ไพบูลย์ รอด มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากไม่ฟัน พ้น ส.ส.

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคประชารัฐ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังเป็น ส.ส.ต่อไป

ภายหลังองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหนาพรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

จากกรณีที่นายไพบูลย์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูป ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรค มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7)

ทั้งที่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และมิได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่

โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นหลักๆ ว่า การขอเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปชอบด้วยข้อบังคับพรรค โดยมติของกรรมการบริหารพรรคลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกพรรค

การเลิกกิจการพรรคโดย กกต.มีมติ เท่ากับการยุบพรรค ดังนั้น รัฐธรรมนูญคุ้มครองให้ “ไพบูลย์” โดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไม่เกิน 60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

การเข้าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐของนายไพบูลย์ หลังการเลือกตั้ง ไม่เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำบัญชีรายชื่อ ส.ส.ก่อนเลือกตั้ง

และกรณีที่รัฐธรรมนูญ กำหนดให้หัวหน้าพรรคที่ถูกยุบจนกว่าชำระบัญชีพรรคการเมืองให้แล้วเสร็จโดยห้ามไม่ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคที่ถูกยุบไปแล้ว แต่ไม่ได้ห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองภายใต้พรรคการเมืองอื่น

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า สถานะของ “ไพบูลย์” ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)

ย้อนเส้นทางไพบูลย์จากพรรคประชาชนปฏิรูป มาสู่พรรคพลังประชารัฐ เพียงแค่ย่างก้าวแรก ไพบูลย์ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรค ต่อมาก็เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายพรรค

“ไพบูลย์” บอกภารกิจหลังย้ายมาอยู่พรรคพลังประชารัฐว่า “มาช่วยพี่ป้อม (พล.อ.ประวิตร) เรื่องกฎหมาย”

ไล่ไทม์ไลน์การยุบพรรคประชาชนปฏิรูป ก่อนมาลงเอยในนามพรรคพลังประชารัฐของ “ไพบูลย์”

7 เมษายน 2561 ที่ประชุมผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป มีมติเลือก “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เป็นหัวหน้าพรรค พร้อมชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง

24 มีนาคม 2562 ไพบูลย์ นำพรรคประชาชนปฏิรูปเข้าเส้นชัย ในการเลือกตั้ง มีคะแนนดิบจากโหวตเตอร์ที่ 45,508 คะแนน และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศให้พรรคของ “ไพบูลย์” ได้ ส.ส.1 ที่นั่ง จากการ “ปัดเศษ”

5 สิงหาคม 2562 ไพบูลย์ ทำหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูปขอเลิกพรรคการเมือง ตามข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 โดยให้เหตุผลว่า ผู้สมัครหลายคน ส.ส.หลายคน เมื่อไม่ได้เป็น ส.ส.มีภารกิจที่ต้องทำจึงลาออก หลายคนก็จะลาออกต่อ ถ้าปล่อยไปอีกไม่นานก็ต้องผิดกฎหมาย พรรคจะถูกเลิก

6 กันยายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ก็ประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ

9 กันยายน 2562 ไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์สื่อว่าได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เรียบร้อยแล้ว

21 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคพลังประชารัฐ มีมติเพิ่มกรรมการบริหารพรรคจาก 24 คน เป็น 34 คน พร้อมตั้ง “ไพบูลย์” เป็นรองหัวหน้าพรรค และเปลี่ยนโลโก้พรรค

1 มิถุนายน 2563 ไพบูลย์ เป็น 1 ใน 18 คน ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ลาออก เปิดเกมเขี่ยกลุ่ม 4 กุมาร ที่มีนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค สิ้นสุดทั้งคณะ รวมถึง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวใจต้องพ้นจากตำแหน่งในพรรค และตำแหน่งรัฐมนตรี พ้นชายคาทำเนียบรัฐบาล

23 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย รวบรวม ส.ส. 60 คน ที่ยื่นเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีไพบูลย์ ยุบพรรคประชาชนปฏิรูป แล้วไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งที่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และมิได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ

22 กันยายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งข้อสังเกตกรณี “ไพบูลย์” ก่อนศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา ว่า

รอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 96 ของ พรป. พรรคการเมือง พ.ศ.2560 เขียนไว้ว่า “ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสภาผู้แทนราษฎรมิได้” เจตนาคือ ไม่ให้พรรคใหญ่ ซื้อพรรคเล็ก เพื่อทำให้พรรคของตนมี ส.ส. มากขึ้น และป้องกันไม่ให้พรรคเล็ก แสวงหาประโยชน์ โดยยุบรวมพรรคตัวเองหากได้อามิสสินจ้าง

กรณี ไพบูลย์ นิติตะวัน ใช้วิธียุบพรรคตัวเอง แล้วพาตัวเองเข้าพลังประชารัฐก็ เหมือน พา ส.ส.ทั้งหมดเข้าพรรคใหม่ คล้ายกับการควบรวมพรรค เพียงแต่ มาแค่ ส.ส. แต่ ทรัพย์สิน หนี้สิน ไม่มาด้วยเท่านั้น

รอดู พรุ่งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร หากไม่ผิด คงเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ ต่อไป พรรคใหญ่ ซื้อขาย พรรคเล็กได้ไม่ยาก เอาเงินไป แล้วเธอไปลงมติยุบพรรค เสร็จแล้วฉันอ้าแขนรับเธอมาร่วมพรรคใหม่ ได้ทั้งเงินและยังคงสภาพเป็น ส.ส. นี่หรือปฏิรูปเลือกตั้ง ปฏิรูปการเมือง ???

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย หัวหอกในการยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มองว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดกับข้อกฎหมายต่างๆ ก็จะทำให้เกิดปัญหาในประเทศมากขึ้น

คือ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรับรองว่าการย้ายพรรคของนายไพบูลย์สามารถทำได้ ต่อมาพรรคใหญ่ที่มีเงินมากก็จะซื้อทุกพรรคให้เลิกพรรคหมดและไปรวมอยู่ที่พรรคตัวเอง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ถูกต้อง จะเกิดปัญหาขึ้นกับประเทศอย่างแน่นอนและไม่ใช่เรื่องเล็กๆ รวมถึงจะเกิดปัญหากับการเลือกตั้งสมัยหน้า

ที่สุดแล้วไพบูลย์ก็อยู่รอดปลอดภัย