คำตอบ 5 แคนดิเดต สิ่งแรกที่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะทำอะไร

ชัชชาติ – สุชัชวีร์ – รสนา – วิโรจน์ – สกลธี ขึ้นเวทีประชันกึ๋น หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.จะทำอะไรเป็นอย่างแรก

วันที่ 23 มีนาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ร่วมจัดเวทีเสวนา เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แก้ปัญหาคนกรุง เวทีแรก : กทม.ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว โดยมีว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมเวที ประกอบด้วย

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล นายสกลธี ภัทธิยกุล ผู้สมัครอิสระ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

หลักบริหาร 3 ข้อ สุชัชวีร์

โดยนายสุชชีร์ กล่าวว่า การที่จะดูแลเมืองขนาดใหญ่ มีคนอาศัยมากกว่า 10 ล้านคนไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้นำต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ ซึ่งวิสัยทัศน์ของตน กทม.ต้องเป็นเมืองสวัสดิการ ไม่ว่ายากดีมีจนต้องอยู่ในเมืองนี้อย่างเท่าเทียม และมีคุณภาพ ไม่ใช่การศึกษาฟรี สาธารณสุขฟรี แต่ไม่มีคุณภาพ

ปัญหาการเดินทางและการเชื่อมต่อ ต้องรู้ก่อนว่าการวางแผนผิดตั้งแต่ต้น พื้นที่ กทม. การใช้รถบนทางด่วน มากกว่าคนใช้รถเมล์ ทั้งนี้ กทม.เป็นเมืองรถ ครั้นจะเปลี่ยน กทม.ใช้รถทันที เป็นไปไม่ได้ และถนนมีไม่ถึง 7% ไม่เหมือนโตเกียว หรือปารีสมีถนน 20% และกว้าง

ส่วนการสร้างรถไฟฟ้าสนับสนุนเต็มที่ แต่อยากจะทวงพื้นผิวจราจรที่หายไปจากการก่อสร้างกลับมาบ้าง โดยขอเพิ่ม 1 เลน ชีวิตเปลี่ยนทันที

ค่าการเดินทางใน กทม.แพง เริ่มจากรถเมล์ก็แพง รถเมล์ขึ้นทางด่วน 27 บาท แต่รถทั้งหมดไม่มีรถเมล์ไฟฟ้า เป็นดีเซลทั้งต้นทุนน้ำมันต่อกิโลเมตร 15 บาท แต่วันนี้รถไฟฟ้ากิโลเมตรละ 3 บาท ถูกกว่ารถดีเซล 10 เท่า และรถเมล์วิ่งยาวมาก ถ้าตนเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องให้รถเมล์วิ่งสั้นๆ คนจะได้ไม่ต้องรอ ค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวไม่เกิน 12 บาท

เช่นเดียวกับรถไฟฟ้า สิ่งหนึ่งที่คนจ่ายคือค่าบริการดำเนินการ เช่น เราสามารถเก็บค่ารถไฟฟ้า 20-25 บาท ได้ตลอดเส้นทาง คนเพิ่มขึ้น จาก 8 แสนคน ขึ้นเป็น 1 ล้านคนทันที 1 ปีจะมี 7 พันกว่าล้านบาท สามารถจ้างบริษัทเดินรถได้อย่างมีคุณภาพได้ ไป-กลับ 20% ของรายได้ขั้นต่ำ ปัญหาน้ำท่วม ถ้าเรายังทำอยู่แบบเดิมก็แค่ประทังชีวิต ประเทศอื่นๆ เขาทำระบบแก้มลิงใต้ดินกันหมดแล้ว

จากการลงพื้นที่ครบ 50 เขต ปัญหา กทม.หนักกว่าที่คิด มีความซับซ้อนของแต่ละเขต ดังนั้น การบริหารเมืองขนาดใหญ่ คิดเล็ก คิดหยาบฉาบฉวยไม่ได้ ต้องดักทางอนาคตว่าทำอย่างไรให้บรรลุตรงนั้น เป้าหมายของตนคือ เปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็นเมืองสวัสดิการ เป็นต้นแบบของอาเซียน

เวลาที่เรามีอยู่ 4 ปี การไปเมาหมัดหลาย ๆ อย่าง ทำทุกอย่างไม่ได้ ดังนั้น 1.ต้องบริหารด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง 2.บริหารด้วยเป้าหมาย นอกจากนี้ ในแต่ละเขต 50 เขต ต้องมีเป้าหมาย ผู้อำนวยการเขตต้องวิ่งสุดขีดในการบริการประชาชน ถ้าไม่ได้เป้าหมายเจอตนแน่

3.ข้อโชคดีของผู้ว่าฯ กทม.คนนี้คือ ใช้เทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วที่ทำได้ ยื่นเอกสารอะไรไปแล้วสามารถดูได้เลยว่าอยู่ตรงไหน จะได้เห็นไฟจราจรโดยใช้เอไอ ระบบการสูบน้ำที่ใช้คนมาไขกุญแจ เรานำเทคโนโลยีมาใช้ได้

ทวงคืนเมืองหลวงให้คน กทม.

ด้านนายวิโรจน์กล่าวว่า คนที่แบกรับปัญหาใน กทม.มากที่สุดคือ คนจนเมืองที่เดินเท้า เดินถนน ถ้าเราไม่แตะต้นตอปัญหาที่แท้จริง ให้ค่ากับคนไม่เท่ากัน คิดแต่การบริหารอย่างเดียวท่ามกลางการบริหารที่เหลี่อมล้ำให้กับอภิสิทธิ์ชนและนายทุน สุดท้ายประชาชนก็เสพเนื้อข้างเขียงเท่านั้น

รถเมล์ถูกทอดทิ้งมา 30 ปี กลายเป็นคนจน บ่าวไพร่เป็นที่ใช้บริการ กลายเป็นคนยากจนในกรุงเทพฯได้อย่างไร เป้าหมายการบริการรถเมล์ผิด เพราะต้องการกำไร ถ้าขาดทุนสุดท้ายคุณภาพรถเมล์ก็ห่วยลงเรื่อยๆ เส้นทางการเดินรถที่ดี จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจตามตึกแถว เพราะปัจจุบันร้านรวงไปกระจุกตัวอยู่ในปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้าที่มีที่จอดรถ

แต่ กทม.สามารถขออนุญาตกับกรมการขนส่งทางบก ขอเส้นทางที่เชื่อมไปยังรถไฟฟ้าได้ หรือเส้นทางไหนที่มีรถวิ่งอยู่แล้วแต่เราต้องการอุดหนุน สามารถทำตั๋วอุดหนุน 70 บาท แต่ใช้บริการได้ 100 บาทก็ได้ ทำให้รถเมล์เป็นที่พึ่งของคนทุกคน

เรื่องน้ำท่วม เราเจอปัญหาได้แต่ลอกท่อ หรือกำลังเจอปัญหาการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง มีปัญหาติดสินบน ตรวจรับงานไม่มีคุณภาพ สุดท้ายกลายเป็นเปิดท่อตักขี้เลนหรือเปล่า ลอกคลองลึกตามสเป็กหรือไม่ เราต้องลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุงให้ได้ แต่ กทม.เอางบฯไปเป็นงบฯปรับปรุงทัศนียภาพที่ไม่เกิดประโยชน์

สนามหลวง เคยเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่าพื้นที่ราชพัสดุมาเป็นสวนสาธารณะได้หรือไม่ พื้นที่ของนายทุนที่ปลูกกล้วยเพื่อเลี่ยงภาษี ให้ กทม.ทำพื้นที่สวนสาธารณะได้หรือไม่

นายวิโรจน์กล่าวว่า ปัญหา กทม.เมื่อ 10 ปีก่อน กับปัจจุบันไม่ต่างกัน แล้วทำไมแก้ไม่ได้ คน กทม.รู้วิธีแก้ปัญหา มีภาคีเครือข่ายร่วมกันแก้ แต่แก้ไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่สาวไปถึงปัญหาเจอระบบอุปถัมภ์ นายทุน ผู้รับเหมา ถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ปัญหาของคนกรุงเทพฯก็จะได้รับการเหลียวแลไม่เท่ากัน แล้วเมืองนี้จะเป็นความฝันของทุกคนได้อย่างไร

ทำไมทางเท้าหน้าวัดพระแก้ว หน้าห้างสรรพสินค้าเรียบได้ ทำไมรถเก็บขยะไปสแตนด์บายที่ห้างสรรพสินค้า โรงแรมหรู ใจกลาง กทม.ได้ทุกวัน ทั้งที่เสียค่าเก็บขยะแค่ 11 ล้านบาท ปีต่อปี ต้องคืนอำนาจให้คน กทม. ยังยืนยันว่า สิ่งแรกที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. ใน 1 ชั่วโมงจะเปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ลึกลับดำมืด

กทม.อยู่ในภาวะไม่ปกติ มีสารตกค้างจากคณะรัฐประหาร ผู้ว่าฯ กทม.ต้องยอมสยบยอมกับอำนาจ ไม่ต้องคำนึงถึงเสียงของคน กทม.แล้วหรือ นี่คือเวลาที่สำคัญในการคืนเมืองที่คนเท่ากัน ตนเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯคนเดียวของพรรคฝ่ายค้าน ที่มีเจตจำนงคืนอำนาจ คืนเมืองที่คนเท่ากัน ผู้ว่าฯต้องไม่เป็นกลาง ต้องพร้อมคืนอำนาจ คืนเมืองให้ประชาชน

สกลธี ใช้เทคโนโลยี – กทม.หาเงินเอง

นายสกลธีกล่าวว่า กรุงเทพฯดีกว่านี้ได้ เอาการบริหารจัดการที่ดี ปัญหาการจราจรซึ่งเป็นปัญหาโลกแตก อำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ต้องอาศัยจากหลายหน่วยงาน ไม่ได้ทำได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด หน้าที่ของ กทม.ทำได้แค่ขีดสีเส้นจราจร เลขนับถอยหลังไฟแดง ดังนั้น เราต้องเอาระบบเอไอมาใช้

ทำระบบเชื่อมต่อสายรอง มายังสายหลัก จุดไหนที่รถเมล์ ขสมก.วิ่งก็จะไม่ทำแข่ง แต่ถ้าจุดไหนรถเมล์ ขสมก.ไม่วิ่ง กทม.ก็สามารถเข้าไปทำรถเมล์ไฟฟ้าอีวีได้ ส่วนคลองใช้เรือไฟฟ้าเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ส่วนระบบราง เช่น ถนนประดิษฐ์มนูธรรม เช่น วัชรพล ไปเอกมัย ก็มีแผนทำรถไฟฟ้า

ส่วนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้องปรับปรุงสวนสาธารณะ ให้มีล็อกเกอร์ให้ดี ๆ หรือสวนน้ำบึงหนองบอน ทำไมไม่ทำเป็นสวนกีฬาทางน้ำใน กทม. สวนสาธารณะไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เยอะ แต่ทำพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ได้ทุกเขต เหมือนเช่น ญี่ปุ่น เป็นสวนใกล้บ้านในแต่ละเขต

กรุงเทพฯ ปัญหามีความท้าทายมาก ออกมาจากบ้านก็เจอปัญหา ความคาดหวังของคน กทม.มหาศาล แต่อำนาจบางอย่างเป็นของ ผู้ว่าฯ กทม. บางอำนาจเป็นของหน่วยงานอื่น ดังนั้น วันแรกถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะบริหารจัดการใหม่ เอาเทคโนโลยีเข้ามา ขณะเดียวกัน ขึ้นอยู่กับสไตล์การทำงานของผู้ว่าฯ บางคนเน้นทำโครงการใหญ่ ทำให้งบประมาณต่อเขตมีน้อย เช่น บางเขตมีงบฯปรับปรุงถนนแค่ 2 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น จุดบริหารของผู้ว่าฯ คือเอาเงินไปทำอะไร

กทม.ยุคใหม่ต้องหาเงินของตัวเอง มีสินทรัพย์เอาไว้ทำสวน หรือให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ อยู่ในข้อกำหนดของ กทม. ก่อนหน้านี้ กทม.ไม่คิดหาเงินเพิ่มนอกจากที่รัฐบาลอุดหนุน ดังนั้น ถ้ามีผู้ว่าฯ คนใหม่จะต้องหาเงินเพิ่มด้วย

สร้างงานขุดคลอง – ผุดผู้ตรวจผู้ว่าฯ

น.ส.รสนากล่าวว่า การที่เราทำการก่อสร้างทั้งหลายใน กทม. เราไม่ได้รู้จักภูมินิเวศ กทม. ไม่ได้รู้ว่า กทม.เป็นเมืองน้ำ บรรพบุรุษจึงขุดคูคลองไว้เยอะมาก แต่เราสร้างเมืองเหมือนกับฮ่องกง สร้างเมืองเป็นตึกสูง และถนน ไม่ได้คิดถึงการสัญจรทางน้ำ แต่เราทิ้งคูคลอง

แต่ในคลองเล็ก คลองน้อย เราไม่เคยสนใจในการขุดลอก ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่นำน้ำไปที่หัวใจ คือแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าเส้นเลือดอุดตันก็ทำให้หัวใจวายได้ นอกจากนี้ เรื่องพื้นที่สีเขียวเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ เป็น city in a garden วิสัยทัศน์ของผู้นำเรา เห็นเสือเราจะฆ่า เห็นป่าเราจะฟัน จึงเหลือแต่คอนกรีต

ดังนั้น จะทำให้คน กทม.มีงานทำในการขุดลอกคูคลอง ส่วนพื้นที่สีเขียว คนที่มีที่ดินที่เอาไว้ปลูกกล้วย ก็ให้มาจับมือกับ กทม. เพื่อลดภาษี แล้วใช้พื้นที่นั้นปลูกผักอินทรีย์ มีอาหารในชุมชน ส่งเสริมให้มีการติด solar roof เพราะค่าไฟแพง ลดการใช้น้ำมันฟอสซิลลง นอกจากนี้จะไม่ยอมให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มาเปลี่ยนผังเมือง กทม. ถ้ามีโอกาสเป็นผู้ว่า กทม. คิดว่าทุกเรื่องทำพร้อมกันได้ แต่สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ทำงานแบบ top down แต่จะทำงานแบบ bottom up

และถ้าเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีผู้ตรวจสอบอิสระ ตรวจสอบการใช้งบประมาณของผู้ว่าฯ สิ่งเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบผู้ว่าฯ กทม.ได้ด้วย

ชัชชาติ ดูแลเส้นเลือดฝอย

นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องทำให้กรุงเทพฯน่าอยู่สำหรับทุกๆ คน ปัญหาเส้นเลือดใหญ่ กับเส้นเลือดฝอย ที่ผ่านมา กทม.ลงทุนกับระบบเส้นเลือดใหญ่ หรือโครงสร้างพื้นฐาน แต่เราลืมเส้นเลือดฝอย ชุมชนชายขอบ ดังนั้น ต้องทำบาลานซ์ทั้งเส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดฝอยให้ดี เช่น ตนลงพื้นที่เขตสายไหม อยู่ไม่ไกลจากบีทีเอส แต่ไม่มีรถเชื่อมมายังรถไฟฟ้า

กทม.ต้องดูแลเส้นเลือดฝอย รถเมล์ไม่ใช่ตามใจฉัน ฟุตปาทก็ต้องทำให้ดี หรือเส้นเลือดใหญ่เรื่องน้ำมีอุโมงค์ระบายน้ำ แต่คูคลองเส้นเลือดฝอยอุดตัน น้ำก็ไปไม่ถึง ส่วนเพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้องปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง และปลูกต้นไม้ในใจคนด้วย กำหนดให้วันอาทิตย์ไปปลูกต้นไม้ ให้เป็น culture นอกจากนี้ยังชอบพื้นที่สีเขียวในถนนประชาชื่นเลียบคลองประปา ซึ่งเราทำเช่นนั้นได้

“ผู้ว่าฯ กทม.เหมือนถูกเลือกให้มาปีนเขาเอเวอเรสต์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วิสัยทัศน์เรามีเป้าหมาย 9 เรื่องที่แตะทุกคน นโยบายของ กทม.ไม่ได้ขับเคลื่อนได้นโยบาย 4-5 ข้อ แต่เรามี 200 นโยบาย ซึ่งเราเขียนแผน 200 นโยบายทำให้เกิดการขับเคลื่อน เช่น ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น อาทิตย์แรกที่เข้าไป ต้องชี้เป้าว่าปลูกที่ไหน เราเตรียมโปรโตไทป์ เรื่องเน็ต เอามาใช้โดยไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้าง โครงการที่เขียนไว้สามารถเริ่มทำได้เลย” นายชัชชาติกล่าว

เปลี่ยนความคิดข้าราชการ กทม.

นายชัชชาติกล่าวว่า ถ้าตนเป็นผู้ว่าฯ กทม. วันแรกต้องเอา ข้าราชการ กทม. 8 หมื่นคนมาเป็นแนวร่วม ทำอย่างไรให้มีส่วนร่วม จากปกติที่ข้าราชการหันหน้าเข้าเสาชิงช้า รอผู้ว่าฯจะสั่งอะไร จากนี้ต้องหันหลังไปหาประชาชน ให้เข้าใจจิตใจประชาชน เรื่องรีดไถต้องไม่มี ข้าราชการ กทม.โชคดีอยู่แล้วในภาวะเช่นนี้ ต้องปรับ mindset การบริหารจัดการต้องใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม

จะย้าย กทม.ไปบนคลาวด์ จ่ายเงินผ่าน e-Payment ได้ พัฒนาทุกอย่างให้เป็น on cloud เป็นเทคโนโลยีที่ทำได้เลย ตนเป็นอิสระมา 2 ปี ทำให้คนทำงานการเมืองที่ไม่อยากยุ่งการเมืองได้เข้ามารวมพลัง สามารถรวบรวมพลังได้เยอะ ดังนั้น การบริหารงานต้องมี ราชการ เอกชน วิชาการ ประชาชน จากนี้เราต้องใช้ประชาชนมาร่วมสร้างกรุงเทพO