สูตรหาร 500 รัฐบาลสมประโยชน์ เพื่อไทย-แตกพรรค ก้าวไกล-ได้แต้มสะสม

นำ
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ประกาศิตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เรียกประชุมแกนนำรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาลระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ศักดิ์สิทธิ์-มีอิทธิฤทธิ์

เพราะออร์เดอร์สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 ที่สั่งการโดย พล.อ.ประยุทธ์นำไปสู่การโหวตในที่ประชุมรัฐสภาทันที ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … มาตรา 23

ด้วยเสียงเห็นชอบ 392 ต่อ 160 เสียง

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาถึงที่รัฐสภาระบุว่า “หาร 100” ภายใต้วิธีคำนวณแบบ “สัมพันธ์ทางตรง” กับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2564 ที่เปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตร 2 ใบ เพิ่มจำนวน ส.ส.เขตเป็น 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 150 คน ลดเหลือเป็น 100 คน

ดังนั้น เมื่อที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกสูตรหาร 500 ตามออร์เดอร์ “พล.อ.ประยุทธ์” ระบบการเลือกตั้งจึงทวนเข็มกลับไปสูตร “จัดสรรปันส่วนผสม” แบบ “ส.ส.พึงมี” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับดั้งเดิม ที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล 20 พรรค โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่าย 3 ป.กุมอำนาจสูงสุด ต่างกันตรงที่มีบัตร 2 ใบกับจำนวน ส.ส.ที่เปลี่ยนไปเท่านั้น

เพื่อไทย-ไพบูลย์ ยื่นศาล รธน.

คล้อยหลังการโหวตไม่ถึง 12 ชั่วโมง พรรคเพื่อไทยประกาศยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าการใช้สูตรหาร 500 แบบจัดสรรปันส่วนผสมแบบบัตร 2 ใบ และการคำนวณ ส.ส.แบบพึงมีนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2564 หรือไม่

รวมถึงชี้ให้ศาลเห็นพฤติกรรมจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง มีผู้สั่งการ มีพรรคการเมืองที่รับคำสั่ง มีสมาชิกรัฐสภาที่รับคำสั่ง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะใช้กลไกผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เช่นเดียวกับ “โดดเดี่ยวผู้น่ารัก” อย่าง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหอกกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็น 1 ใน 2 คนของพรรค ยืนยันใช้สูตรหาร 100 ก็จะใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกทางหนึ่งด้วย

กกต.จะเป็นเด็กดี หรือเด็กดื้อ

อย่างไรก็ตาม เส้นทางต่อไปของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 3 จะต้องเดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (2) โดยจะต้องส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะองค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ แล้วส่งคืนมาที่รัฐสภา

โดย กกต.จะทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะในฐานะ “เจ้าของร่าง” ที่เสนอสูตรหาร 100 ผ่านคณะรัฐมนตรี แต่ถูกปรับหาร 500 กกต.จะยอมหรือไม่

ถ้า กกต.ยืนยันว่าสูตรหาร 500 ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2564 มาตรา 91 ที่กำหนดให้ใช้สูตรสัมพันธ์ทางตรงกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รัฐสภาจะต้องจัดประชุมใหม่อีกครั้งเพื่อจะพิจารณาว่าจะเอาอย่างไร แต่ไม่ได้มีผลผูกพันว่าจะต้องทำตาม กกต.

“รัฐสภาสามารถยืนยันใช้สูตรหาร 500 ได้ จากนั้นก็จะเข้าสู่นายกฯนำขึ้นทูลเกล้า โดยต้องรอไว้ 5 วันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 และ ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวน 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย และเป็นกรรมาธิการที่ชงสูตรหาร 500 กล่าวว่า ถ้า กกต.ทำตามนโยบายรัฐบาล กกต.เป็นเด็กดี ก็ต้องบอกสูตรหาร 500 ใช้ได้ เพราะตอนลงมติเด็กดีก็อยู่เต็มสภา

“ขู่” แตกแบงก์พัน

สำหรับเอฟเฟ็กต์สูตรหาร 500 ที่มีผลต่อกระดานการเมืองโดยเฉพาะแผนแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย อาจถึง “จุดจบ” ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาตัดสินใจโหวตเลือกสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 แทนที่จะเลือกสูตรหาร 100 ตามเกมถนัดของพรรคเพื่อไทย จริง ๆ แล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

เพราะพรรคเพื่อไทยแย้มไต๋ว่าจะตั้งพรรคเพื่อเก็บ ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยเฉพาะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า อาจจะมีพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งที่มุ่งรณรงค์เฉพาะบัญชีรายชื่อแบบไม่สนใจเขต เช่น การตั้ง “พรรคครอบครัวเพื่อไทย” ส่งบุคคลที่เราต้องการใส่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้เต็ม แล้ววางกลไกการรณงค์หาเสียงให้เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อย่างเดียว และให้มาเลือก ส.ส.เขตของพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยจะรณรงค์ให้เลือกเฉพาะ ส.ส.เขตเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน กลไกนี้อาจจะได้ผลที่เขาคิดไม่ถึงเกี่ยวกับการหาร 500

ทักษิณเชื่อใจเพื่อนฝ่ายค้าน

ก่อนหน้านี้ “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่พรรคเพื่อไทย พูดในรายการคลับเฮาส์ของกลุ่มแคร์ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง พรรคก้าวไกลก็อาจจะได้มากขึ้น แต่ยังไงพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็รวมกันได้เกิน 300 อยู่ดี

“มันอยู่ที่แนวคิดว่าเพื่อไทยจะวางตัวเองว่า ได้กี่เสียง สมมุติว่ามีโหวตเตอร์ 30 ล้านคนหาร 500 ก็คือ 6 หมื่นเสียง สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยได้ 15 ล้านเสียง ซึ่งไม่น่าไกลเกินฝัน แต่ได้ ส.ส.เขตมาแล้ว 200 เอา 6 หมื่นหาร 15 ล้านได้ 250 ที่นั่ง ได้ปาร์ตี้ลิสต์อยู่ 50 ก็ถือว่าไม่ขี้ไก่นะ แต่อยู่ที่กรอบคิดนะ เขาต้องคิดเอง ส.ส.เขตได้ยังไง แต่ผมว่าคงไม่น่ามีปัญหา”

เพื่อไทยเสียหายไม่มาก

ในมุมคนกลางอย่าง “สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนายการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เจ้าพ่อคำนวณคะแนนเลือกตั้ง วิเคราะห์สูตรหาร 500 ว่า พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบนิดหนึ่งแต่ไม่เยอะ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญตั้งธงเป็นบัตร 2 ใบ จึงกำหนดให้มี ส.ส.เขตเยอะ 400 คน

ถ้าเทียบกระแสกับตอนเลือกตั้งปี 2554 ที่พรรคเพื่อไทยตอนรุ่ง ๆ แลนด์สไลด์ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยอาจจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 40% เท่ากับ 40 คน บวก ส.ส.เขตที่น่าจะได้ 210 คน ก็เป็นแลนด์สไลด์ 250 ที่นั่ง

ถามว่าเสียหายไหม เสียหายไม่เยอะ แต่ 40% ก็กระจายไปยังพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พวกเดียวกันเองได้อีก ถ้าพรรคเพื่อไทยเน้นเขตอย่างเดียวก็อาจจะได้ ส.ส.เกิน 200 เขตได้ ดังนั้น เมื่อเขตเยอะ พรรคเพื่อไทยก็ควรลุยเขตให้เต็มที่

ส่วนแผนสำรอง “แตกพรรค” ของพรรคเพื่อไทยอย่าง “พรรคครอบครัวเพื่อไทย” นั้น “สติธร” มองว่า คิดวันนี้ไม่ทันแล้วเพราะมีพรรคสายเดียวกันอย่างพรรคก้าวไกลรอเก็บคะแนนอยู่แล้ว ถ้าพรรคเพื่อไทยขยับแล้วคนไปเลือกพรรคก้าวไกลหมดทำอย่างไร “พอไปขายบัญชีรายชื่อต้องไปสร้างคนดึงดูดให้คนมาเลือกให้ได้ ดังนั้น พูดเป็นยุทธศาสตร์ขู่พอได้ แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ง่าย และความเป็นจริงก็ไม่ควรต้องทำ เพราะแบ่งให้เพื่อนก็ได้ เช่น พรรคเสรีรวมไทย เพื่อนรักรอเก็บแต้มบัญชีรายชื่ออยู่แล้ว”

พลังประชารัฐโชว์ดูดคืน

ส่วนพรรคพลังประชารัฐเขาแค่ลดความเสียเปรียบมากมาเหลือเสียเปรียบน้อย เพราะไม่ว่าสูตรไหนก็เสียเปรียบหมด เมื่อไปพลาดเกมเพิ่ม ส.ส.เขตจาก 350 มาเป็น 400 คน เพราะมั่นใจว่า ส.ส.เขตตัวเองแข็งแล้ว แต่วันนี้กลับเริ่มไม่มั่นใจตัวเอง ก็ต้องกลับไปสูตรหาร 500

พลังประชารัฐอาจต้องมาพลิกเกมภายในพรรคใหม่ ดูด ส.ส.เขตที่เก่ง ๆ มาสู้ และเก็บคะแนนตกน้ำตามสูตรเดิม แม้พรรคพลังประชารัฐอาจไม่ได้ลุ้นเท่าเดิม แต่ก็จะมีคะแนนตกน้ำกระจัดกระจายไปหาพรรคเล็กพรรคน้อย พรรคเปิดตัวใหม่ทั้งหลาย ไม่ว่าพรรคกล้า พรรคไทยสร้างไทย ก็จะแฮบปี้ ส่วนพรรคจิ๋วทั้งหลายก็แฮปปี้เหมือนกัน

“คบพวกนี้ไว้เป็นเพื่อนดีกว่า รวม ๆ กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน พรรคพลังประชารัฐต้องการค่า 126 เสียง บวกกับ 250 เสียง ส.ว.เพื่อตั้งรัฐบาล เมื่อตั้งรัฐบาลได้ค่อยมาดึงภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลเหมือนเดิม” สติธรวิเคราะห์

และสูตรแบบนี้ก็เข้าทางพรรคภูมิใจไทยหน่อย ๆ ด้วย รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่ระยะหลังไม่ค่อยแข็งมากก็อาจจะชอบสูตรแบบนี้ สมประโยชน์กันหมดทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้ทำให้พรรคพลังประชารัฐแข็งแกร่งอันดับ 1 แต่ทำให้พรรคเครือข่ายตอนนี้แฮบปี้หมด และมีที่นั่ง ส.ส.หวังรวมกันอาจจะได้ถึง 250 เสียง หรือถ้ารวมกันแล้วไม่ถึงก็ชูนายกฯไว้ก่อนแล้วค่อยไปช้อนซื้องูเห่าตอนตั้งรัฐบาลก็ยังทัน

ส่วนพรรคภูมิใจไทยคาดว่าได้เท่าเดิม การันตีที่ 52 เสียง และมีแนวโน้มมากกว่าเดิม เมื่อได้ ส.ส.เขตตัวแข็ง ๆ มาเพิ่ม คะแนนรวมอาจจะได้ 4 ล้านเสียงต้น ๆ ประมาณ 10% การันตี 50 ที่นั่ง

“ภูมิใจไทยเป็นพรรคที่เล่นเป็น เขาจะต้องไปทุ่มกับบัตรบัญชีรายชื่อด้วย 50 ที่นั่ง เขาลุ้นทั้ง 2 บัตร แต่เอาแบบที่มั่น ๆ ในมือ คือ 40 คนใน ส.ส.เขตต้องมี และบัญชีรายชื่อถือเป็นโบนัส ภูมิใจไทยปรับตัวได้กับทั้ง 2 สูตร แต่ที่น่าหนักใจหน่อย คือ พรรคประชาธิปัตย์”

ส่วนพรรคเล็ก ๆ ชอบมาก เพราะถ้าได้คะแนนในบัตรบัญชีรายชื่อเขตละ 150 คะแนนทั่วประเทศ ก็ได้ 6 หมื่นคะแนนแล้ว ง่ายกว่าตอนการเลือกตั้ง 2562 ที่มีบัตรใบเดียว แต่เมื่อเป็นบัตร 2 ใบก็สามารถสมัครเลือกตั้งที่ส่วนกลาง ก็มีบัตรบัญชีรายชื่อให้คนกาทั่วประเทศ


ดังนั้น สูตรหาร 500 จึงสมประโยชน์พรรครัฐบาลทุกฝ่าย