ขบวนการขู่-ข่ม “ประยุทธ์” ธรรมนัส-เพื่อไทย เรียกค่างวดซักฟอก

ประยุทธ์

การเมืองเข้าสู่ช่วงปีสุดท้าย นับถอยหลังเลือกตั้ง ต้องมีการระดมทุนการเมืองเพื่อใช้สู้ต่อในการเลือกตั้งครั้งหน้า หรืออยู่สบายหากออกจากรันเวย์การเมือง

กลุ่ม 16 นำโดย “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ถึงต้องเปิดเกม “ต่อรอง” การเมือง เปิดเกมขู่บังคับรัฐบาล เพื่อเตรียมลงจากรถไฟ (อำนาจ) ขบวนสุดท้าย นัดหารือกับแกนนำพรรคเพื่อไทย มาแล้ว 2 รอบ

รอบแรก “พิเชษฐ” นัดหารือกับแกนนำพรรคเพื่อไทย-แลกเปลี่ยนข้อมูลการประมูลโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ที่มีบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประมูล โดยพุ่งเป้าว่าเป็นโครงการที่มีลับลมคมใน หวังใช้ล้ม “พล.อ.ประยุทธ์” ในสภา

การหารือรอบ 2 กับฝ่ายค้าน มี “โจ้” ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมด้วย จึงปรากฏภาพแกนนำเพื่อไทย กับกลุ่ม 16 แท็กทีมเพื่อไทยเพื่อซักฟอก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

และในวงดินเนอร์ครั้งที่ 2 มีการต่อสายถึง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างราคาทางการเมือง

หลังปรากฏเป็นข่าวเรื่องดินเนอร์ “พล.อ.ประยุทธ์” จึงไม่อาจเสี่ยงเดินหน้าให้กรมธนารักษ์ ที่มี “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้กำกับดูแล เซ็นสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ผู้ชนะการประมูล แต่ให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เคลียร์ทุกปมโต้แย้ง

ทว่า ความเคลื่อนไหวของพรรคเล็ก กับเพื่อไทย ในการเขย่ารัฐบาลยังไม่มีท่าทีเบาลง เมื่อ “ยุทธพงศ์” แห่งพรรคเพื่อไทย เตรียมนัดกินข้าวกับพรรคเล็กรอบ 3 โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย เข้าร่วมดินเนอร์ด้วย ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้

“ยกระดับ” การต่อรอง ส่งสารถึง เสธ.นิมิตต์ (พล.ต.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ) มือขวา พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ที่นักธุรกิจระดับแถวหน้าต้องรู้จัก มาดูว่าเกิดอะไรขึ้น “หาก เสธ.นิมิตต์ไม่มาดู ผมจะแฉ เสธ.นิมิตต์ว่าทำอะไรบ้าง”

นอกจากนี้ “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” แห่งพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่อยู่ในกลุ่ม 16 ก็ขอพบแกนนำเพื่อไทยด้วย

แหล่งข่าวระดับแกนนำเพื่อไทย กล่าวถึง การเปิดดีลกลุ่ม 16 ว่า แม้รู้ว่าเป็นเกมต่อรองระหว่างพรรคเล็กกับรัฐบาล

“ถ้าพรรคเล็กมีเจตนาพูดคุย เพื่อไทยก็ให้เกียรติ เพราะเราไม่ได้เสียอะไร”

แกนนำฝ่ายค้าน นับนิ้ว-นับเสียง วัดระยะห่างระหว่างรัฐบาลว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ในภาวะ “ปริ่มน้ำสุด ๆ” เพราะลำพังแค่ตัวเลขรัฐบาล นับเฉพาะพรรคหลักมีแค่ 228 เสียง ประกอบด้วย พลังประชารัฐ 100 เสียง ภูมิใจไทย 65 เสียง ประชาธิปัตย์ 51 เสียง ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง นอกนั้นเป็นพรรคเล็ก ๆ สะวิงโหวตได้ทุกเมื่อ

ทั้งกลุ่ม 16 บวกกับพรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียง ที่มีจุดยืนเป็น “อริการเมือง” กับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นลูกน้องที่ดีของ “พล.อ.ประวิตร” รวมถึง ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส กว่า 10 ชีวิตที่ยังฝังตัวอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ

ฝ่ายค้านจึงมองว่า กลุ่มเสียงเหล่านี้เป็น “ตัวแปร” สำคัญ ที่จะชี้ชะตาว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะอยู่หรือถูกคว่ำในสภา

“พรรคเศรษฐกิจไทย ไม่มีรัฐมนตรี ก็เท่ากับไม่ได้เป็นรัฐบาล แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะกล้าปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ถ้าปรับแล้วไม่เอาเศรษฐกิจไทยเข้าไปเป็นรัฐมนตรีบ้าง จะมีปัญหาหรือไม่ เพราะกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ยังมีอยู่นับ 10 คนที่ฝังตัวอยู่” แหล่งข่าวแกนนำฝ่ายค้านวิเคราะห์ความขัดแย้งภายในรัฐบาล

“ตอนโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสู้เต็มที่ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวก่อนที่มีการแจกกล้วยพรรคเล็ก ตอนแรกจ่ายอยู่ที่ชั้น 3 พอฝ่ายค้านอภิปรายในสภา ขยับมาจ่ายชั้น 2 พอไล่ทุบอีกก็ย้ายมาลานจอดรถ ดังนั้น อภิปรายไม่ไว้วางใจรอบใหม่ ก็ต้องจ่ายให้เสียงผ่านเพื่อไม่ให้เป็นนายกฯคนแรกที่โดนคว่ำกลางสภา”

“นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องจ่ายให้พรรคเล็ก ในพรรคพลังประชารัฐก็ต้องจ่าย พรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ก็ต้องจ่าย มีบางพรรคที่ไม่รับเงิน แต่จะเอาโครงการก็ต้องให้”

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยังมีจุดอ่อน “เขาก็มาช้อนของเรา (เพื่อไทย) ได้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าตอนโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะอ้างเป็นโควิด-19 หรือเปล่า” แหล่งข่าวแกนนำเพื่อไทยวิเคราะห์

เกมข่ม-ขู่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเห็นกันอีกหลายยก