คำเตือน “นิพิฏฐ์” ผู้ถูกถอดปลั๊ก พปชร. ดูดประชาธิปัตย์ ชนะแลนด์สไลด์

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
สัมภาษณ์พิเศษ
ปิยะ สารสุวรรณ

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-ขุนพลปักษ์ใต้ คือ คนที่จุดประเด็นกอบกู้พื้นที่ภาคใต้ ที่เปรียบเสมือน “ยานลำแม่” ของประชาธิปัตย์ ในวันที่พรรคการเมืองคู่แข่ง พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย เป็น “ภัยคุกคาม”

ภารกิจ “ห้ามเลือด” ให้หยุดไหลออกจากเส้นเลือดใหญ่ ก่อนไหลออกจากเส้นเลือดฝอย และปรับใหญ่-รื้อพรรคให้ถึงราก ถูกพับเก็บใส่ลิ้นชักผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบัน

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษ “นิพิฏฐ์” ในวันที่เขาถอย-ก้าวออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เขาประเมินการแข่งขันในพื้นที่ภาคใต้จากตรงข้ามฝั่งทะเลอันดามัน

ที่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ กำลังช่วงชิงคะแนนนิยมจากคนปักษ์ใต้ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

วันนี้ “นิพิฏฐ์” ถอยออกมาไม่ใช่แถวสอง ไม่ใช่แถวสามของพรรประชาธิปัตย์ แต่ถึงเวลา “หยุดถอย” เพื่อก้าวต่อไป บรรทัดจากนี้อาจจะเป็นการส่ง “เสียงเตือนสุดท้าย” ให้กับพรรคประชาธิปัตย์-บ้านที่เขาร่วมทุกข์-ร่วมสุขมากว่า 30 ปี

เป็นบั้นปลายใน “สงครามครั้งสุดท้าย” ของ “นิพิฏฐ์” ใน “เสื้อเกราะ” ประชาธิปัตย์

Q : ภาพรวมสนามการแข่งขันของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าในพื้นที่ภาคใต้

ภาคใต้เป็นพื้นที่หอมหวานของพรรคการเมืองทุกพรรค ทุกพรรคอยากแชร์ อยากได้ส่วนแบ่งกันทั้งนั้น

ยกตัวอย่าง เช่น คนภาคใต้เลือกภูมิใจไทยได้ เลือกพลังประชารัฐได้ คนภาคใต้ก็ต้องเลือกพรรคอื่นได้ด้วย ขณะเดียวกัน ประชาธิปัตย์เสียพื้นที่ให้พรรคอื่นแชร์ไปเยอะ

การแย่งชิงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ภาคใต้จะเป็นสนามที่ทุกพรรคคิดว่าจะมีแชร์ส่วนแบ่ง ส.ส.ในภาคใต้ได้หมดทุกพรรค ทุกพรรคอยากมีส่วนแชร์ในภาคใต้ทั้งนั้น

“ภาคอีสาน ยังเป็นพื้นที่ครอบครองของเพื่อไทยเป็นส่วนใหญ่ พรรคอื่นเข้าไปมีส่วนแบ่งได้น้อย ภาคอีสานยังไม่แตกอย่างมีนัยสำคัญจากเพื่อไทย ภาคใต้แตกแล้ว แตกอย่างมีนัยสำคัญจากประชาธิปัตย์ เช่นเดียวกับ กทม.”

Q : พรรคการเมืองอื่นที่จะเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งในพื้นที่ภาคใต้ต้องมีอะไรเป็นจุดขาย

พรรคใดที่มีนโยบายสามารถทำให้ภาคใต้อยู่ดีกินดี มีการพัฒนา และทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ดีขึ้น พรรคนั้นมีโอกาสทั้งนั้น

พื้นที่ภาคใต้ ย้อนหลังไป 30 ปี ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านมายาวนาน 20 ปี 10 ปีเป็นฝ่ายรัฐบาล ประชาชนส่วนหนึ่งคิดว่า การพัฒนาในภาคใต้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเราเป็นฝ่ายค้าน

ตอนนั้นเราพยายามยกระดับการเมืองไทยในอุดมคติขึ้นมา เป็นพรรคใหญ่แข่งกัน 2 พรรคได้แล้ว แต่ขณะนี้เราเป็นพรรคที่ 4 ที่ 5 เราสูญเสียโอกาสความเป็นพรรคใหญ่ 2 พรรคแข่งกัน

เมื่อก่อนสู้กันในเชิงการเมือง เชิงอุดมคติ เช่น กฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้สู้กันเรื่องการเป็นรัฐบาล การทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ส่วนเรื่องอุดมคติคนคิดน้อยลง

Q : ภาคใต้จะเป็นการสู้กันระหว่างพลังประชารัฐกับภูมิใจไทย

ประชาธิปัตย์ยังมีเสียง ส.ส.ส่วนใหญ่อยู่ 22 เสียง จากทั้งหมด 50 เสียง มากที่สุดในภาคใต้ อาจจะมีพรรคอื่นเข้ามาเป็นตัวสอดแทรก

“คนภาคใต้เลือกพลังประชารัฐพอจะมีเหตุผลอธิบายได้ เป็นพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่คนภาคใต้เลือกภูมิใจไทยเพราะอะไร ยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่ ถ้าเลือกภูมิใจไทยได้ ก็เลือกพรรคอื่นได้”

Q : ภาคใต้จะเป็นการสู้กันระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์

ถ้าดูจำนวน ส.ส.ในอดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น ฐานเสียงของพลังประชารัฐคือฐานเสียงของประชาธิปัตย์เดิมที่แตกไป

Q : Voter ภาคใต้ตัดสินจากอะไรว่าจะเลือกพลังประชารัฐ หรือประชาธิปัตย์

สมัยก่อนที่คุณบัญญัติ (บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 6 ปี’ 46-ปี’ 48) เป็นหัวหน้าพรรค ตอนนั้นเราสู้กับพรรคไทยรักไทย เที่ยวนั้นไทยรักไทยเดิมแข็งมาก เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังจากมีไทยรักไทย

เที่ยวนั้นเรารู้ว่า เราไม่มีทางชนะ เราขอเป็นฝ่ายค้าน เราขอคะแนน 125 เสียงทั่วประเทศ เพื่อเป็นฝ่ายค้าน เลือกเราไปเพื่อเป็นฝ่ายค้าน ไม่ได้ขอให้เลือกเป็นรัฐบาล คนยังเลือกเราเยอะ และเราเป็นฝ่ายค้านได้ ตรวจสอบรัฐบาลได้

เที่ยวนี้ถ้าเราไปบอกว่า เลือกตั้งครั้งหน้าเลือกประชาธิปัตย์เพื่อไปเป็นฝ่ายค้าน ไม่ได้แล้ว ความยากอยู่ตรงที่ว่า แนวการเมืองของพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์แนวเดียวกัน

ผมแบ่งคนในประเทศนี้ออกเป็น 2 ฝ่าย คนที่เป็นฝ่ายซ้าย กับคนที่เป็นฝ่ายขวา ซ้ายผมแบ่งเป็นเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย พรรคเหล่านี้ถูกจัดอยู่อีกฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งมีพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา

วันนี้ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาจะเห็นว่า ต้องการให้คนเลือกแบบแลนด์สไลด์ คนที่พูดเรื่องนี้คนแรก คือ คุณทักษิณ ชินวัตร ต้องเลือกให้แลนด์สไลด์เหมือนกับที่เคยเลือกไทยรักไทย เป็นรัฐบาลพรรคเดียว ทำนโยบายได้ แก้ปัญหาที่กำลังสู้อยู่ในขณะนี้ได้

พรรคที่ 2 ต่อจากคุณทักษิณ คือ พลังประชารัฐ แสดงว่าทั้ง 2 ซีก เริ่มใช้คำว่า ขอให้เลือกแบบแลนด์สไลด์

“ถ้าแลนด์สไลด์ คนที่อยู่ฝั่งรัฐบาลเดิม หรือฝั่งขวา ถ้าแลนด์สไลด์ได้จริง ๆ ก็ดูดไปจากฝั่งขวาด้วยกัน ไม่มีทางที่ฝ่ายขวาจะดึงคะแนนจากเพื่อไทย จากก้าวไกล ดูดจากฝ่ายเดียวกัน คือ สิ่งที่พรรคในฝ่ายเดียวกันต้องระวัง”

“พรรคขนาดกลาง ลำดับ 3 ลำดับ 4 ลำดับ 5 เหมือนกับประชาธิปัตย์ต้องระวัง จะถูกดูดโดยพรรคใหญ่ ถ้าพรรคใหญ่ทำกระแสแลนด์สไลด์ได้ อันตราย แต่ถ้าทำกระแสแลนด์สไลด์ไม่ได้ ก็เป็นอย่างนี้ ได้ไล่ไหล่กันมา”

Q : การเลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์จะเล็กลงกว่าเดิม-เสี่ยงถูกดูด

ฝ่ายเดียวกันจะดูดฝ่ายเดียวกัน ถ้ามีพรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่ง ไม่เป็นซ้าย ไม่เป็นขวา ไม่สุดโต่งทั้ง 2 ข้าง เป็นพรรคการเมืองที่บอกว่า ไม่มีเวลาไปทะเลาะกันแล้วประเทศนี้

ถ้าคุณเลือกพลังประชารัฐแน่นอน ฝั่งเพื่อไทยก็ตามราวีอยู่ ความขัดแย้งมีเหมือนเดิม คนที่เลือกเพื่อไทย คนฝ่ายขวา คนที่นิยมทหารก็ตามราวีเหมือนเดิม ความขัดแย้งของประเทศก็ไม่จบอีก

“ถ้ามีพรรคที่ 3 พรรคที่ไม่ชวนทะเลาะกับเรื่องเหล่านี้ ไม่แบ่งขั้ว เป็นพรรคที่ต้องการนำประเทศไปข้างหน้า พัฒนาประเทศ ทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แข่งกับเวียดนาม แข่งกับมาเลเซีย คิดถึงอนาคต มีโอกาส (แจ้ง) เกิดเหมือนกัน”

ถ้ามีอีกพรรคหนึ่งบอกว่า เลือกพลังประชารัฐ ความขัดแย้งไม่จบ เลือกเพื่อไทย ความขัดแย้งยังมีอีก ซ้ายจัด ขวาจัด ถ้าอยากให้ลูกหลานมีงานทำ เศรษฐกิจหลังโควิดดีขึ้น ประเทศตกอันดับการแข่งขันแล้ว ประเทศต้องไปข้างหน้า มาเลือกเรา

Q : เห็นพรรคการเมืองสายกลางแบบนี้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง

ผมว่ายังไม่มี แม้ว่ามี แต่ยังไม่มีน้ำหนัก ต้องเป็นพรรคที่ทำได้จริง รวมถึงบุคลากรของพรรค ผมยังไม่เห็นว่า มีการตั้งพรรคการเมืองเหล่านี้ขึ้นมา

Q : อ่านการเมืองขาด ทำไมประชาธิปัตย์ไม่ซื้อแนวคิด

เขาถอดปลั๊กผมออกมาแล้ว ผมถอยออกจากประชาธิปัตย์เยอะแล้ว พรรคจะให้อยู่หรือไม่ให้อยู่ ผมไม่ได้ติดใจอะไรแล้ว ผมคิดว่า ถ้าการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว เวลาแลนด์สไลด์เกิดขึ้นจริง ๆ มันจะดูดขั้วเดียวกัน อันตราย

คำตอบของผมอาจจะไม่ตรงกับแนวของผู้บริหารและรองหัวหน้าพรรคที่จะเข้ามารับผิดชอบ เขาไม่ให้ราคาผมเท่าไหร่ ผมตั้งใจที่จะไม่อยู่แล้วด้วย ถ้าเราพูดไปแล้ว เขาจะว่าจะไปแล้วมาพูดอย่างนี้ทำไม

Q : อนาคตของนิพิฏฐ์กับประชาธิปัตย์


ผมยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ว่าถ้ามันอยู่ไม่ได้จริง ๆ ไม่เอาความคิดแบบผมเข้าไปบรรจุเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง ผมก็ต้องหยุด