สมคิด เปิดหน้า หมดเวลาอัศวินขี่ม้าขาว ส่ง 6 ข้อห่วงใยปัจจัยเสี่ยงประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคสร้างอนาคตไทย

สมคิด แคนดิเดตนายกฯ พรรคสร้างอนาคตไทย ขึ้นเวทีปาฐกถาพิเศษ ในรอบ 2 ปี หลังพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯเศรษฐกิจ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โชว์ภาวะผู้นำ ฉาย 6 ฉากทัศน์ข้อห่วงใย เศรษฐกิจอยู่บนความเสี่ยง-ไม่แน่นอนสูง เข้าใกล้เศรษฐกิจถดถอย เตือน เงินเฟ้อฉุดไม่อยู่ การเมืองปฏิปักษ์เป็นไฟสุมขอน ชู ทางสายกลาง เขยื้อนภูเขา หมดเวลาอัศวินขี้ม้าขาว การเมืองไม่ดี ประเทศลำบาก ประชาชนรับกรรม

วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ที่โรงแรม รามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคสร้างอนาคตไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวปาฐกถาพิเศษปิดหลักสูตร LTF รุ่นที่ 12 ในหัวข้อ “สัมมาชีพกับประเทศไทย หัวใจการขับเคลื่อนประเทศ”

นายสมคิดกล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่มาบรรยาย หลังหยุดการบรรยายและการสอน เป็นเวลา 2 ปีเต็ม นับตั้งแต่ตนพ้นภาระหน้าที่ เพราะคิดว่า เมื่อออกจากหน้าที่แล้วก็อยากให้พ้นไป ไม่อยากที่จะพูดอะไรที่กระทบกระทั่งกับคนที่ทำงานอยู่โดยที่ไม่ตั้งใจ เพราะว่าเราต้องให้กำลังใจกับคนที่ทำงาน

“ความตั้งใจของผมสะดุดลงก็ตรงที่ทางคณะผู้บริหารสัมมาชีพได้ติดต่อผมไป บอกว่า ทุกคนก็มากันแล้ว มีอาจารย์สมคิดคนเดียวที่ไม่ยอมมา และงานในวันนี้จะเป็นงานพิเศษที่ทุกคนต้องการแสดงการขอบคุณต่อท่านประธานมูลนิธิฯ (สมพล) ก่อนที่ท่านจะขอรีไทร์ ผมจึงตัดสินใจมาในวันนี้ และไม่ได้ตั้งใจมาเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ แต่ต้องการมาเพื่อบอกเล่า สะท้อนความคิดเห็นของผม ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความหวังดีต่อบ้านเมืองของเรา”

6 ข้อห่วงใยถึงรัฐบาลประยุทธ์

นายสมคิดกล่าวว่า 2 ปีเต็มที่ห่างออกไป แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนัก แต่มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายนอกและภายใน เป็นพัฒนาการที่น่าห่วงใย ตนอาจจะคิดแล้วไม่ถูกต้อง ผิดพลาด ขอให้ถือว่า ตนมีจิตใจที่บริสุทธิ์ หวังดี ตนขอหยิบยกประเด็นข้อห่วงใย 6 ประการ

นายสมคิด กล่าวว่า ข้อห่วงใยประการแรก คือ โลกที่กำลังเผชิญอยู่มีความเสี่ยงและมีความไม่แน่นอนขึ้นเรื่อย ๆ เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนนั้นหนาขึ้นทุกวัน จนกระทั่งจินตนาอนาคตยากมาก ทุกคนต้องเตรียมตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มองไปข้างหน้ายังไม่มีวี่แววว่าจะจบลงตรงไหน

เกือบทุกประเทศตัดสินใจว่า ไม่สามารถล็อกดาวน์ ต้องอยู่กับมัน แต่ต้องมีการบริหารจัดการ ประเทศที่ประกาศว่าจะอยู่กับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น การบริหารจัดการต้องเข้มข้น ตัวเลขที่ประกาศต้องเชื่อถือได้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องอยู่กับมันอีกนานเท่าไหร่

สถานการณ์สงครามในรัสเซียและยูเครน คงไม่ยุติกันง่าย ๆ เพราะแต่ละฝ่ายมีเป้าประสงค์ของตัวเอง ตราบใดที่เป้าประสงค์เหล่านั้น ยังไม่บรรลุ ยากที่จะบอกว่าจะจบเมื่อไหร่ เมื่อสงครามบวกกับสภาวะโควิด-19 สร้างผลกระทบที่รุนแรงมาก ไม่มีใครรู้ว่าสงครามใหญ่จะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะยูเครนเป็นเพียงหมากตัวแรกของการต่อสู้เชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้น

“ลักษณะเช่นนี้ ถ้าเราไม่สามารถจินตนาการได้ ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ เห็นแล้ว เห็นการเติบโตชะลอตัวลงทั้งโลก เห็นแล้วขณะนี้ระดับราคาเงินเฟ้อกำลังพุ่งทะยานอย่างน่ากลัว อาหาร โภคภัณฑ์พุ่งกระฉูด พลังงานแพงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏ ส่งผลกระทบมหาศาล ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ๆ คือ ผลกระทบที่จะตามมาทางสังคมและการเมือง เช่น อาร์เจนตินา ต่อไปก็คาดคะเนกันว่า จะเข้าไปในอีกหลายประเทศ การจลาจลวุ่นวายนั้นจะเกิดขึ้น เราจะค่อย ๆ เห็นในอีกหลายประเทศที่มีปัญหา ถ้าหากโควิดและสงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร นับพลเรือน ถ้าเราเป็นผู้ดูแลบ้านเมือง อย่าประมาท ต้องคิดล่วงหน้า 1 ก้าวเสมอ”

เศรษฐกิจถดถอย-เงินเฟ้อฉุดไม่ลง

นายสมคิดกล่าวว่า ข้อห่วงใยประการที่สอง คือ ประเทศของเราเอง ตนคิดว่า ขณะนี้สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และคอนโทรลไม่ได้ 100 % มีความเสี่ยงสูง การบริหารจัดการต้องเข้มข้น ต้องเอาใจใส่ ต้องคิดล่วงหน้ามากกว่าประชาชนธรรมดา โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

แต่ถ้าหากข้างหน้าคุณยังมองไม่เห็นทางออกชัดเจน แปลว่าจากวันนี้เป็นต้นไป เราต้องพยายามดูว่า เราจะใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ประสิทธิผลสูงสุดจะทำอย่างไร จะทำอย่างไรให้เม็ดเงินทุกเม็ดนั้น สามารถฉุดประเทศไทยจากหลุมที่มันดูดเราอยู่ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจนั้น ลุกขึ้นมาเดินต่อไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเล็ก ๆ ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน

การใช้กลไกธนาคารชาติ ธนาคารพาณิชย์ในสภาวะปกติ การใช้ในสภาวะไม่ปกติเห็นได้ชัดว่าไปไม่ได้ ฉะนั้นความคิดอ่านในการหากลไกที่ไม่ปกติ กลไกนอกรูปแบบ คิดนอกกรอบ เพื่อให้เขาอยู่รอดได้นั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้บริหารขณะนี้ ถ้าเรายังเอาเรื่องของการค้ำประกัน เรื่องศักยภาพการเงิน ณ ขณะนี้ ในทุกวงการ เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกับด้านการคลังเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้เงินมหาศาล ไม่เช่นนั้นเอาไม่อยู่ แต่จะทำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ จะให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นฟู ฐานะทางการเงินและทางการคลังในอนาคตข้างหน้า ถ้านานวันไป ความเปราะบางทางการเงินทางการคลังต้องระมัดระวัง เพราะฉะนั้นการบริหารงบประมาณแผ่นดินข้างหน้าสำคัญ จะใช้วิธีการบริหารการคลังในภาวะปกติไม่ได้

“ในสภาวะที่ไม่ปกติและอนาคตข้างหน้ามีภาระที่หนักหน่วง 4 สถาบันหลัก (กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย) ต้องทำงานให้เต็มที่ เป็น 4 เสาหลักของแผ่นดิน ถ้าท่านเสียงแข็ง ใครก็เขย่าท่านไม่ได้ ทรัพยากรจำกัด แต่ละกระทรวง (ฝ่ายการเมือง) เสนอมาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ตอนนี้ให้ได้

เงินที่มีอยู่เอาไปทำอะไร อะไรสำคัญก่อนหลัง จัดงบประมาณอย่างไร ไม่สำคัญเอาไว้ก่อนได้ไหม อย่าไปสนใจงบผูกพัน ไม่จำเป็นตัดทิ้งได้ ชะลอได้ แช่แข็งได้ เอามาทำในสิ่งที่อนาคตไปได้ ถ้าคุณแข็งจริง ทำอะไรไม่ได้ มือที่มองไม่เห็นก็จะไม่สามารถทำอะไรได้”

นายสมคิดกล่าวว่า ต้องร่วมกันทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ จัดลำดับให้ดีที่สุด เพราะข้างหน้าไม่รู้ว่า จะไปจบที่ไหน อีกเมื่อไหร่ แต่รู้แน่ ๆ ว่า จากวันนี้ถึงวันนั้น สิ่งที่จะเจอ คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) การจ้างงานน้อย ภาวะข้าวยากหมากแพงเกิดแล้ว ไม่ได้โทษรัฐบาล ไม่ได้โทษใครทั้งนั้น

ไม่มีคำว่า free flow ถ้าเราดูแลมันไม่ได้ดี จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า spiral inflation (เกลียวเงินเฟ้อ) จะพันกันไปจนดึงลงมายากลำบากมาก ๆ ประเทศจะเสียหาย ต้องมีการพูดจา ทำความเข้าใจ บ้านเมืองต้องมาก่อน เช่น เรื่องพลังงาน สิ่งที่เคยทำมาในอดีต ในสภาวะปกติ จะมาใช้ในวันข้างหน้าเป็นไปไม่ได้ ภาวะ inflation หลายชาติกลัวมาก ของเรา ไม่มาก 4 % กว่า บางชาติทะลุ 10 % แล้ว

“หนทางเศรษฐกิจเรารู้ว่า น่าเป็นห่วง แต่มันยังไม่จบ ต้นทุนการผลิตไม่ลด ขึ้นแล้วไม่ยอมลง ทุกคนกำลังดิ้นรน ชาติที่จะรอด คือ ต้องคิดยืนด้วยขาของตัวเองก่อน โดยเฉพาะอาหารและสิ่งจำเป็น อุ่นใจได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยน หาแหล่งพลังงานราคาถูกได้หรือไม่ ถ้าราคาสูงเรื่อย ๆ คนที่เดือดร้อนคือคนจน การจัดเตรียมทรัพยากรบางส่วนเพื่อช่วยเหลือเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะวุ่นวาย

การเมืองก็จะมีปัญหา เพราะจะมีความโกรธแค้น ความไม่พอใจ เพื่อความรอบคอบ ทุกคนต้องเตรียมตัว เตรียมแนวทางรองรับสถานการณ์ที่อาจจะแย่ลง เพราะนี่คือสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ต้องไม่บริหารจัดการแบบปกติ ผมไม่อยากใช้คำว่าวิกฤต เพราะพูดแล้วขวัญมันเสีย แต่ต้องเข้มข้น เอาใจใส่ ไม่รอฟังแต่ระบบราชการ ที่คุมเข้มด้วยกฎระเบียบ”

ปรับทัศนคติ มท.เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ

นายสมคิดกล่าวว่า ข้อห่วงใยประการที่สาม สิ่งที่ค้ำจุนและหนุนส่งเศรษฐกิจไทยแต่ไหนแต่ไรมา มาจากภายนอก และกำลังอ่อนกำลังลงแล้ว ขณะที่ในประเทศกำลังเปราะบาง เราอาจจะต้องปรับโหมดการขับเคลื่อนและการพัฒนา ต้องเร่ง รีบขจัดอุปสรรคที่เคยเจอมาก่อนและเปลี่ยนแปลงยาก ใช้โอกาสนี้เปลี่ยนแปลง ระบบทุนนิยมที่การเมืองไม่แข็ง

ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นเกิดการกระจุกตัว ไปไม่ถึงข้างล่าง รากฐานอ่อนแอ ยิ่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอก เช่น การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การส่งออก แต่วันนี้ลมที่เป็นปัจจัยภายนอกอ่อนแรง เพราะเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เงินเฟ้อเกิด ของแพง ไม่มีลมที่จะหนุนส่งเรา ต้องระเบิดจากภายใน สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นจากภายในเพื่อให้ยืนบานขาจองตัวเองได้

“การสร้างความเข้มแข็งไม่ใช่ของง่าย ต้องปรับโหมด สิ่งแรกต้องทำเพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน คือ การกระจายอำนาจ กระจายการคลัง กระจายงบประมาณ การบริหารงบประมาณต้องกล้ากระจายลงไป อย่าให้กระจุกอยู่ในกระทรวงหลัก ส่วนกลาง การแยกส่วนทำไม่ได้ในภาวะข้างหน้าถ้าต้องการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ต้องขจัดกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย โฟกัสกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากภายใน ไม่ใช่ภายนอก ไม่ใช่การลงทุนเพื่อส่งออก แต่ลงทุนที่ทำให้ชนบทแข็งแรงขึ้น เราไม่มีเวลาอีกแล้ว หน้าต่างแห่งโอกาส ต้องเปลี่ยนทัศนคติและการบริหารจัดการ”

นายสมคิดกล่าวว่า กระทรวงที่สำคัญที่สุด ที่จะเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ คือ กระทรวงมหาดไทย เพราะครอบคลุมภาระหน้าที่ลงลึกไปถึงหมู่บ้าน ถึงครัวเรือน กำลังมีพร้อม แต่ความคิดอ่านหรือทัศนคติเป็นเชิงปกครอง ไม่ใช่การพัฒนา ถ้ายังใช้ทัศนคติอย่างเดิม เกลี่ยผู้ว่าฯ ปีละครั้ง สองปีครั้ง จะไปทำอะไร เมืองจีนเจริญได้เพราะคนที่เก่งที่สุดจะไปอยู่ในพื้นที่จนที่สุด ลงลึกหลายปี รู้ว่าแต่ละครัวเรือนมีปัญหาอะไร เป็นการแก้ความยากจน

นายสมคิดกล่าวว่า ข้อห่วงใยประการที่สี่ ความสามารถของการแข่งขันของประเทศค่อย ๆ อ่อนตัวลง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง อุตสาหกรรมที่ชนะขาดยากมาก อินโดนีเซียกินเราขาด มีวัตถุดิบเรื่องแบตเตอรี่ เราไม่มี ความเชื่องช้าของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ บอกกี่ครั้งก็ยังรักพี่เสียดายน้อง ไม่เข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่เร็วพอ

ถ้าภายใน 5 ปี ไม่เปลี่ยนโหมด จะสูญเสียฐานที่อยู่ตรงนี้ให้กับจีนอย่างแน่นอน แล้วไทยจะเป็นศูนย์กลางได้หรือไม่ วันนี้อีอีซีใครรับผิดชอบ ใครดูแล ถ้าได้ไม่เร็วพอ คนอื่นเอาไปกิน เราต้องช่วยกันดูแลให้เข้มแข็งขึ้นมา

หยุดการเมืองปฏิปักษ์-แบ่งขั้ว

นายสมคิดกล่าวว่า ข้อห่วงใยประการที่ห้า สำคัญมาก คือ การเป็นประเทศที่มีนัยสำคัญในเวทีการเมืองโลก โดยเฉพาะในภูมิภาค วันนี้เราต้องมารีวิวกันใหม่ ไทยจะมีนัยทางเศรษฐกิจหรือไม่ มีนัยสำคัญทางการเมืองโลกหรือไม่ จะยังมีเสียงดังในอาเซียนหรือไม่ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย ก็จะไม่รู้จักใคร ไม่มีใครรู้ว่าประเทศไทยสำคัญ และถ้าเศรษฐกิจไม่ดี เขาจะเริ่มมองข้ามไป ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น แต่อย่าให้ไปถึงจุดนั้น ต้องเร่งช่วยกันให้เข้มแข็งขึ้น เราจะดีหรือเลวไม่สำคัญ ภาพที่เขามองเราสำคัญที่สุด และเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ไม่เฉพาะรัฐบาล

นายสมคิดกล่าวว่า ข้อห่วงใยประการที่หก ที่สำคัญมาก ๆ มีภาษาอังกฤษอยู่คำหนึ่งว่า dis-integration เมืองไทยกำลังประสบกับสิ่งที่เรียกว่า dis-integration of nation power คือ การค่อยๆสลาย ความสลาย หรือ ค่อย ๆ สลายของพลังแห่งชาติ มันกำลังกัดกร่อนทีละเล็กทีละน้อยมาเรื่อย ๆ เราต้องหยุดมัน

จากการที่เกิดวิกฤตการณ์ซ้ำซากในอดีต มาสู่เรื่องของความแตกแยก ความแตกแยกทางความคิด เริ่มที่จุดนั้น ขัดแย้งที่ความคิดทางการเมือง หันมาสู่การเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง แทนที่จะจางหายไปเมื่อเวลาผ่านไป กลับไม่จางหาย เป็นไฟสุมขอนที่ยังคงมีเชื้ออยู่ตลอดเวลาและพร้อมที่จะลุกโชติช่วงขึ้นมาอีก

นายสมคิดกล่าวว่า ทราบไหมว่า เพราะอะไร ภาษาอังกฤษมีศัพท์อยู่ 2 คำ หนึ่ง misinformation ข้อมูลที่ผิดพลาด หลุดออกไป เป็นไฟลุกขึ้นมา เกิดขึ้นประจำทุกประเทศ อันที่สอง อันตรายกว่าเรียกว่า disinformation หมายความว่า จงใจที่จะให้ข้อมูล ที่บิดเบือน ที่ให้ร้าย เพื่อบั่นทอนให้เกิดผลที่ตั้งเป้าประสงค์ไว้เกิดในประเทศที่โซเชียลมีเดียมีพลัง ที่ทำให้คนสองกลุ่ม ที่มองสิ่งเดียวกัน เหมือนอยู่กันคนละโลก

แต่ถ้าคนของเรา มีสติ ยั้งคิด ไตร่ตรอง สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถโหมกระหน่ำเราได้ ถ้าเราดูแลกันไม่ได้ ไม่ไตร่ตรอง ไม่ตรวจสอบ ตอนนี้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ข้อมูลเต็มไปหมด คุณอาจไม่รู้ว่าคุณดีแค่ไหน คุณเลวแค่ไหน มันมาบอกตอนโซเชียลมีเดีย

“ความแตกแยก แบ่งเป็นขั้วเป็นเหล่า ความคิดและความเห็นแตกต่างกันได้ แม้แต่มีขั้วก็ทำได้ แต่อย่าทำให้เป็นปฏิปักษ์ อยู่กันไม่ได้ สังฆกรรมกันไม่ได้ มันก็คือการบั่นทอนทรัพยากรของประเทศให้เบาบางลงในภาวะที่เราต้องการระดมความคิด ความสามารถของทั้งประเทศ ความปริแตกนี้ไม่ได้เบาบางลงเท่านั้น แต่ขยายขอบเขต ไปสู่ช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างนี้ต้องรีบปิด เพราะไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่การแบ่งแยก แบ่งขั้วด้วยวัย ไม่เป็นผลดี”

นายสมคิดกล่าวว่า ความรู้สึกของประชาชน เรื่องธรรมภิบาลของประเทศเริ่มอ่อนลง และกระทบต่อความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ และความเชื่อใจ 3 ตัวนี้ ต่างกัน โดยเฉพาะความเชื่อใจ ถ้า 3 ตัวไม่มี และเกิดขึ้นพร้อมกัน รัฐทำงานได้ยากมาก ทำอะไรก็ถูกตั้งคำถาม ถ้ามีมากขึ้นถึงจุดจุดหนึ่ง รัฐไม่สามารถทำอะไรได้สมบูรณ์ ติดขัด ต้องรีบแก้ไข ต้องสร้าง 3 ตัวนี้ขึ้นมาให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ จะเกิด dis-integration พลังในการแก้ปัญหา พลังในการขับเคลื่อนจะไม่แข็งแรงเท่าที่ควร

ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหา ต้องการการปฏิรูป ต้องการไปกระทบกระทั่ง ต้องไปทำให้บางคนเสียประโยชน์ แต่ประเทศได้ประโยชน์ ขับเคลื่อนได้ยากมาก เพราะขาดทั้ง 3 ตัว ในที่สุดเกิดเป็นรัฐที่อ่อนแอ คนรับกรรม คือ ประชาชนที่จะรับกรรม

“ข้อห่วงใยทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมา ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะว่าใคร แต่เป็นสิ่งที่เราเห็น แล้วอนาคตยังอีกยาวไกลที่จะต้องเผชิญกับมัน หมอกมันหนา มันจัด ความเสี่ยงภัยสูง ความไม่แน่นอนสูง พลังของชาติต้องแข็งแรงพอที่จะฝ่าฟันไปได้ จะทำอย่างไร ภาวะแบบนี้ ไม่ใช่จะให้ใครคนใดคนหนึ่งมาแบกรับ เป็นไปไม่ได้ คุณจะเปลี่ยนอัศวินม้าขาวมากี่คน ทุกอย่างจะเหมือนเดิม ดีไม่ดีจะแย่กว่าเดิม เป็นหน้าที่ของคนไทยต้องร่วมมือกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งแรก คือ การเมือง ไม่อยากพูดการเมือง แต่การเมืองคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ถ้าการเมืองดี ประเทศก็ดี การเมืองอ่อนแอ ประเทศก็ลำบาก ประชาชนก็ลำบาก”

ยกคำคมราษฎรอาวุโส เดินสายกลาง

นายสมคิดกล่าวว่า วันที่ตนไปพบกับนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นพ.ประเวศบอกว่า การเมืองในอนาคต การเมืองที่ขัดแย้ง การเมืองที่แตกแยก เป็นปฏิปักษ์น่าจะพักไว้ก่อน เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ บั่นทอนกำลังของชาติ การเมืองทางสายกลาง ไม่เน้นความขัดแย้ง ไม่เน้นการเป็นปฏิปักษ์ ให้ทุกคนได้พูดคุย ร่วมแก้ไขสถานการณ์ โดยไม่แบ่งขั้ว ไม่แบ่งฝ่ายน่าจะเป็นทางออกของประเทศได้

แนวทางสายกลางไม่ใช่ไม่มีจุดยืน แต่เป็นจุดยืนของชาวพุทธ ไม่ให้ขัดแย้ง ปฏิปักษ์ มุ่งให้คนสามารถมีทางออกร่วมกัน แบ่งปัน เป็นแนวทางสายกลางที่มีในอดีตแล้ว ปัญหาในวันข้างหน้าเต็มไปหมด แนวทางคือ แนวทางที่ถูกต้อง คนจะสนับสนุน คนไม่ต้องการความขัดแย้งแล้ว คนต้องการทางออก ต้องการพลัง ให้พ้นจากความยากลำบาก เพราะยังมาไม่ถึงที่สุด

“การเมืองอย่างเดียวไม่ได้ สำคัญมาก คือ ภาวะผู้นำการเมือง ยกตัวอย่างเมืองจีนเจริญขึ้นมาได้ ผู้นำเหล่านั้นให้บทเรียนอย่างหนึ่ง ว่า ผู้นำแต่ละสถานการณ์คนละอย่าง ยากมากที่จะเอาลักษณะเหล่านี้มาอยู่ในคนคนเดียวกัน

เชอร์ชิลเป็นผู้นำในยามสงครามเก่งมาก แต่ในยามสงบเจ๊งเลย ฉะนั้นในยามที่ไม่ปกติ ปัจจัยในเรื่องความเคลียร์ ชัดเจนในภาพของปัญหา ในทิศทางของการแก้ปัญหาต้องชัดเจน ไม่ใช่วิสัยทัศน์ เพราะบอกไม่ได้ว่าถูกหรือผิด แต่ความเคลียร์ที่มองเรื่องนี้ชัดเจน great communicator ต้องสามารถนำสิ่งที่คุณเห็นสื่อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าใจ เพื่อให้เห็นด้วย เกิดเป็นพลังมวลชนขับเคลื่อน แก้ไข ปฏิรูปประเทศ ตัดสินใจที่ชัดเจน แน่นอน ไม่โลเล”

นายสมคิดกล่าวว่า political view เป็นอีกปัจจัยที่จำเป็นมาก ไม่ได้ใช่เป็นเรื่องของ view มุ่งมั่นที่จะเลือกตั้งนะ คนละเรื่อง เป็น view ที่ตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงให้ประเทศดีขึ้น และไม่ใช่ view ของผู้นำคนเดียว ถ้า political view ของหัวหน้าพรรคการเมืองยังเป็นการต่อรองเพื่อจัดสรรประโยชน์ อำนาจ เลือกตั้งอีกกี่ครั้งก็จะเป็นภูเขาที่เขยื้อนไม่ได้เลย

แต่ถ้ามี political view ที่ชัดเจน บ้านเมืองกำลังลำบาก ต้องร่วมกัน อย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่ง เอาคนที่ดี คนที่เก่งมาช่วยกัน ประเทศถึงจะมีพลังในการขับเคลื่อน ความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ความเชื่อใจ ก็จะกลับมา จำเป็นอย่างยิ่งถ้าต้องการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

“ปัจจัยสำคัญที่สุด หนึ่ง แนวทางการเมือง สอง สภาพผู้นำ แต่สำคัญที่สุด คือ ภาคประชาชน ถ้าเข้มแข็ง รู้จักหน้าที่ประเทศนั้นจะแข็งแรงมาก ถ้าการเมืองไม่ดี จะไปได้อีกกี่น้ำ สัมมาชีพอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องยกระดับความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ส่งเสียงให้ดังออกมา ชะล้างสิ่งที่ไม่ถูกต้องออกไป” นายสมคิดทิ้งท้าย