ศ.เสน่ห์ จามริก นักรัฐศาสตร์ เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 95 ปี

ภาพจากเฟซบุ๊ก Sinsawat Yodbangtoey

ศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จามริก อดีตนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้มีบทบาทในการค้นหาข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เสียชีวิต

วันที่ 9 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.เสน่ห์ จามริก นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 95 ปี (เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2470)

ศ.ดร.เสน่ห์ เป็นนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ประะธานสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน  ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ทั้งนี้ ดร.เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้โพสต์แสดงความอาลัยไว้ว่า “ขอแสดงความเสียใจและอาลัยต่อการจากไปของ อ.ดร. เสน่ห์ จามริก ปรมาจารย์ของรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ผอ.สถาบันไทยคดีศึกษา, และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนแรก

โครงการรัฐศาสตร์ศึกษาของอ.เสน่ห์ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ช่วงก่อน ๑๔ ตุลาฯ ๑๖ ได้ผลิตบัณฑิตที่ต่อมากลายเป็นปัญญาชนชั้นนำของประเทศเช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, สุรินทร์ พิศสุวรรณ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นต้น คณาจารย์รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์หลายท่านที่สอนสืบต่อมาในคณะก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาและเพื่อนมิตรต่างวัยของท่านเช่น อ.สมบัติ จันทรวงศ์, อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นต้น”

ประวัติการทำงานและผลงาน ของ ดร.เสน่ห์ จามริก มีดังนี้

เริ่มรับราชการ ในปี 2492-93  ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  และย้ายไปรับราชการในกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ถึงปี 2496  ได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาได้ปริญญา B.A. in Administration จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ต่อมาในปี 2500  ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส

พ.ศ. 2503-2530 อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จนเกษียณอายุราชการ

พ.ศ. 2516-2517 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516

พ.ศ. 2518 ร่วมก่อตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (ปัจจุบันคือ สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน หรือ สสส.) และได้รับเลือกตั้งเป็นประธาน หัวหน้าโครงการรัฐศาสตร์ศึกษา และหัวหน้าสาขาวิชาการต่างประเทศ

พ.ศ. 2518 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ.ศ. 2518 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปีเดียวกันนี้เอง อาจารย์เสน่ห์ แต่งงานกับแพทย์หญิงอำนวยศรี (สกุลเดิม ชุตินธร)

นอกจากนี้ยังมีบทบาททางด้านการวิจัยและสนับสนุนการวิจัยหลายด้าน เช่น หัวหน้าโครงการวิจัย “พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” ของมูลนิธิฟอร์ด และมูลนิธิเอเชีย ,ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายกสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และกรรมการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

หลังจากเกษียณอายุราชการ ก็ได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนดีเด่น และทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนอีกหลายแห่ง งานที่ทำล้วนเน้นหนักไปทางด้านชนบท ชุมชนท้องถิ่น สิทธิมนุษยชน ตำแหน่งสำคัญคือ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในระหว่างปี พ.ศ. 2544 ถึงปี พ.ศ. 2552