ครม. พิจารณาหั่นกำไรโรงกลั่น-โรงแยกก๊าซ เดือนละพันล้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมแถลงคืบหน้ามาตรการตรึงราคาพลังงาน แนวทางการขอความร่วมมือหักกำไรจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซ ปตท.

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 25/2565 โดยต้องจับตาเรื่องเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม/จร หรือ วาระจร เรื่อง มาตรการลดภาระประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงานรอบใหม่ (ต่อมาตรการเดิม) ในส่วนของกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ระยะเวลา 3 เดือน หรือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565

อาทิ การคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกันให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม (16 มิ.ย. 65 – 15 ก.ย. 65 )

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าปลัดกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์ว่าในคณะรัฐมนตรีวันนี้จะยังไม่พิจารณาการขอความร่วมมือจากโรงกลั่นเพื่อนำส่วนหนึ่งของกำไรเข้ามาบริหารกองทุนน้ำมันฯ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาหัวข้อดังกล่าวและมีมติดังนี้

มาตรการด้านพลังงาน

มาตรการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV

ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV อยู่ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกันให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม โดยขอความร่วมมือจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (บมจ.ปตท.) ในการขยายเวลาดำเนินมาตรการต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน งบประมาณ 2,353 ล้านบาท ระยะเวลา 16 มิ.ย.-15 ก.ย.65

มาตรการช่วยเหลือด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)

การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 3 ครั้ง จาก 17.1795 บาทต่อกิโลกรัม ไปที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับขึ้นเดือนละ 0.9346 บาทต่อกิโลกรัม ระยะเวลา 1 ก.ค.-30 ก.ย. 65

การขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกิน 100 บาท ระยะเวลา ก.ค.-ก.ย. 65 งบประมาณ 220 ล้านบาท

มาตรการบริหารราคาน้ำมันดีเซลโดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรสามิต

ในกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศยังคงสูงเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้ที่ 35 บาทต่อลิตร รัฐจะอุดหนุนราคาส่วนเพิ่มร้อยละ 50 ระยะเวลา ก.ค.-ก.ย. 65

มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

การกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสมของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร ระยะเวลา ก.ค.-ก.ย. 65

การขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ระยะเวลา ก.ค.-ก.ย. 65

มาตรการขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตราคาน้ำมันแพงเพื่อช่วยเหลือประชาชน

โดยเงินในส่วนของน้ำมันดีเซล นำไปลดภาระการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือใช้บริหารราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ และเงินในส่วนของน้ำมันเบนซินนำไปลดราคาขายปลีกในประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นในแนวทางที่จะดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป พร้อมทั้งขอความร่วมมือ บมจ.ปตท. นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 500-1,000 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 1 ก.ค.-30 ก.ย. 65

มาตรการด้านการคลังเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ

มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ

เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ให้หักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง

เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าวสำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็น

(1) จำนวน 2 เท่าของร่ายจ่ายตามที่จ่ายจริงสำหรับอบรมสัมมนาในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใด

(2) จำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริงสำหรับอบรมสัมมนาในจังหวัดอื่น ซึ่งมิใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใด ตาม (1) และ (3)

(3) ในกรณีที่การจัดอบรมสัมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ (1) และ (2) ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี และให้หักรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดเป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายจริง

ระยะเวลา 15 ก.ค. – 31 ธ.ค. 65

มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดนิทรรศการ และงานแสดงสินค้าภายในประเทศ

เพื่อเป็นการสนับสนุนการจัดนิรรศการและงานแสดงสินค้าภายในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการจัดงาน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าในประเทศ เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ระยะเวลา 15 ก.ค. – 31 ธ.ค. 65