นสภาพ ปชช. และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 6 กันยายน 2562 จึงเป็นไปโดยชอบ

ส่วนข้ออ้างของผู้ร้อง (พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และคณะ) ที่ว่าการเลิก ปชช.ตามข้อบังคับพรรค อันเป็นเหตุให้สิ้นสภาพพรรคการเมือง การประกาศของ กกต. เป็นการกระทำของนายไพบูลย์ มีเจตนาซ่อนเร้น อาศัยมติของ กก.บห.ซึ่งตนเป็นหัวหน้าพรรค มีอำนาจเหนือกว่า กก.บห. เห็นว่าไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใด แสดงให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นได้ว่ากรณี เป็นไปตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง

เมื่อ ปปช. เลิกพรรค ตามข้อบังคับพรรคข้อ 122 และ กกต.ประกาศการสิ้นสภาพในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 6 กันยายน มีผลให้ ปชช.สิ้นสุดลง ทำให้สมาชิกภาพของนายไพบูลย์สิ้นสุดลง เมื่อ ปชช.สิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง ตั้งแต่ 6 กันยายน 2562

แต่นายไพบูลย์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ถือว่า การสิ้นสภาพพรรคการเมืองตามมาตรานี้เป็นเป็นการถูกยุบพรรคการเมืองโดยมีเจตนารมณ์ เพื่อคุ้มครองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากพรรคการเมืองสิ้นสภาพนั้นไป

อันเป็นหลักการเดียวกับการคุ้มครองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ จึงเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน นับแต่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้ ในกรณีนี้คือ 6 กันยายน 2562เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายไพบูลย์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค พปชร. เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 จึงเป็นระยะเวลาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ ปปช.สิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง

สำหรับข้ออ้างของผู้ร้อง อ้างว่า นายไพบูลย์เป็นหัวหน้า ปปช.ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรค จนกว่า ปปช.จะชำระบัญชีเสร็จ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 95

ศาลเห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าว เป็นการกำหนดหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ หรือยุบพรรคการเมือง ต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ โดยมีหน้าที่ให้ข้อมูล ส่งบัญชี และงบดุล รวมทั้งส่งเอกสารของพรรคการเมือง ภายใน 30 วัน นับแต่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบ

และห้ามหัวหน้าพรรคการเมืองนั้นมิให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพหรือยุบไปแล้วเท่านั้น แต่ไม่ห้ามทำกิจกรรมพรรการเมืองในนามพรรคการเมืองอื่น

ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่อ้างว่านายไพบูลย์ ไม่ได้เป็นบุคคลที่ พปชร.เสนอชื่อเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ กกต. ก่อนการปิดการรับสมัครเลือกตั้ง นายไพบูลย์จึงไม่สามารถเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของ พปชร.ได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง(4) ประกอบมาตรา 57

เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 90 กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ตามมาตรา มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง มีวัตถุประสงค์ ใช้บังคับกับกรณีที่อยู่ในระหว่างจัดการเลือกตั้ง และก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง

“ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง(7) และมาตรา 91 วรรคสี่ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการเลือกตั้ง และนายไพบูลย์ได้รับการประกาศผลผู้การเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว

“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากจึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายไพบูลย์ไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)”