ฝ่ายค้าน…ยังมีหวัง เขี่ย “ประยุทธ์” สะดุดเกมนายกฯ 8 ปี

นำประยุทธ์
รายงานพิเศษ

แม้ดูเผิน ๆ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะ “เบาใจ” กับหลุมระเบิดลูกโตกรณีการเป็นนายกฯครบ 8 ปี

ประกอบกับคำยืนยัน-การันตีจาก “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ผู้มากบารมีในรัฐบาลว่า “ดูข้อกฎหมายแล้วไม่มีปัญหาเรื่อง 8 ปี”

แต่กรณีนี้สวนทางกับฝ่ายค้าน 6 พรรคที่มี พรรคเพื่อไทย นำขบวน

ฝ่ายค้านวางแผนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อนที่นายกฯจะครบวาระในเดือนสิงหาคม

ทว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปีเมื่อไหร่ยังฝุ่นตลบ ถกเถียงกัน 3 ทาง

ทางที่หนึ่ง ครบกำหนด 8 ปี วันที่ 24 สิงหาคม 2565 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

ทางที่สอง อยู่ได้ครบ 8 ปี วันที่ 9 มิถุนายน 2570 เพราะได้รับครั้งที่ 2 พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560

และทางที่สาม พล.อ.ประยุทธ์อยู่ได้ 8 ปี จนถึงปี 2568 โดยยึดถือวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นหลัก เพราะสถานะเป็นนายกฯตามมาตรา 158 เกิดขึ้นตอนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

แต่บรรดานักกฎหมายฝ่ายค้านพลิกรัฐธรรมนูญกันหลายตลบ กระทั่งมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งได้ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น

แกนนำเพื่อไทยให้เหตุผลว่า เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ใน “บทเฉพาะกาล” ระบุว่า ให้ “คณะรัฐมนตรี” ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นคณะรัฐมนตรีต่อไปตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งรวมถึง “พล.อ.ประยุทธ์”

แต่ในมาตรา 264 วรรคสอง กลับไม่มี “ข้อยกเว้น” เพื่อไม่ให้นำรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ เรื่องห้ามดำรงตำแหน่งนายกฯเกิน 8 ปีมาบังคับใช้กับ พล.อ.ประยุทธ์

แหล่งข่าวระดับสูงเพื่อไทย อ่านบทบัญญัติมาตรา 264 วรรคสอง แล้วฟันธงว่า “รัฐมนตรีนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว”

“ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184 (1)”

“แต่ข้อยกเว้นดังกล่าวกลับไม่มีข้อยกเว้นมาตรา 158 วรรคสี่ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญต้องการที่จะยกเว้นบทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเรื่องการอยู่ในตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีมาบังคับกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องเขียนระบุไว้ให้ชัดเจนในบทเฉพาะกาล เท่ากับว่า ถ้าตีความตัวอักษร พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นจากนายกรัฐมนตรี” แหล่งข่าวเพื่อไทยระบุ

อีกด้านหนึ่ง แกนนำฝ่ายค้านจับสัญญาณความปั่นป่วนภายในแวดวงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ว่า ที่มีปัญหาเรื่อง “คุณสมบัติ” ก่อนหน้านี้ จนต้องโยนเรื่องให้คณะกรรมการสรรหาตีความ ก็เกี่ยวข้องกับปมร้อนนายกฯ 8 ปีด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อฝ่ายค้าน เช็กข่าวทั้งบนดิน-ใต้ดิน ประเมินแล้ว “ประยุทธ์” มีสิทธิตกเก้าอี้ จึงออกมาตีปี๊บ

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เกจิกฎหมายประจำทำเนียบรัฐบาล กล่าวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมว่า “ผมยังไม่เคยพูดชัดเจนว่า 8 ปี นับจากปีไหน 57 หรือ 60 หรือ 62 เพราะถึงพูดไปคนเขาก็ไม่เชื่อ

มันเป็นคำถามจริง ผู้คนสงสัยจริง และอยากได้คำตอบจริง ถ้าใครอยากได้คำตอบและมีอำนาจที่จะหาคำตอบก็ดำเนินการไป”

“ฝ่ายค้านก็ทำได้ องค์กรอื่นก็ทำได้ แต่แนะนำว่าทำแต่เนิ่น ๆ ไม่ได้ เช่น ถ้าสมมุตินับจาก 57 ก็สิงหาคม แต่ตอนนี้เพิ่งพฤษภาคมเอง ต้องให้เข้าไปใกล้ ๆ หน่อย”

ฝ่ายค้านกางปฏิทินเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญแน่นอนกรกฎาคมนี้