
ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก “วัฒนา เมืองสุข” 99 ปี คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ
วันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ศาลฎีกาแผนกอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ นัดพิพากษาอุทธรณ์คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.อธ. 1/2565 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงว่าการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพวกรวม 14 ราย
เป็นจำเลยในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11
ต่อมาองค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษาเเก้โทษริบทรัพย์นายวัฒนา จำเลยที่ 1,4,5,6,7,8 เเละ10 ร่วมชดชดใช้เงิน 89 ล้าน ในส่วนอาญาอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืนจำคุก 99 ปี
“บ้านเอื้ออาทร” มหากาพย์ 16 ปี คดีทุจริตยุคทักษิณ
คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หนึ่งในโครงการประชาชนนิยมเป็นคดีมหากาพย์ทุจริตในรัฐบาลยุค “ทักษิณ ชินวัตร” ที่จัดทำขึ้น สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ด้วยความเชื่อว่า “บ้าน” คือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญ ถ้าทุกคนมีที่อยู่อาศัย
แต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นในรัฐบาลทักษิณ หนึ่งในนั้นคือ โครงการบ้านเอื้ออาทร
เมื่อ คตส.ทำงานจนครบวาระ ได้ส่งไม้ต่อการตรวจสอบทั้งหมดไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการสอบสวนต่อ
จากนั้น ปี 2560 ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมจำเลยคนอื่น ๆ อีก 14 คน กรณีทุจริตเรียกรับสินบนจากบริษัท พาสทิญ่า จำกัด ผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร ผ่านบริษัทและลูกจ้างบริษัท เพรซิเด้นท์เทรดดิ้ง จำกัด จำนวนเงิน 82.6 ล้านบาท
รายชื่อจำเลย 14 คน
-
- นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
- นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติและอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548 – 19 ก.ย. 2549
- นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย
- นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่
- น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร
- น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด
- น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด
- บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน
- บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน
- นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย
- บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด
- บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย
- บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง
- น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ
ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148,
เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157
เป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91
“วัฒนา เมืองสุข” คุก 99 ปี
จากนั้น (24 ก.ย. 2563) ศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก นายวัฒนา เมืองสุข ในฐานะผู้กำกับดูแลพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำเลยที่ 1 ตามความผิดตามมาตรา 148 จำนวน ของประมวลกฎหมายอาญา 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี
ส่วนนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือจำเลยที่ 4 มีความผิด 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปีจำคุกจริง 50 ปี
นอกกจากนี้ ยังจำคุก จำเลยที่ 5 น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง เป็นเวลา 20 ปี, จำเลยที่ 6 น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว เป็นเวลา 44 ปี, จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 32 ปี ,จำเลยที่ 8 ปรับ 2 แสนกว่าบาท, และจำเลยที่ 10 นายอริสมันต์ เป็นเวลา 4 ปี
ส่วนจำเลยที่ 2 นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จำเลยที่ 3 นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บมจ. ปริญสิริ (PRIN), จำเลยที่ 9 บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด, จำเลยที่ 11-14 บริษัท พาสทิญาไทย จำกัด, บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พรินชิพเทค ไทย จำกัด และ น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มี อำนาจทำการแทน ศาลมีคำสั่งยกฟ้องฯ
ทั้งนี้ คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังมีคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว คดียังไม่ถึงที่สุด คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีกครั้งเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สิทธิคู่ความในการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน
ขอประกันตัว-ยื่นอุทธรณ์ต่อ
จากนั้น นายวัฒนา ได้ยื่นประกันตัวตามสิทธิ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สิทธิคู่ความในการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว วางหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต
ส่วนเหตุที่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนั้น เนื่องจากเห็นว่าตัวเองไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีคดี ประกอบกับในการต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์นั้นจะเป็นผู้ว่าความเอง ซึ่งต้องจัดเตรียมคดีและเอกสารหลักฐานที่อยู่ในไฟล์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนหลายหมื่นหน้าด้วยตัวเอง ศาลจึงพิจารณาเห็นควรให้ประกันตัว เพื่อได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คดี