ผ่างบ กทม.ยุคอัศวิน 6 ปี ยอดพุ่ง 4.9 แสนล้าน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่ากทม. และร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง บุตรชาย

ส่องเก๊ะงบฯ กทม. ยุค “อัศวิน ขวัญเมือง” พบ 6 ปี (2560-2565) “งบฯปี-งบฯนอก” รวมแล้วกว่า 4.9 แสนล้าน   

ในที่สุด “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ได้ประกาศลาออก-โบกมือลาศาลาว่าการกทม. เพื่อลงสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

กทม.ในยุคที่มี “พล.ต.อ.อัศวิน” เป็น “พ่อเมือง” นับตั้งแต่ “พล.อ.ประยุทธ์” สวมหมวกหัวหน้าคสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.แต่งตั้งเป็น “ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 16” เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ใช้เงินในงบประมาณ-นอกงบประมาณ 12 ครั้ง วงเงิน 492,602 ล้านบาท ดังนี้

1.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 75,635 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงบประมาณรายจ่ายของ กทม. จำนวน 75,058,404,500 บาท และงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ กทม. จำนวน 577,417,000 บาท

มีงบประมาณรายจ่าย “เพิ่มเติม” ประจำปีงบประมาณ 2560 อีกก้อนจำนวน 2,654 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภารกิจและหรือนโยบายที่ได้รับมอบจากรัฐบาล ในส่วนของบำเหน็จดำรงชีพ บำเหน็จบำนาญ เงินทดแทนครูและลูกจ้างประจำสังกัดกทม. ค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือบุตร เงินช่วยการศึกษาของบุตรข้าราชการครูบำนาญและลูกจ้างประจำสังกัด กทม. จำนวน 1,190,620,000 บาท และเงินสำรองสำหรับจ่ายเป็นเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กทม. จำนวน 1,463,892,000 บาท

2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 79,047 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

  • ด้านการบริหารทั่วไป 25,877 ล้านบาท
  • ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 13,029 ล้านบาท
  • ด้านการโยธาและระบบจราจร 15,934 ล้านบาท
  • ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 5,936 ล้านบาท
  • ด้านการพัฒนาและบริหารสังคม 6,559 ล้านบาท
  • ด้านการสาธารณสุข 6,086 ล้านบาท
  • ด้านการศึกษา 5,077 ล้านบาท

และมีงบฯด้านการพาณิชย์ของ กทม. จำนวน 547 ล้านบาท ได้แก่ งานบริหารการธนานุบาล 352 ล้านบาท งานบริหารการตลาด 190 ล้านบาท และงานบริหารการพัฒนาที่อยู่อาศัย 4.8 ล้านบาท

3.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวน 80,445 ล้านบาท จำแนกตามด้าน

  • ด้านการบริหารทั่วไป 27,737 ล้านบาท
  • ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 12,978 ล้านบาท
  • ด้านการโยธาและระบบจราจร 15,774 ล้านบาท
  • ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 6,281 ล้านบาท
  • ด้านการพัฒนาและบริการสังคม 6,207 ล้านบาท
  • ด้านสาธารณสุข 6,490 ล้านบาท
  • ด้านการศึกษา 4,529 ล้านบาท
  • ด้านการพาณิชย์ของ กทม. 445 ล้านบาท

4.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 83,398 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ด้านการบริหารทั่วไป 25,984 ล้านบาท
  • ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 13,604 ล้านบาท
  • ด้านการโยธาและระบบจราจร 16,301 ล้านบาท
  • ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 9,264 ล้านบาท
  • ด้านการพัฒนาและบริการสังคม 6,255 ล้านบาท
  • ด้านสาธารณสุข 6,910 ล้านบาท
  • ด้านการศึกษา 4,679 ล้านบาท
  • และด้านการพาณิชย์ของกทม. 398 ล้านบาท

และมีงบประมาณรายจ่าย “เพิ่มเติม” ประจำปีงบประมาณ ปี 2563 อีก 2 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1 จำนวน 140 ล้านบาท เป็น “รายจ่ายพิเศษ” จ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม. คือ แผนงานจัดการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ค.คลองเปรมประชากร ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ของสำนักการระบายน้ำ

ครั้งที่ 2 จำนวน 2,570 ล้านบาท จาก “รายได้พิเศษ” ของ กทม. เป็นเงินสะสมจ่ายขาด

5.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 76,451 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ด้านการบริหารทั่วไป 24,377 ล้านบาท
  • ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 13,647 ล้านบาท
  • ด้านการโยธาและระบบจราจร 12,543 ล้านบาท
  • ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 7,164 ล้านบบาท
  • ด้านการพัฒนาและบริการสังคม 6,146 ล้านบาท
  • ด้านการสาธารณสุข 6,784 ล้านบาท
  • ด้านการศึกษา 4,837 ล้านบาท
  • ด้านการพาณิชย์ของ กทม. 951 ล้านบาท

และมีงบประมาณรายจ่าย “เพิ่มเติม” อีก 2 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1 จำนวน 2,710 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น โยธาฯและระบบจราจร ระบายน้ำ บำบัดน้ำเสียและน้ำท่วม

ครั้งที่ 2 จำนวน 377 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19

และ 6.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 79,855 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการ กทม. 7,386 ล้านบาท
  • ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 190 ล้านบาท
  • ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 235 ล้านบาท
  • ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง 10,212 ล้านบาท
  • ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12,620 ล้านบาท
  • ด้านสาธารณสุข 6,092 ล้านบาท
  • ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง 1,303 ล้านบาท
  • ด้านการศึกษา 711 ล้านบาท
  • การจัดบริการของสำนักงานเขต 16,344 ล้านบาท
  • งบประมาณสำนักสนับสนุน และสำนักงานเขต 648 ล้านบาท
  • รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินยืมเงินสะสม 6,002 ล้านบาท
  • รายจ่ายงบนกลาง 14,417 ล้านบาท
  • รายจ่ายเพื่ออุดหนุนหน่วยงานในกำกับ 2,812 ล้านบาท
  • รายจ่ายการพาณิชย์ของ กทม. 875 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมี “เงินนอกงบประมาณ” จำนวน 9,697 ล้านบาท อาทิ ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สำนักการจราจรและขนส่ง) 2,169 ล้านบาท จัดการระบบท่อระบายน้ำ 240 ล้านบาท จัดการระบบควบคุมน้ำ 25 ล้านบาท จัดการระบบคลองและแหล่งรับน้ำ 307 ล้านบาท พัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม 881 ล้านบาท จัดการคุณภาพน้ำ 77 ล้านบาท เภสัชกรรม 301,175 บาท โรงพยาบาลกลาง 1,224 ล้านบาท โรงพยาบาลตากสิน 1,120 ล้านบาท โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 1,301 ล้านบาท โรงพยาบาลสิรินธร 1,070 ล้านบาท

โดย กทม.ได้รับงบประมาณ “อุดหนุน” จากรัฐบาลปี 2566 อีกจำนวน 22,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,649,568,000 บาท ประกอบด้วย แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 22,159,425,600 บาท เพิ่มขึ้น 1,923,543,900 บาท แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 124,866,600 บาท ลดลง 273,975,900 บาท