ยุบสภา “วิษณุ” ยันไม่รู้เรื่อง ไม่มีไทม์ไลน์ ส.ส. ย้ายพรรค ไม่ต้องรอครบวาระ

FILE PHOTO : ROYAL THAI GOVERNMENT /

‘วิษณุ’ ยันไม่รู้เรื่องยุบสภา ไม่มีไทม์ไลน์ บอก ส.ส.จะย้ายก็ย้าย ไม่ต้องรอให้ครบวาระ แต่ต่อให้รัฐบาลอยู่ครบวาระ ส.ส.ก็ยังย้ายค่ายทัน

วันที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาแสดงความเห็นยุบสภาปลายปี หลังการประชุมเอเปค ว่า ขอให้ช่วยถาม พล.อ.ประวิตร ตนไม่ทราบ ว่าจะถาม พล.อ.ประวิตรเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ถาม และการยุบสภาไม่มีไทม์ไลน์ ยุบเมื่อไหร่ก็ยุบได้ ทั้งนี้ หากมีการยุบสภาจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งระหว่าง 45-60 วัน แต่หากรัฐบาลอยู่จนครบวาระต้องจัดการเลือกตั้ง เข้าใจว่า 30 วัน

เมื่อถามว่าการยุบสภา หรือปล่อยให้ครบวาระจะส่งผลต่อการย้ายพรรคของ ส.ส.เพื่อเตรียมการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็อย่ารอจนครบวาระ ถ้าจะย้ายอย่ารอจนกระทั่งครบวาระ คุณจะย้ายอะไร สภามันหมดปุ๊บคุณก็จัดการย้ายของคุณไปก่อนสิ จะไปลังเลอะไรกัน มันก็ทัน

เมื่อถามย้ำว่าต่อให้สภาอยู่จนครบวาระ ส.ส.ก็ยังย้ายพรรคกันทันใช่หรือไม่ นายวิษณุพยักหน้า พร้อมกล่าวว่า ใช่

จากนั้นให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาระบุมีขบวนจ้องคว่ำกฎหมายลูกเพื่อให้เกิดเดดล็อกการเมือง นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ว่า ไม่ทราบ

เมื่อถามว่า หากมีการคว่ำกฎหมายลูกขึ้นมาจะเกิดเดดล็อกทางการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เป็น แต่จะเป็นตรงที่ทำให้ไม่มีกฎหมายลูก ถ้าจำเป็นต้องเลือกตั้งจะใช้กติกาอะไร อย่างไร แต่ที่พูดกันว่าจะได้กลับไปใช้บัตรใบเดียวนั้น เป็นไปไม่ได้ เว้นแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า แสดงว่ามีทางเป็นไปได้ใช่หรือไม่ที่จะมีการคว่ำกฎหมายลูก แล้วไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ว่าอะไร วันนี้ก็แก้ได้ ไม่ต้องให้คว่ำก็แก้ได้ ข้อสำคัญคือ มันใช้เวลา เมื่อถามว่า หากกฎหมายลูกถูกคว่ำแล้วจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก.จะยุ่งยากหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ตอบ เพราะประเด็นจะออกเป็น พ.ร.ก.ได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญอยู่ เพราะโดยปกติมันไม่น่าจะออกได้ คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความไว้แล้วว่าไม่สามารถออก พ.ร.ก.มาทดแทน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้

เมื่อถามว่า ทางเลือกกรณีนี้มีอย่างไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ส่วนใครจะไปยื่นตีความอะไรเรื่องมันยังไม่เกิด

เมื่อถามย้ำว่า จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว แสดงว่าการออก พ.ร.ก.ไม่ใช่ทางเลือกแล้วใช่หรือไม่หากกฎหมายลูกมีปัญหาขึ้นมา นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ เพราะความเห็นที่ว่าเป็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญเหนือกว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นดังกล่าวตีความมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว โดยให้เหตุผลว่าสมัยก่อน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเหมือน พ.ร.บ.ทั่วไป แต่ปัจจุบันวิธีออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแตกต่างจาก พ.ร.บ.ทั่วไป

เช่น พ.ร.บ.ทั่วไปเสนอทีละสภา แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต้องเสนอสองสภา มีกำหนดระยะเวลาที่พิจารณา และยังต้องส่งให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทักท้วงได้ ขั้นตอนเหล่านี้ไม่มีในการออก พ.ร.บ.ทั่วไป คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเคยวินิจฉัยไว้ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีสถานะสูงกว่า พ.ร.บ.ทั่วไป ส่วน พ.ร.ก.ให้ออกแทน พ.ร.บ.ทั่วไป ตนจึงไม่รู้มาพูดเรื่องการคว่ำกฎหมายลูกทำไม เข้าใจว่าเป็นการโยนหินถามทาง

เมื่อถามว่า ถ้ามีการคว่ำกฎหมายลูกขึ้นมา ทางออกจะไปทางไหนได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เคยสมมุติ และไม่ควรไปรับลูกสมมุติอะไร ขอให้ไปถามคนที่สมมุติ

เมื่อถามย้ำว่า การที่โยนหินถามทาง แสดงว่ามีคนอยากกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว นายวิษณุ กล่าวว่า เรารู้กัน ใครเป็นผู้โยนหินถามทาง คนที่พูดนั่นแหละ