วาโย ก้าวไกล อัดอนุทินจงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมาย ควบคุมกัญชา

หมอวาโยอภิปรายไม่ไว้วางใจอนุทิน สร้างสุญญากาศทางกฎหมาย ควบคุมกัญชา ออกประกาศปาหี่ไม่มีสภาพบังคับจริง

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ประเด็นจงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชา จนทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน เสี่ยงมีปัญหาทางการทูต การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

นพ.วาโยกล่าวว่า ในขณะที่นายอนุทินอ้างว่า การปลดล็อกกัญชานั้นเป็นการปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ที่ผ่านมา นายอนุทินได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนว่าทุกคนจะปลูกกัญชาได้จนร่ำรวย สามารถนำกัญชาไปผสมอาหารหรือเสพได้ ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกัญชาทางการแพทย์เลย

ที่ผ่านมากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 กระทั่ง 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่เริ่มปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ โดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 จากนั้นไม่นานนายอนุทินเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 และได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ว่า วัตถุหรือสารในพืชกัญชา ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการประกาศให้ใช้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ฉบับใหม่นั้นให้อำนาจ รมว.สาธารณสุข สามารถระบุชื่อยาเสพติดให้โทษได้ นายอนุทินจึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 โดยไม่ได้รวมส่วนของพืชกัญชา เช่น ดอก กิ่ง ก้าน ราก ใบ เข้าเป็นยาเสพติดให้โทษ

แต่นับเฉพาะสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่มี THC เกิน 0.2% และไม่ได้รับอนุญาตให้สกัด หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชา กัญชงที่ปลูกในต่างประเทศ ที่ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษ โดยประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ภายหลังในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เมื่อพืชกัญชาและกัญชงได้ถูกปลดล็อกไปแล้ว แต่กลับไม่มีกฎกระทรวง หรือกฎหมายย่อยใด ๆ เข้ามาควบคุมการใช้ประโยชน์ทางสันทนาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมอายุของผู้ครอบครอง การซื้อขาย หรือการควบคุมการใช้ส่วนของกัญชานอกเหนือจากจุดประสงค์ทางการแพทย์ เกิดเป็นสุญญากาศทางกฎหมาย จนสร้างความกังวลให้กับประชาชนจำนวนมาก

“นายอนุทินจึงออกประกาศปาหี่ตบตาประชาชน แสร้งว่ามีการควบคุมแล้ว ด้วยประกาศเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งไม่มีสภาพบังคับใช้จริง และประกาศเป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามจำหน่ายให้กับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์เท่านั้น” นพ.วาโยกล่าว

นพ.วาโยกล่าวว่า นายอนุทินจงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมาย เพราะในระหว่างที่ปลดล็อกกัญชากัน กลับเพิ่งมีการยื่นร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เข้าสภาในวันที่ 26 มกราคม 2565 เมื่อเป็นร่างเกี่ยวด้วยการเงินก็ต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่รัฐมนตรีประกาศปลดกัญชาออกจากยาเสพติด

เมื่อนายกรัฐมนตรีอนุมัติและส่งกลับมาก็ปิดสมัยประชุมไป 3 เดือน เพิ่งจะได้บรรจุเข้าวาระปลายเดือนพฤษภาคม และรัฐสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรือเพียง 1 วันก่อนครบกำหนด 120 วันที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติด

“ทำไมท่านไม่แก้ไขประกาศสาธารณสุขวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ยืดระยะเวลาออกไปจาก 120 วันแค่นั้นเอง หรือหลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์เห็นแล้วว่ากฎหมายผ่านไม่ทัน ท่านก็แค่ยกเลิกประกาศให้ใช้ประกาศเดิม รอจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมกัญชาแต่ท่านไม่ทำ” นพ.วาโยกล่าว

ที่ผ่านมานายอนุทินส่งเสริมการผลิตกัญชา โดยอ้างว่าเพื่อรองรับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ โดยผูกให้วิสาหกิจชุมชน 1 แห่งทำร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1 แห่งเท่านั้น และให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับซื้อ แต่สุดท้าย อย.ไม่ได้รับซื้อในจำนวนที่คาดไว้ เพราะหมอไม่ใช้ นักวิจัยไม่เขียนโครงการ จึงต้องหาช่องทางปล่อยของ

พรรคก้าวไกลสนับสนุนการปลดล็อกกัญชาทั้งทางการแพทย์และเพื่อสันทนาการ แต่จำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสม เพราะแม้กัญชาจะมีประโยชน์ในการรักษาบางโรค แต่ก็มีหลักฐานยืนยันโทษของกัญชาเช่นกัน โดยเฉพาะกับพัฒนาการของเด็กและเยาวชน


นอกจากนี้ การปล่อยให้ไม่มีการควบคุมกัญชาจนร้านค้านำไปผสมอาหารโดยไม่แจ้งผู้บริโภค จนทำให้เกิดความหวาดกลัวผลข้างเคียงของกัญชา ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือท่องเที่ยวไทยก็กลัวว่าหากกินอาหารที่ผสมกัญชาเข้าไปโดยไม่รู้ตัวก็อาจเกิดปัญหากับประเทศต้นทาง จนอาจกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยอย่างมากด้วย