ประวัติ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เปิดหน้าชิงนายกรัฐมนตรี ลงเลือกตั้ง

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สร้างอนาคตไทย

อดีตรองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลยุคไทยรักไทย และพลิกผันไปอยู่กับขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยุคหลังรัฐประหาร เปลี่ยนผ่านสู่เตรียมขึ้นเป็นแคนดิแดต ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งสมัยหน้า

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือ กวง วัย 69 ปี (เกิด 15 กรกฎาคม 2496) เกิดที่มีย่านถนนทรงวาด-เยาวราช ร้านค้าของบรรพบุรุษของเขา และเป็นถิ่นฐานการสร้างเศรษฐกิจไทยของชาวจีน

สมคิด เป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบการศึกษาปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์การคลัง และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ปริญญาโท MBA สาขาบริหารการเงิน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า แล้วได้ทุนไปจบปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจ เน้นการจัดการด้านการตลาด ที่ Kellogg School of Management, มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา

สมคิด จึงมีดีกรีติดตัวและมีฐานที่มั่นทางวิชากร ในตำแหน่ง ศาสตราภิชาน แห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ระหว่างเรียนปริญญาเอก พบรักกับ อนุรัชนี ภิคารวัฒน์ และแต่งงานเข้าสู่สกุลจาตุศรีพิทักษ์ ในปี 2550 มีบุตรชาย ก่อนเข้าสู่วงการเมือง 2 คน คือ นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ชื่อเล่น ลูกคิด และนายณพล จาตุศรีพิทักษ์ ชื่อเล่น ลูกเต๋า เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมคิด ได้บุตรชายคนสุดท้อง เป็นคนที่ 3 ชื่อนายณฉัตร จาตุศรีพิทักษ์ หรือ ลูกคลัง

ลูกชายทั้ง 2 คน สมรสในช่วงหลังจากที่นายสมคิด พ้นจากนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 หรือพ้นจากการถูกตัดสิทธิทางการเมือง ในฐานะที่เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (ทรท.) และกลับเข้าสู่วงการอีกครั้ง ปัจจุบัน มีหลานชาย ล้วน ๆ 3 คน

สมคิด เข้าสู่วงการเมือง ครั้งแรกในฐานะ “กุนซือ”  ในยุคนโยบายประชานิยมเฟื่องฟู ที่พรรคไทยรักไทย เคียงคู่ ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจอัศวินคลื่นลูกที่ 3 ร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มคนผู้ร่วม บุกเบิก-ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ทำคลอดนโยบายประชานิยม เน้นเอาใจรากหญ้าต่อมากลายเป็นฐานเสียง 14 ล้านคนให้ไทยรักไทย

หลังไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง 2544-2548 เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง,รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

สมคิด ลาออกจากสมาชิกพรรคไทยรักไทย หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ระหว่างนั้นมีข่าวเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม แต่ไม่ได้มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

จากนั้น สมคิด ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ด้วยภารกิจการสร้างความเข้าใจเรื่องนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงแก่ต่างประเทศ แต่ได้รับแรงกดดันจากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายขวา จนต้องแถลงข่าวลาออก ก่อนได้ปฏิบัติหน้าที่

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 แล้ว สมคิด ขึ้น-ลงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ฟ้องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฉ้อโกง ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ความผิดต่อพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ที่สุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 17 สิงหาคม 2552

สมคิด กลับไปสู่ตำแหน่งกุนซือ ให้กับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ระดับท็อป 5 ของเมืองไทย อยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่อสมคิด กลับสู่วงจรอำนาจ ในตำแหน่งกุนซือ อีกครั้ง ในฐานะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้านเศรษฐกิจ เขาเดินทางไปจีน เพื่อเชื่อมต่ออำนาจให้กับรัฐบาลในครานั้น

1 ปีหลังรัฐประหาร ในเดือนสิงหาคม 2558 สมคิด ผงาดขึ้นเป็น รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ โดยหัวหน้ารัฐบาลปรับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล พ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

เดือนมีนาคม 2561 ก่อนที่รัฐบาล คสช.จะพ้นจากอำนาจ เตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่ ปรากฏชื่อ “พรรคพลังประชารัฐ” ครั้งแรกในพื้นที่ทางการเมือง ครั้งนั้นส่งสัญญาณให้ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้จดแจ้งต่อนายทะเบียนพรรค ร่วมกับ นายชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม แตะมือกับ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ผู้มากคอนเน็กชั่นการเมือง

ดึง ดร.อุตตม สาวนายน ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าสู่ระบบพรรคการเมืองเต็มตัว ประกาศชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็น 1 เดียวในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี

ชื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถูกงำประกายไว้จนมิดชิดยาวนาน ด้วยการป้องปัดบอกเหตุผลอยากพ้นวังวันการเมืองเตรียมตัวเลี้ยงหลาน และอาการป่วยการเมือง ทั้งเบาหวาน ความดัน พกยาเป็นกำมือ หลังอาหารทุกมื้อ

ชีวิต สมคิด ขณะวัย 64 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ในปี 2562  เขาบอกว่า “ผมเกิดที่เยาวราช ครอบครัวมีพี่น้อง 10 คน ได้เรียนเพราะได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาล จึงรู้ดีว่าคนจนต้องดิ้นรน เมื่อมีโอกาสมา เราต้องตอบสนอง ผมเข้ารับตำแหน่งกระทรวงการคลังครั้งแรก เริ่มนโยบายการคลังเพื่อสังคม ทำธนาคารคนจนแต่ทำไม่จบเพราะมีอุปสรรคเสียก่อน แต่ครั้งนี้ผมจะทำให้จบ”

ช่วงที่การเมืองของคนรุ่นใหม่ ร้อนแรง สมคิด ดันหลังเด็กในเวลานั้นว่า “นี่คือโอกาสที่สำคัญที่สุด คือโอกาสในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะถ้าหากเศรษฐกิจจะดี แต่การเมืองไม่เข้มแข็ง ประเทศก็ไม่มีทางไปได้ดี จึงอยากเห็นพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้ว คิดนโยบายที่ดี รวบรวมคนเก่งคนดี และอยากเห็นพรรคการเมืองใหม่ๆ เพราะยิ่งมีมากยิ่งดี พรรคการเมืองใหม่ควรจะเป็นโอกาสของคนรุ่น 30-50 ปี ไม่ใช่คนรุ่น 60-70 ปี และในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเป็นสิ่งสำคัญจึงต้องรวบรวมคนเก่ง และสู้กันในระบบ”

แต่แล้วในการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2562 “ทีมสมคิด” ก็ได้ผงาดเป็นทั้งหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค และคุมทีมนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ  หลังชนะเลือกตั้ง ทั้งทีมได้รับการปูนบำเหน็จ เป็นรัฐมนตรีถึง 4 คน ทั้งนายอุตตม สาวนายน,นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์,นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ถูกตั้งฉายาว่าเป็นขั้วการเมืองในพรรคในนาม “กลุ่มสี่กุมาร”

หลังเป็นรัฐบาลได้ปีกว่า ๆ  เกิดการเขย่าอำนาจของกลุ่ม 3 ป. ทำให้ทีมสมคิด ต้องตัดใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีพร้อมกันทั้งหมด วันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ชื่อ-เสียง รัฐมนตรีสี่กุมาร เงียบหายไปจากหน้ากระดานการเมือง

ทั้งนายอุตม และนายสนธิรัตน์ กลับเข้าสู่วงการเมืองอีกรอบ ในช่วงปลายปี 2564 พร้อมส่งสัญญาณตั้งพรรคการเมืองใหม่ และในต้นปี 2565 มีนักการเมืองรุ่นใหญ่หลายราย ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเข้าสังกัดพรรคสร้างอนาคตไทย ที่กุมบังเหียนโดยอดีตกลุ่มสี่กุมาร

แน่นอนที่สุดว่า ชื่อสมคิด ยังผูกติดกับกลุ่มสี่กุมาร ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จนกระทั่งวันที่พรรคเปิดตัวกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ 20 เมษายน 2565 ชื่อสมคิด ก็ขึ้นหรา เป็นว่าที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพรรคสร้างอนาคตไทย ! !