สภาล่ม 2 ครั้งซ้อน ฝ่ายค้านเสี้ยม รัฐบาลขัดคอกันเอง อยู่ได้ไม่นาน

สภาผู้ทรงเกียรติล่ม 2 ครั้งในสัปดาห์เดียว ทั้ง ๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

2 ป. ผู้กุมอำนาจ กำชับทั้งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ชุมนุมบรรดาหัวหน้าพรรคการเมือง และ ในพรรคพลังประชารัฐ แกนนำฟากรัฐบาล อย่าให้องค์ประชุมล่ม

แต่คำสั่งของผู้มีอำนาจ ประหนึ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไร้ผลในการบังคับ ทำให้องค์ประชุมล่ม 2 ครั้งในสัปดาห์เดียว

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. … ที่มี นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นผู้เสนอ โดยมี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม

ในวันนั้น มีการขอมติจากที่ประชุมให้คณะรัฐมนตรีนำกลับไปพิจารณาภายใน 60 วัน หรือไม่ พร้อมกับกดออดเรียกสมาชิกแสดงตน โดยนายสุชาติกดออดเรียกสมาชิกอยู่ราว 2-3 นาที แต่ห้องประชุมยังมี ส.ส.บางตา

นายสุชาติจึงกล่าวว่า ถ้าสมาชิกพร้อมแล้วให้กดบัตรแสดงตน ก่อนถามว่า “แสดงตนครบทุกท่านหรือไม่” จากนั้นได้ทิ้งระยะเวลารออยู่ 2 นาที

จู่ ๆ นายสุชาติ “ไม่ครบอีกแล้วหรือครับ เลิกประชุมครับ” โดยยังไม่ได้มีการขานคะแนนว่ามีองค์ประชุมทั้งหมดกี่คน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ตะโกนขึ้นว่า ท่านประธาน ทำไมเลิกประชุมไวจัง

แม้วันนั้นจะยังไม่ใช่ “สภาล่ม” อย่างเป็นทางการ แต่เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ประธานชิงปิดประชุม อาจถือได้ว่าสภาล่มโดย “พฤตินัย”

กับครั้งล่าสุดวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เวลา 10.40 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ภายหลังให้สมาชิกหารือเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่แล้ว ทันทีที่เข้าสู่ระเบียบวาระ นายศุภชัยได้ขอมติเรื่อง รายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.

ซึ่งรายงานดังกล่าว คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว เนื่องจากมีสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันนี้จึงเป็นการลงมติ แต่เมื่อประธานกดออดเรียกประชุมนานกว่า 8 นาที ยังมี ส.ส.ในห้องประชุมบางตา

ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต่างใช้แท็กติกขึ้นพูดในห้องประชุม โดยขอให้ประธานรอ ส.ส.ที่อยู่นอกห้องสภาได้กลับเข้ามาแสดงตัว แต่เมื่อ ส.ส.ยังมาน้อย นายศุภชัยได้สั่งพักการประชุม 30 นาที

ต่อมาเวลา 11.25 น. การประชุมสภา กลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง โดยมี นายศุภชัยได้กดออดเรียกสมาชิกให้เข้าประชุม ขณะที่น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นเสนอให้เช็กองค์ประชุมแบบขานชื่อ

ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย สนับสนุน พร้อมกล่าวว่า การรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล

ทำให้ น.ส.รังสิมาลุกขึ้นอีกครั้งพร้อมกล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจที่นายจุลพันธ์เห็นว่าองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของ ส.ส.รัฐบาลเท่านั้น ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะความจริงการรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคน ทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม เวลา 11.39 น. นายศุภชัยได้ให้สมาชิกเสียบบัตรแสดงตน แต่ผ่านไป 11 นาที สมาชิกในห้องประชุมยังคงบางตา นายศุภชัยจึงแจ้งผลการนับองค์ประชุมว่ามีเพียง 233 คน จากสมาชิกทั้งหมด 476 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบ จึงสั่งปิดประชุมในเวลา 11.50 น.

ขณะที่ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ งัดตัวเลขการผู้แสดงตัว-ไม่แสดงตัวมาเป็นองค์ประชุมมาเปิดเผย โดยเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีทั้งหมด 268 เสียง มาแสดงตัวทั้งหมด 219 คน ไม่แสดงตัว 49 คน คิดเป็น ร้อยละ 81.72 เสียงของฝ่ายค้าน มีทั้งหมด 208 เสียง แสดงตัว 14 คน ไม่แสดงตัว 194 คน แสดงตัวคิดเป็นร้อยละ 6.73

ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส. 117 คน มาแสดงตน 98 คน ไม่แสดงตน 19 คน คิดเป็นร้อยละ 83.76 พรรคเพื่อไทย มี ส.ส. 131 คน แสดงตน 5 คน ไม่แสดงตน 126 คน แสดงตนร้อยละ 3.82 พรรคก้าวไกล มี ส.ส. 52 คน แสดงตน 6 คน ไม่แสดงตน 46 คน แสดงตนร้อยละ 11.54 อยากฟ้องเรื่องนี้ต่อประชาชน และอยากให้จ่ายเงินเดือนตามสัดส่วนที่มาแสดงตัว

ไพบูลย์บอกว่า ฝ่ายค้านกำลัง “ฆ่าตัวตายทางการเมือง” เพราะหากจะกดดันฝ่ายรัฐบาลยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยุบอยู่แล้ว และเหตุที่ทำให้สภาล่มก็เป็นแค่ญัตติ ไม่ใช่กฎหมายสำคัญ ๆ อย่าง กฎหมายสำคัญที่คณะรัฐมนตรีเสนอ กฎหมายงบประมาณ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. 49 คน มาแสดงตัว 40 คน คิดเป็น ร้อยละ 81.63 อย่างไรก็ตาม ญัตติรายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งเป็นญัตติที่เกือบทุกพรรคในสภาเสนอ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ

“ถ้าฝ่ายค้านจะวอล์กเอาต์ หรือไม่แสดงตน ควรทำในกรณีที่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลเสนอกฎหมายที่ไม่เคารพเสียงข้างน้อย ไม่ใช่เรื่องที่ร่วมกันเป็นกรรมาธิการเห็นด้วยกันมา แล้วมาไม่แสดงตนให้สภาล่ม”

ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน แถลงว่า วันนี้เหตุเกิดโดยที่เราก็เห็นความผิดปกติในการไม่มาประชุม หากลองไปตรวจสอบว่าพรรครัฐบาลจำนวนมากที่ไม่เข้าร่วมประชุมเป็นใคร ก็จะทราบว่าอะไรเกิดขึ้น ฉะนั้น ไม่ใช่ฝ่ายค้านจะเล่นเกมไม่ให้ประชุม ฝ่ายค้านคือตัวนั่งประชุม แต่ทางการเมืองนั้นเราไม่อยากให้รัฐบาลเอาเปรียบเราตลอดเวลา

ก่อนการลงมติดังกล่าว พรรคฝ่ายค้านต่างจับตาอย่างใกล้ชิดว่าสภาจะล่มหรือไม่ โดยแกนนำฝ่ายค้านรายหนึ่งบอกก่อนการลงมติว่า มี ส.ส.รัฐบาลมาลงชื่อเข้าประชุมไม่ถึง 100 คน