นโยบาย ประยุทธ์ โกยคะแนน พปชร. วางตัวตำรวจ ทหาร เคาะประตูฐานเสียง

1 มกราคม 2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับถอยหลังการเปิดประเทศ-ฟื้นคืนชีพทางการเมืองหลังจากมรสุมโควิด-19 ถาโถม 4 ระลอก

หลังโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์พลิกวิกฤตขาลงให้กลายเป็นขาขึ้น เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินก้อนใหม่เพื่อเพิ่มกำลังซื้อทุกชนชั้นกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่

แพ็กเกจเติมเงิน-ล้วงเงินในกระเป๋า เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ยิ่งใช้ยิ่งได้ เราเที่ยวด้วยกัน และการ “ปัดฝุ่น” โครงการช้อปดีมีคืน

ประกอบกับการ “ลดค่าใช้จ่าย” ให้เป็น “ของขวัญปีใหม่” 20 กระทรวง ซึ่งจะออกมาในช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ อาทิ แพ็กเกจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยจะลดภาษีให้เหมือนโครงการรถยนต์คันแรกในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นอกจากนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ผุดไอเดีย “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือน” โดยจะส่งข้าราชการพลเรือน 386,360 ราย ข้าราชการทหาร 191,957 ข้าราชการตำรวจ 161,680 ราย รวม 739,997 ราย “ปูพรม” เคาะประตูทุกหมู่บ้าน เพื่อเก็บข้อมูลประชาชน ข้าราชการ 1 คน รับผิดชอบ 5 ครัวเรือน

โปรเจ็กต์นี้มีการพูดถึงในหมู่ 3 ป.มายาวนาน ตั้งแต่ยังเป็นยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะช่วงที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คลอดโปรเจ็กต์แก้จนลงระดับชุมชน-หมู่บ้านหลายโครงการ

โมเดล-ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบตรงจุด (Targeted Poverty Alleviation, TPA) ของ “สี่ จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ถูกนำมาพูดถึงอันเป็นนโยบายพุ่งเป้าค้นหาความยากจนในระดับรายบุคคลและครอบครัว เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด

มีการส่งทีมงานหมู่บ้านซึ่งมีข้าราชการ ที่เรียกว่า Village work team กว่า 775,000 คน ลงไปสำรวจความยากจน และให้ไปอยู่-กินกับชาวบ้านยากจนตั้งแต่ 1-3 ปี เพื่อวิเคราะห์ความยากจน ลงลึกถึงครอบครัว

“คำที่ผมบอกว่า 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือน ผมไม่ได้หมายความว่าจะให้ข้าราชการไปแก้ปัญหาประชาชน แต่ให้ไปคุยกับประชาชน ไปเก็บข้อมูลแล้วมาส่งให้กับคณะทำงานตรงนี้ เพื่อทำงานให้สอดคล้องกับสภาพัฒน์และกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ และให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปแก้ปัญหา ไม่ได้ทำการเมือง” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

“พล.อ.ประยุทธ์” จะลงมาแก้ปัญหาความยากจนด้วยตัวเอง โดยจะนั่ง “หัวโต๊ะ” เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาความยากจน-ลดความเหลื่อมล้ำ

โดยมี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็น “ตัวตั้งตัวตี” และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกือบทุกกระทรวงเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้

ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ได้วางโครงสร้างแล้ว โดยสภาพัฒน์ได้รวบรวมข้อมูลประชาชนในกลุ่มเปราะบาง-อ่อนด้อยไว้ในระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (ทีพีแมป) เบื้องต้นมีครัวเรือนที่จะได้รับการช่วยเหลือประมาณ 1 ล้านครัวเรือน

ทีมที่จัดลงไปจะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แต่ละครัวเรือน ดูทุกช่วงวัย ทุกมิติ ประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1 คน ใน 1 ทีม หรือ 3-5 คน เบื้องต้นดำเนินการ 1 ทีม ต่อ 15 ครอบครัว ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจดำเนินการเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นต้นปี 2565 จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และจัดทีมพี่เลี้ยงระดับตำบล ดำเนินการแก้ปัญหาให้ตรง

“จะนำข้อมูลดังกล่าวเข้าไปดูแลแก้ปัญหาในทุกเรื่องทุกมิติ เช่น เรื่องการศึกษา สาธารณสุข รายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ และส่งข้อมูลให้ทีมในระดับพื้นที่ลงไปดูว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นอย่างไร และนำมาวางแนวทางแก้ไขปัญหา โดยทุกภาคส่วน และแก้ปัญหาให้จบในระดับพื้นที่-อำเภอ” พล.อ.อนุพงษ์ระบุ

หลังโควิด-19 “พล.อ.ประยุทธ์” จึงเดินเกมเศรษฐกิจควบการเมือง เจาะกลุ่มเป้าหมายรายหัว-รายครัวเรือน เพื่อเก็บข้อมูล-รับฟังความต้องการของ “โหวตเตอร์” ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

เป็นการ “ทำแต้ม” คู่ขนานไปกับพรรคแกนนำรัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านชนิด “เล็งเห็นผล” เป็นรูปธรรม-จับต้องได้

การ “เดินเท้า” ของข้าราชการ 5 แสนชีวิตทั่วทุกหัวระแหง ทั้งในส่วนกลาง-ท้องถิ่น จะ “ดาหน้า” กัน “ทุบ” เครือข่ายพรรคการเมือง-หัวคะแนนนักการเมืองที่เข้าไปแทรกซึม-ฝังตัวไว้กับผู้นำชุมชน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน รอการเลือกตั้งครั้งหน้า

เป็นไม้เด็ด-หมัดน็อกของ “พล.อ.ประยุทธ์” 18 เดือนหลังจากนี้-วันเลือกตั้งครั้งหน้าชนะแบบแลนด์สไลด์