ประยุทธ์ เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง 10 รัฐมนตรี แก้วิกฤตน้ำมัน สินค้าแพง

ประยุทธ์ เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง 10 รัฐมนตรี แก้วิกฤตน้ำมัน สินค้าแพง

นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง 10 รัฐมนตรี และ 7 ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ พร้อมอนุกรรมการอีกชุด แก้วิกฤตน้ำมัน สินค้าแพง

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 170/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ความว่า

โดยที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทย ทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยต้องประสบปัญหาที่กระทบต่อต้นทุนราคาพลังงานและวัตถุดิบ

ส่งผลต่อการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในห่วงโซ่การเกษตรอันส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน

เพื่อให้การบริหารสถานการณ์และการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างบูรณาการ ทันต่อสถานการณ์ และสามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีองค์ประกอบ และหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ 10 รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจร่วมเป็นกรรมการ ดังนี้

    1. นายกรัฐมตรี ประธานกรรมการ
    2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) รองประธานกรรมการ (1)
    3. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) รองประธานกรรมการ (2)
    4. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) รองประธานกรรมการ (3)
    5. รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) รองประธานกรรมการ (4)
    6. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) รองประธานกรรมการ (5)
    7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ
    8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
    9. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรรมการ
    10. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
    11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ

นอกจากนี้ ยังมีปลัดกระทรวงอีก 7 แห่ง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสภาพัฒน์ ร่วมเป็นกรรมการ

โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ กำหนดแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้คลี่คลายลงโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด

และกำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อน ในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี

รวมทั้งกลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบของสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อรวบรวมข้อมูล สนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ราคาพลังงาน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

คำสั่งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ

ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ /2565 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ลงวันที่ กรกฎาคม พ.ศ. 2565 นั้น

เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในส่วนของการเตรียมแผนรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ การกำหนดแนวทางการบูรณาการ และการขับเคลื่อนให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม รวมทั้งให้การกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2.5 ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ลงวันที่ กรกฎาคม พ.ศ. 2565 นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ จึงตั่งแต้งคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีองค์ประกอบ และหน้าที่อำนาจ ดังนี้

สำหรับองค์ประกอบของอนุกรรมการมีดังนี้

    1. ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานอนุกรรมการ
    2. รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มอบหมาย รองประธานอนุกรรมการ คนที่ 1
    3. รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มอบหมาย รองประธานอนุกรรมการ คนที่ 2
    4. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ อนุกรรมการ
    5. ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อนุกรรมการ
    6. ผู้แทนกระทรวงคมนาคม อนุกรรมการ
    7. ผู้แทนกระทรวงพลังงาน อนุกรรมการ
    8. ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ อนุกรรมการ
    9. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย อนุกรรมการ
    10. ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม อนุกรรมการ

โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ติดตาม และตรวจสอบ วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ

และกลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ

รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ