ชงแก้รัฐธรรมนูญ 2 ปี 21 ฉบับ ผ่านรัฐสภาวาระ 3 แค่ร่างเดียว

ชงแก้รัฐธรรมนูญ

เหมือนฉายหนังซ้ำยิ่งกว่าซ้ำ เมื่อ “รัฐสภา” ตีตกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับภาคประชาชน อันเป็น ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช … ตามที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะตัวแทนกลุ่ม Re-Solution กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 คน เป็นผู้เสนอ

บนคอนเซ็ปต์ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของภาคประชาชน ประกาศไว้ล่วงหน้า ล้ม ส.ว. เดินหน้าสภาเดี่ยว เอา ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ออกไป เพื่อใช้ระบบสภาเดี่ยว

โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ-ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ จัดการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กร เพื่อให้ได้คนที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่ใช่คนที่ ส.ว. 250 คนเป็นคนแต่งตั้ง

เลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูป-ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ ไม่ให้ คสช.มีเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม

ล้างมรดกรัฐประหาร-หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย เช่น ยกเลิกมาตรา 279 ทำให้คำสั่ง คสช. ไม่ได้ชอบด้วยกฎหมายแบบอัตโนมัติเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เป็นข้อเสนอกระแทกใจของบรรดา ส.ว.ลากตั้ง ที่วิเคราะห์กันว่า กลุ่ม Re-Solution หวังผลจุดไฟนอกสภา มากกว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญ

นับเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 21 ที่เข็นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

21 ฉบับ ภายใน 2 ปีเศษ ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศว่า เป็น 1 ใน 12 นโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 มีเพียงถ้อยคำสั้น ๆ เพียง 1 ประโยคว่า

“การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม ….รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”

เป็นเงื่อนไขที่นำพา พรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทย 2 พรรคขนาดกลาง เข้าร่วมรัฐบาล

ทว่า รัฐสภาพิจารณาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมกับครั้งล่าสุด 3 ครั้ง รวม 21 ฉบับ แต่ผ่านวาระ 3 แค่ฉบับเดียวเท่านั้น แบ่งเป็น

ครั้งแรก มีการชงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ของทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน จำนวน 7 ฉบับ

แยกเป็น ร่างฝ่ายค้าน 5 ร่าง เสนอโดย “นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ขณะนั้น) กับคณะ

1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1

2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271

3.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 259 และยกเลิกมาตรา 272

4.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 279

และ 5.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม

ร่างฝ่ายรัฐบาล 1 ฉบับ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เสนอโดย นายวิรัช รัตนเศรษฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ

ร่างของภาคประชาชน 1 ฉบับ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ยกเลิกมาตรา 65 มาตรา 88 มาตรา 203 มาตรา 217 มาตรา 270 มาตรา 272 มาตรา 275 และมาตรา 279 ฉบับไอลอว์ โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อ 98,041 ราย เป็นผู้เสนอ

กระทั่ง 18 พฤศจิกายน 2563 รัฐสภาตีตกร่างของไอลอว์ แต่รับร่างของรัฐบาล-ฝ่ายค้าน แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่ที่สุดแล้วก็ “แท้งก่อนคลอด” เพราะ “ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ-สมชาย แสวงการ ส.ว.” จับมือยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

โดยศาลเห็นว่าอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจรัฐสภา แต่ต้อง “ทำประชามติ” เสียก่อน เมื่อการแก้ไขครั้งนั้น “ก้ำกึ่ง” ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ รัฐสภาโดย ส.ส.พลังประชารัฐ-ส.ว.จึงตีตก ส่วนฝ่ายค้าน-พรรครัฐบาลบางพรรค เช่น พรรคภูมิใจไทย วอล์กเอาต์ ว่าเป็นเกม “ปาหี่”

ครั้งที่ 2 เป็นการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา มุ่งแก้กติกาเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวแบบจัดสรรปันส่วนผสม มาเป็นเลือกตั้งบัตร 2 ใบ โดยมีฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน เสนอให้รัฐสภาพิจารณารวมกันถึง 13 ฉบับ

อาทิ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 มาตรา 29, 41, 45, 83, 85, 86, 90, 91, 92, 94, 144, 185 และ 270 (5 ประเด็น 13 มาตรา) เสนอโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับคณะ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83, 85, 86, 90, 91, 92 และยกเลิกมาตรา 93 และ 94 (แก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ) เสนอโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พท. กับคณะ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 65 (แก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ) เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กับคณะ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 76/1, 76/2, 249, 250, 251, 252, 253, 254 และเพิ่มมาตรา 250/1 (กระจายอำนาจท้องถิ่น) เสนอโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับคณะ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83, 91 (แก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ) เสนอโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กับคณะ

โดยที่ประชุมตีตก 12 ร่าง ผ่านแค่ร่างแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เสนอโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กับคณะ เพียงร่างเดียว ด้วยมติเห็นชอบ 552 ต่อ 24 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 342 เสียง ส.ว. 210 เสียง งดออกเสียง 130 เสียง

10 กันยายน 2564 ร่าง 1 เดียวของ “จุรินทร์ และพวก” สามารถไปถึงฝั่งฝันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบผ่านวาระที่ 3 ด้วยเสียง 472 ต่อ 33 เสียง งดออกเสียง 187 คะแนน

ครั้งที่ 3 รัฐสภา “ตีตก” ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ ด้วยเสียง 473 ต่อ 206 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง โดยเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง หรือ 362 เสียง จากจำนวนสมาชิกรัฐสภา ทั้งหมด 723 คน

2 ปี วาระเร่งด่วนแก้รัฐธรรมนูญ 21 ฉบับ ผ่านแค่ ฉบับเดียว…