เลือกตั้งบัตร 2 ใบ แผลงฤทธิ์ คนดังซบพรรคใหญ่ พรรคเล็กจ่อสูญพันธุ์

รายงานพิเศษ

ตลาดการเมืองฝุ่นตลบ เพราะผลจากกติกาเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปจากกติกาเลือกตั้งใบเดียวตอน 24 มีนาคม 2562 แบบหน้ามือหลังมือ

เปลี่ยนทั้งจำนวน ส.ส.เขต จาก 350 คนมาเป็น 400 คน ลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จาก 150 คน เหลือ 100 คน

เปลี่ยนการนับคะแนน จากแบบนับแต้มคะแนนตกน้ำ-จัดสรรปันส่วนผสม (MMA) จำกัดเพดาน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคที่ได้ ส.ส.เขตมาก ทำให้พรรคกลาง-พรรคเล็กได้ประโยชน์ ลืมตาอ้าปากได้

มาเป็นระบบผสมแบบ “เสียงข้างมาก” MMM นับแต้ม ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แยกออกจากกัน สูตรนี้นักพยากรณ์การเมือง พรรคใหญ่ได้เปรียบ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ

ผลจากการรื้อกติกาเลือกตั้ง เริ่มสำแดงผล แม้ยังไม่ใกล้เคียงกับวันเลือกตั้ง ในจังหวะที่ผู้ถือดุลอำนาจพยายามจะลากยาวอยู่ครบวาระ ปี 2566 แต่ก็ไม่มีอะไรการันตี 100% ว่า รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่สั้น-อยู่ยาว แค่ไหน

นักการเมือง ผู้ยึดการเลือกตั้งเป็น “อาชีพ” ย่อมรู้ชะตาอนาคตตัวเองจะลงเอยอย่างไร ทำให้ “ตลาด ส.ส.” เปิดการย้ายขั้ว ย้ายค่าย เริ่มเปิดขึ้นอีกครั้ง

เปิดตัวบิ๊กเนมดึงเรตติ้ง

พรรคที่ดูเนื้อหอมทุกโมงยามในเวลานี้คือ พรรคเพื่อไทย ที่เตรียมเปิดตัว “บิ๊กเนม” ในช่วงใกล้สิ้นปี หลังทยอยเจรจา “ปิดดีล” กันไปบ้างแล้ว

พรรคเพื่อไทยเร่งสปีดเต็มที่ ในการทำโพลคัดตัวผู้สมัครลง 400 เขตเลือกตั้ง และจัดวางคนไว้ในปาร์ตี้ลิสต์ จะจบในเฟสแรกที่ปรับตามกติกาเลือกตั้งใหม่ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564

ที่ต้องเร่งสปีดเพราะพรรคเพื่อไทย ประเมินว่าสถานการณ์การเมืองในปี 2565 อาจเกิดความปั่นป่วน กระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อาจใช้วิธีชิงยุบสภา เมื่อกฎหมายลูกเสร็จ

การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นระหว่าง มีนาคม-กรกฎาคม 2565 วัดจากการเร่งรีบจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ข่าวลับจากฝ่ายรัฐบาลว่า จะใช้เวลาแค่ 2 เดือน ในการทำกฎหมายลูก

เพื่อไทยปิดดีล “จาตุรนต์”

ดีลที่เกิดขึ้นจริง และจบลงเรียบร้อย คือ “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ เตรียมคัมแบ็กกลับถิ่นเก่าเพื่อไทย

หลังเจรจาได้ลงตัว มีแนวโน้มอย่างสูงว่าจะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่ วุฒิพงศ์-ฐิติมา ฉายแสง ผู้เป็นน้อง คนใดคนหนึ่งอาจจะได้ลง ส.ส.เขต ฉะเชิงเทรา แก้มือจากการเลือกตั้งปี 2554 ที่ไม่มีชื่อนักการเมืองบ้าน “ฉายแสง” เข้าสู่สภา

ไม่นับ 2560 ที่ตระกูลฉายแสง ต้องประสบวิบากกรรมที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ

ก่อนหน้านี้ “จาตุรนต์” นำกลุ่ม นปช. ฟากของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ในนาม UDD อาทิ นพ.เหวง โตจิราการ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ วิภูแถลง พัฒนภูมิไท รวมถึงผู้ร่วมงานจากไทยรักษาชาติ คนอื่น ๆ อาทิ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ รฟม. ไปเริ่มต้นงานการเมืองที่พรรคเส้นทางใหม่

แต่เมื่อกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นบัตร 2 ใบ ทำให้พรรคโตยาก “จาตุรนต์” จึง “พับแผน” ตั้งพรรค กลับเข้าเส้นทางเดิมคือ พรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกันมีรายงานจากผู้ร่วมเส้นทางใหม่ กลุ่ม นปช.กำลังดูทิศทางลมทางการเมือง แม้จะมีแนวโน้มสูงที่จะกลับเข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย แต่ก็เปิดออปชั่นไว้หลายทาง

ทั้งการเจรจากับ “พรรคไทยสร้างไทย” ที่มี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เป็นประธานพรรค ส่วนผู้ที่เป็น behind the scene ให้ทุนการเมือง “เส้นทางใหม่” ก็ยังมีอยู่

ส่วนคนที่ “สละ” เส้นทางใหม่-ล้มแผนการเมืองระดับชาติ คือ “นิคม ไวยรัชพานิช” อดีตประธานวุฒิสภา ก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ในการเลือกตั้งปี 2562 ขอชิมลางสนามการเมืองในฐานะผู้แทนราษฎร ในนามไทยรักษาชาติ แต่เมื่อถูกเตะตัดขาพรรคถูกยุบ

ก็มารวมกลุ่มอยู่ในทีม “เส้นทางใหม่” แต่พลันที่ “จาตุรนต์” พับแผนนำพรรค จึงเป็นโอกาสที่ทำให้ถอนตัวจากการเมืองระดับชาติ หันมาเป็น “กองหนุน” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลุยเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ส่วน “ประภัสร์ จงสงวน” อีกหนึ่งทีมงานเส้นทางใหม่ ยังสงวนท่าทีไม่เปิดเผยให้รู้ว่าจะขยับทางการเมืองอย่างไร

ไทยสร้างไทย ไม่ถอดใจ

ไทยสร้างไทย พรรคใหม่ของ “คุณหญิงสุดารัตน์” ประกาศไม่ใช่พรรคแตกแบงก์พันของใคร หลังจากแยกทางเพื่อไทย ผุดอีเวนต์สร้างกระแสเดินสายทัวร์นกขมิ้น 77 จังหวัด รับฟังเสียงของประชาชน ลุยการเลือกตั้งที่จะมาถึง

“วัฒนา เมืองสุข” ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายและการเมือง กล่าวว่า พรรคพร้อมทุกกติกา เพราะเชื่อมั่นในกระแส ที่ผ่านมากระแสของพรรคดีอย่างต่อเนื่อง นโยบายต่าง ๆ ก็ทยอยประกาศออกมาแล้ว แต่จะคาดหวังจะได้จำนวน ส.ส.เท่าไหร่ ต้องรอ 5-6 เดือนก่อนเลือกตั้ง จึงจะสามารถประเมินได้

“ยืนยันว่า พรรคไม่ถอดใจ นายทุนก็ไม่มีใครถอดใจ สู้ต่อ” วัฒนากล่าว

พรรคใหญ่สบาย-พรรคเล็กหนีตาย

ฟากพรรครัฐบาล การเมืองภาพใหญ่ต้องปล่อยให้ “ซีน” 3 ป. “พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ-พล.อ.อนุพงษ์ 
เผ่าจินดา” ปล่อยภาพความรักหวานชื่น
สยบรอยร้าว ที่สะเทือนไปถึงพรรคพลังประชารัฐ

แต่สิ่งที่กำหนดความเป็นไปในอนาคต วัดดวงที่เลือกตั้ง คือ “กติกา” ในกฎหมายลูก โดยเฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคแกนนำรัฐบาลทั้งหลาย ตกลงสูตรคำนวณคะแนนเลือกตั้งปาร์ตี้ลิสต์กันลงตัว ใช้สูตรแบบเดียวกับการเลือกตั้งปี 2554 ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ซึ่งเป็นกติกาที่นักเลือกตั้งขาประจำ “คุ้นเคย” และพรรคเพื่อไทย ขาใหญ่ฝ่ายค้านก็เห็นชอบ โดยเตรียมชงร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาก่อนสิ้นปี

แต่พรรคที่หนีเอาตัวรอด คือบรรดาพรรคเล็ก 5 เสียงลงไปถึงหนึ่งเสียง ที่ได้รับผลกระทบอาจสูญพันธุ์ไปโดยปริยายกำลังเล่นบทต่อรองพรรคใหญ่-พรรคกลาง ขอใช้ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” MMP โดยมีพรรคก้าวไกลให้การสนับสนุน จะไปชุลมุนการแปรญัตติกฎหมายลูกต้นปี 2565

พรรคเล็กบางส่วนเตรียมหนีตายด้วยการใช้ “ไพบูลย์โมเดล” ยกเลิกพรรคตัวเองแล้วไปอยู่ใต้ชายคาพรรคพลังประชารัฐ เตรียมขยับอีกไม่นาน

รุมกินโต๊ะพรรคเล็ก

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเป็นสมาชิกพรรคเสรีรวมไทย วิเคราะห์ว่า ระบบบัตรสองใบไม่ได้แปลว่าพรรคใหญ่ได้เปรียบอย่างเดียว แต่สร้างโอกาสให้กับพรรคเล็กได้ด้วย เพราะในระบบบัตรใบเดียวในอดีต ต้องส่ง ส.ส.เขต ถ้าไม่ส่งก็จะไม่มีบัตรในเขตนั้น และคะแนนบัญชีรายชื่อ (ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์) ไม่ได้ด้วย

พอเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพียงส่ง ส.ส.เพียงเขตเดียวก็จะมีบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 400 เขต ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมีคะแนนทุกเขตเลือกตั้งได้ ถ้าประชาชนให้การยอมรับ

แต่พรรคใหญ่มีความได้เปรียบมากกว่าคือ สามารถสร้างกระแสในภาพรวมได้ดีกว่า กว้างขวางกว่าพรรคเล็ก แต่ไม่ได้สร้างความได้เปรียบ-เสียเปรียบมากมาย

หลังจากเป็นบัตรสองใบ ระบบการนับคะแนนที่จะมาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นอย่างไร สิ่งนี้มีความหมาย ถ้าเป็นการคำนวณแบบคู่ขนาน นำบัตรบัญชีรายชื่อทั้งหมดมาคิดเป็นสัดส่วน 100 คน ทำให้ค่าเฉลี่ยการมี ส.ส. 1 คน ต้องได้ 3.5 แสน-3.8 แสนคะแนน ซึ่งพรรคใหญ่มีโอกาสได้คะแนนถึงเกณฑ์ ส่วนพรรคเล็กจะได้คะแนนถึง 3 แสนคะแนน เป็นไปได้ยาก

ส่วนการปัดเศษที่เหลือจาก 3.5-3.8 แสนคะแนน จะนำมาดูว่ามี ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือจากการคำนวณเต็มในรอบแรกแล้วกี่คน ถ้าคำนวณแล้วเหลือ 10 คน ก็จะเรียงจากเศษจำนวนมากที่สุดลงไปทีละพรรค จำนวนเศษก็ต้องมี 3 แสนคะแนน คงไม่มี 3-4 หมื่น เหมือนในอดีตได้

การคำนวณแบบนี้ พรรคเล็ก พรรคกลาง เสียเปรียบ และเมื่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลงเหลือแค่ 100 คน และระบบไม่ได้สนใจ ส.ส.พึงมี ผลที่เกิดขึ้น พรรคใหญ่จะได้คะแนน 2 ทาง กินได้ทั้งเขต และบัญชีรายชื่อ ต่างจากการเลือกตั้ง 2562 ที่พรรคใหญ่ได้ ส.ส.เขตมากแล้ว ไม่มีสิทธิมากิน

“เค้กที่เป็นก้อน 100 คน ทุกพรรคมีสิทธิมากินหมด ไม่ว่าพรรคใหญ่ พรรคเล็ก และพรรคใหญ่จะกินไปจำนวณมากประมาณการว่า 2 พรรคใหญ่กินไปครึ่งหนึ่งของก้อนคือ 50 คน ที่เหลือกระจายมาพรรคกลางและพรรคเล็ก ทำให้ ส.ส.ได้น้อยลง ส่วนพรรคจิ๋วเสียงเดียวไม่มี ส.ส.เลย”

พรรคใหม่มีโอกาส

พรรคเกิดใหม่ เช่น ไทยสร้างไทย-พรรคของกลุ่ม 4 กุมาร มีโอกาสหรือไม่ ในกติกาเลือกตั้งบัตรสองใบ “สมชัย” กล่าวว่า จะเป็นเรื่องพิสูจน์ความสามารถว่าจะสามารถสร้างการยอมรับ และเป็นทางเลือกของประชาชนได้ดีเพียงไร ทั้งแง่นโยบายผู้นำพรรค และบุคคลผู้สมัคร

ไม่คิดว่าพรรคใหม่เสียเปรียบ ถ้าหากสร้างกระแสความนิยมเป็นทางเลือกใหม่ ๆ หากมีตัวเลือกที่ดี ผู้นำพรรคที่ดี นโยบายที่ดี ก็ทำให้ประชาชนเลือกพรรคใหม่ได้ ตัวอย่าง พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ ใช้เวลาสร้างไม่เท่าไหร่ แต่สามารถเอาชนะพรรคเก่าแก่ได้ ถ้าเข้าถึงใจของประชาชนได้

โอกาสพรรคใหม่มี แต่โอกาสพรรคจิ๋ว 1 เสียง ไม่มี เพราะพิสูจน์มาแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์

นักการเมืองนัดเจรจาหลังม่านกันฝุ่นตลบ รอลุ้นเสียงปี่กลองยุบสภา