ประวัติ นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุดหญิงคนแรกของไทย

นารี ตัณฑเสถียร

วุฒิสภา มีมติเอกฉันท์ให้ “นารี ตัณฑเสถียร” ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดคนใหม่ กลายเป็น อัยการสูงสุดหญิงคนแรกของประเทศไทย

ที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ที่มีนายพชร ยุติธรรมดำรง เป็นประธาน ก.อ. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดคนใหม่ ต่อจากนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุดที่จะพ้นวาระบริหาร วันที่ 30 ก.ย. 65 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน

ล่าสุด วุฒิสภามีมติเอกฉันท์ 205 เสียง เห็นชอบ “นารี ตัณฑเสถียร” นั่งอัยการสูงสุดหญิงคนแรกของประเทศไทย จากสมาชิกวุฒิสภาที่มาแสดงตนทั้งสิ้น 212 คน

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดประวัติ “นารี ตัณฑเสถียร” อัยการสูงสุดหญิงคนแรกของไทย

ประวัติ นารี ตัณฑเสถียร

นารี ตัณฑเสถียร ชื่อเล่น เปี้ยก เกิดวันที่ 10 กรกฎาคม 2501 อายุ 63 ปี เดินตามเส้นทางนักกฎหมายตั้งแต่สมัยเรียน จนถึงการทำงานที่มีความโดดเด่นด้านกฎหมายมาโดยตลอด มีบทบาทและความเชี่ยวชาญในด้านสัญญาจ้าง และสัญญาร่วมลงทุน พลังงาน และการค้าระหว่างประเทศ

ด้านการศึกษา

  • สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 19 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเนติบัณฑิตไทย
  • สำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายเปรียบเทียบ Howard University, Wash, DC USA
  • สำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายระหว่างประเทศ American University Wash, DC USA
  • สำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายการให้ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ Vrije Unversity of Brussel, Belgium (ทุนรัฐบาลเบลเยียม)

ด้านการทำงาน

เริ่มงานแรกที่ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษากฎหมายแก่หน่วยงานภาครัฐ และเจรจา ตรวจร่างสัญญาภาครัฐ ในปี พ.ศ. 2528

ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 นารี ตัณฑเสถียร เป็นอาจารย์ (พิเศษ) คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. 2554 ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรองอัยการสูงสุด (นายตระกูล วินิจนัยภาค)

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย

ผลงานโดดเด่น

  • คดีเพชรซาอุฯ คดีฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุฯ
  • สัญญาเกี่ยวกับพลังงาน สัญญาเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สัญญาร่วมลงทุน
  • สัญญาการจัดหาวัคซีนและยารักษาโรคระบาดโควิด-19
  • ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ (ประเภทข้าราชการอัยการชั้น 5 ขึ้นไป) 2 สมัย
  • พ.ศ. 2554 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • พ.ศ. 2549 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
  • พ.ศ. 2553 เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)

ขั้นตอนต่อไป ที่ประชุม ก.อ.จะส่งชื่อเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถือเป็นอัยการสูงสุดหญิงคนแรกของประเทศ