รีดไขมันงบประมาณ ปี’66 ฝ่ายค้านจองตัดเงินข้าราชการ-กองทัพ

เหล่าทัพถูกหั่นงบประมาณ

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระแรกดูจะไม่จบลงง่าย ๆ กลับจะทวีความเข้มข้นขึ้นในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ-วาระที่ 2

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่พุ่งเป้าไปที่กองทัพ-รัฐราชการ ตั้งธงรีดไขมันส่วนเกิน

สำหรับงบประมาณที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จนถูกพรรคฝ่ายค้านหยิบมาอภิปราย ดังนี้ งบประมาณรายจ่ายบุคลากร (เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนพนักงานราชการ) ปี 2566 จำนวน 772,119 ล้านบาท

ย้อนหลังไป 5 ปีงบประมาณ ได้แก่ ปี 2565 จำนวน 770,160 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 782,566 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 777,549 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 1,060,960 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 1,021,488 ล้านบาท

โดยเฉพาะ “งบฯเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ” ที่ถูกพรรคก้าวไกลนำมาอภิปรายเพื่อตีแผ่ความเลวร้ายของระบบราชการและเป็นศัตรูเบอร์ต้น ๆ ของพรรคก้าวไกล โดยเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญในปี 2566 จำนวน 322,790 ล้านบาท

ย้อนหลังไป 5 ปีงบประมาณ ปี 2565 จำนวน 310,600 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 300,435.514 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 265,716.318 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 223,762 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 191,222.723 ล้านบาท

เปรียบเทียบ

งบฯค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ (รวมถึงบิดา มารดา สามี/ภรรยา หรือบุตรของข้าราชการ) ปี 2566 จำนวน 76,000 ล้านบาท

ย้อนหลังไป 5 ปีงบประมาณ ปี 2565 จำนวน 74,000 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 74,000 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 71,200 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 70,000 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 63,000 ล้านบาท

งบฯเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการเข้ากองทุน กบข.ปี 2566 จำนวน 75,980 ล้านบาท

ย้อนหลัง 5 ปีงบประมาณ ปี 2565 จำนวน 72,370 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 69,707.102 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 62,780 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 54,845 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 47,623 ล้านบาท

ขณะที่งบฯกระทรวงกลาโหม-งบฯกองทัพก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบจะทุกปีเช่นเดียวกัน โดยในปี 2566 จำนวน 197,292.732 ล้านบาท

โดยเฉพาะที่บรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง-แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติที่ตั้งวงเงินไว้สูงที่สุดถึง 58,017 ล้านบาท

ย้อนหลังงบฯกระทรวงกลาโหม 5 ปีงบประมาณ ปี 2565 จำนวน 201,666.421 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 214,530 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 231,745 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 227,126 ล้านบาท และปี 2561 จำนวน 218,503 ล้านบาท ไม่นับรวมงบฯเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด (GT200) 757 เครื่อง วงเงิน 7.75 ล้านบาท ที่ เพื่อไทย-ก้าวไกลกัดไม่ปล่อย

บรรทัดสุดท้ายคือ ความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาล รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยในปี 2566 คาดว่าจะจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 2.49 ล้านล้านบาท

หากประมาณการตามหน่วยงานที่จัดเก็บ 3 กรมภาษีหลัก ได้แก่ กรมสรรพากร เก็บภาษีได้ 2,029,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153,000 ล้านบาท กรมสรรพสามิต เก็บภาษีได้ 567,000 ล้านบาท ลดลง 30,000 ล้านบาท กรมศุลกากร เก็บภาษีได้ 105,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,500 ล้านบาท

สถิติการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลย้อนหลังในยุค พล.อ.ประยุทธ์

  • ปี 2557 : ประมาณการ 2,275,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,075,024 ล้านบาท ลดลง 199,976 ล้านบาท
  • ปี 2558 : ประมาณการ 2,325,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,213,396 ล้านบาท ลดลง 111,604 ล้านบาท
  • ปี 2559 : ประมาณการ 2,386,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,394,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,641 ล้านบาท
  • ปี 2560 : ประมาณการ 2,370,078.3 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,355,662.8 ล้านบาท ลดลง 14,415.5 ล้านบาท
  • ปี 2561 : ประมาณการ 2,499,641.9 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,536,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,303.1 ล้านบาท
  • ปี 2562 : ประมาณการ 2,550,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,566,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,116 ล้านบาท ปี 2563 : ประมาณการ 2,731,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,391,707 ล้านบาท ลดลง 339,293 ล้านบาท
  • ปี 2564 : ประมาณการ 2,677,000 ล้านบาท จัดเก็บได้ 2,372,534.9 ล้านบาท ลดลง 304,465.1 ล้านบาท และ
  • ปี 2565 : ประมาณการ 2,400,000 ล้านบาท

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง โชว์จัดเก็บรายได้ 7 เดือนแรก 1.27 ล้านล้านบาท “ในปี 2565 จากการรายงานผลการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ข้อมูลล่าสุด 7 เดือนแรก ปีงบประมาณ 65 (ต.ค. 64-เม.ย. 65) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.277 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 45,804 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.7% และสูงกว่าปีที่แล้ว 4.5%

ข้าราชการ-กองทัพจึงกลายเป็นแพะรับบาปในสภาวะเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง