วิบากกรรม 7 รัฐมนตรีที่ ป.ป.ช. สู้คดีทุจริต ซุกหุ้น ผลประโยชน์ทับซ้อน

รอง

เหมือนเป็นเรื่อง “รูทีน” หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกอย่างหนักหน่วงในเวทีสภาผู้แทนราษฎร จะต้องไปแก้ต่างความผิดในสนามแห่งการตรวจสอบอีกชั้น

เพราะฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนความผิด

ในศึกซักฟอกครั้งที่สี่ อันเป็นครั้งสุดท้ายในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายค้านจองชื่อรัฐมนตรีที่เตรียมยื่นเอาผิด ป.ป.ช.ไว้อย่างน้อย 7 คน

พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกอภิปรายกรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ซึ่งพรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล เตรียมเขียนสำนวนยื่น ป.ป.ช.โดนอย่างน้อย ๆ 2 คดี

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตถุงมือยางภาค 2 ที่พรรคเพื่อไทยเปิดเส้นทางการฟอกเงินทั้งใน-ต่างประเทศ โดย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย คนเปิดประเด็นมั่นใจพยานหลักฐานการโอนเงินกว่า 1.8 พันล้านบาท

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากถูกลากเรื่อง “ใต้เตียง” ปมการแต่งตั้งเพื่อนสาวคนสนิทเข้าไป “รับงาน” ในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังมีส่วนในการล็อกสเป็กการสร้างศูนย์ดิจิทัลชุมชน 500 แห่ง

“นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ถูกกล่าวหาเรื่องจงใจใช้อำนาจหน้าที่ในการกำกับกรมที่ดิน ออกโฉนดเพื่อเอื้อให้กับนายทุน พวกพ้องและเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง นายทุนอสังหาฯ เจ้าของโรงแรม

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ถูกกล่าวหาเรื่องกรณีใช้นอมินี “ซุกหุ้น” หจก.บุรีเจริญ ซึ่งไม่มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช.

“จุติ ไกรฤกษ์” รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถูกกล่าวหาเรื่องการตั้งคนสนิทของตนเอง นั่งบอร์ดการเคหะแห่งชาติ (กคช.) พร้อมให้บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) รับเหมาทุกโครงการของ กคช.

“สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง ถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริตประมูลโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (ท่อส่งน้ำอีอีซี) ที่มีการดำเนินโครงการในลักษณะเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุน รวมทั้งมีการดำเนินการเอื้อประโยชน์เอกชนที่ไม่มีศักยภาพมาบริหารโครงการ

มีข้อสังเกตว่า ในอดีตฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.สอบสวนการทุจริต ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง

แบ่งเป็น ครั้งที่ 1.กรณีที่ “บ้านพักทหาร” หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์เกษียณอายุราชการแล้ว โดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ถือเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ

2.กรณี พล.อ.ประยุทธ์สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กรณีซื้อรถถังของประเทศยูเครน 7,000 ล้านบาท แบบรัฐต่อรัฐ (G to G) แต่พบว่ามีนายหน้าคนไทยไปเป็นตัวแทนเจรจา แทนที่จะเป็นการซื้อระหว่างรัฐต่อรัฐ

3.กรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี-นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กรณีช่วยเหลือคดีของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส นำเข้าบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร และสำแดงเท็จ

ย้อนไปหลังการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 ฝ่ายค้านยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ 1.ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรณีจงใจร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปกปิดการกระทำทุจริตในหน่วยงานของรัฐ และละเว้นไม่ระงับยับยั้งความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตปมถุงมือยาง

2.ฟ้องนายจุรินทร์ ในฐานะผู้กำกับดูแลองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีเอื้อประโยชน์แต่งตั้งคนสนิทและผู้ช่วย ส.ส. โดยไม่มีคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถเฉพาะตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นประธานคณะกรรมการ อคส. และภายหลังแต่งตั้งมีการจัดทำสัญญาลวงซื้อขายถุงมือยางของ อคส.มูลค่า 112,500 ล้านบาท มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท

3.ฟ้องนายศักดิ์สยาม ทุจริตต่อหน้าที่ กรณีที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่พบว่ามีเครือญาติของนายศักดิ์สยาม เข้าครอบครองที่ดินจำนวนกว่า 5,000 ไร่ ทั้งที่เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามของรัฐ แต่รัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย กลับไม่เพิกถอนโฉนด ตามที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา

4.ฟ้องนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กรณีเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และมีผลประโยชน์ทับซ้อน

5.ฟ้องนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ กรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแต่งตั้งนายธนพร สมศรี โดยมิชอบ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการไปจนถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

ครั้งที่ 3 ฝ่ายค้านยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบไว้ 4 เรื่อง 1.เรื่องการบริหารราชการที่ผิดพลาด ล้มเหลว ทุจริตต่อหน้าที่เรื่องโควิด โดยเป็นประเด็นเกี่ยวกับการบริหารวัคซีนที่ผิดพลาด การทุจริตในการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค และการผูกขาดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

2.ทุจริตการจัดซื้อชุดตรวจ ATK 3.การใช้วัคซีนที่ไร้คุณภาพมาฉีดให้พี่น้องประชาชน และ 4.การทุจริตสต๊อกยางพารา และการเอื้อประโยชน์ให้เกิดการทุจริต

จากนี้ไป 7 รัฐมนตรีต้องสู้คดีใน ป.ป.ช. ซ้ำดาบสองอภิปรายไม่ไว้วางใจ