“ศิริกัญญา” พรรคก้าวไกล ไม่ค้าน รัฐบาลกู้เพิ่ม

สัมภาษณ์พิเศษ
ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

“ศิริกัญญา ตันสกุล” หัวโขนหลักเธอเป็นรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหางเสือ-คุมทิศทางนโยบายของพรรคคนรุ่นใหม่

อีกหัวโขนในสภาผู้แทนราษฎร คือประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนา “ศิริกัญญา” หากก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะออกมาตรการแก้โควิด-19 อย่างไร

ชงมาตรการ “ทำทันที”

“ศิริกัญญา” เปิด “จุดอ่อน” ในการบริหารจัดการแก้โควิด-19 ของรัฐบาลว่า มาตรการที่ออกมาเพื่อการควบคุมโควิด-19 ที่ให้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดไปออกประกาศเองโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อ จนเกิดความสับสนคลุมเครือ ความลักลั่นของแต่ละจังหวัดที่ออกมาตรการไม่เหมือนกัน

บางจังหวัดแม้เป็นพื้นที่สีแดงที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเยอะ ก็มีมาตรการที่ค่อนข้างเข้มงวด ส่วนพื้นที่สีส้มที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ หรือมีผู้ติดเชื้อน้อยมาก บางจังหวัดเริ่มปิดสถานศึกษา หรือจำกัดเวลาเปิดปิดของร้านอาหารแล้ว ทำให้สุดท้ายเราแทบไม่เห็นความคงเส้นคงวาของมาตรการ ทำให้เกิดความสับสนของประชาชน

ดังนั้น “ก้าวไกล” เสนอให้ทำทันทีในพื้นที่สีแดงเข้ม “จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”

1.ต้องเปิดเผยข้อมูล สื่อสารทำความเข้าใจ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้น่ากลัว ถ้าเตียงพอ ยาพอ หมอพอ

2.ต้องทบทวนประกาศของทางจังหวัดทั้งหมด ทำให้มีความคงเส้นคงวาระหว่างจังหวัดมากขึ้น ถ้าศักยภาพสาธารณสุขรับไหวต้องคลายล็อกทันที

3.ต้องจ่ายชดเชยทันทีให้กับสถานประกอบกิจการที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว

เยียวยาถ้วนหน้ากลุ่มสีแดงเข้ม

ศิริกัญญาย้ำว่า กลุ่มที่ต้องเยียวยาทันทีคือ กลุ่มที่อยู่ในสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิด ผับ บาร์ สถานออกกำลังกายสถานศึกษา ซึ่งเป็นกิจการสุดท้ายที่ให้เปิดเสมอ ส่วนคนที่เป็นระลอกที่สองคือ คนที่หาเช้า-กินค่ำ

“5 จังหวัดสีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ควรที่จะเริ่มจ่ายเยียวยาในระยะแรกไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์สิทธิก็ต้องจ่ายแบบถ้วนหน้า”

ระบาดไม่หนัก ต้องคลายล็อก

4.จังหวัดที่เหลือที่ประกาศเป็นจังหวัดสีแดง หรือ “จังหวัดควบคุมสูงสุด” ต้องดูว่ากิจกรรมเศรษฐกิจชะลอตัวหรือไม่ ถ้าลดลงถึงระดับหนึ่งเมื่อไหร่ต้องเยียวยาให้ประชาชนถ้วนหน้าทันที

แต่เมื่อแนวโน้มการระบาดอาจกระจายไปทั่วทุกที่ สุดท้ายแล้วจำเป็นต้องเยียวยาถ้วนหน้าหมดทั้งประเทศหรือไม่ “ศิริกัญญา” เห็นว่า ด้วยความที่แพร่ระบาดไปทุกที่ แต่ไม่ล็อกดาวน์เข้มข้นทุกที่ ดังนั้น ถ้าจังหวัดไหน เตียงพอ หมอพอ ยาพอต้องคลายล็อกทันที และให้ใช้ชีวิตอย่างปกติ อย่ากังวลกับตัวเลขติดเชื้อมากเกินไป

“ดังนั้น ถ้าพื้นที่ไหนตัวเลขติดเชื้อต่ำ แต่สาธารณสุขมีศักยภาพสูง คลายล็อกทันที ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลก็จะทำวิธีนี้”

ไม่ต้องจ่าย 5 พัน แต่ต้องทั่วถึง

“ศิริกัญญา” ขอถอดบทเรียนจากการเยียวยารอบแรกว่า มีความผิดพลาดหลายประการ ที่ทำให้ล่าช้า ครั้งนี้ต้องประเมินเป็นรายพื้นที่ เพราะ 5 พันบาทรอบที่แล้วเกิดจากการล็อกดาวน์เศรษฐกิจแบบเข้มข้น

ดังนั้น เม็ดเงินต้องดูตามความเหมาะสม อาจไม่ต้องถึงตัวเลข 5 พัน แต่ต้องมีความทั่วถึง

นอกจากนี้ ในการเยียวยารอบแรกยังไม่มีมาตรการชดเชยความเสียหาย หรือเยียวยาโดยตรงกับผู้ประกอบการเลย มีแต่ช่วยเหลือทางการเงินซึ่งเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) พักชำระหนี้ มาถึงครั้งนี้รัฐบาลต้องกล้าจ่าย หากไปประกาศปิดกิจการเขา 1 เดือนก็ต้องเริ่มจ่ายชดเชย

รอบนี้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และมีคนเลิกหางานไปเลย รวมแล้วประมาณ 1 ล้านคน ต้องหาทางชดเชย

ก้าวไกลไม่ค้านรัฐบาลกู้เพิ่ม

รัฐบาลประกาศว่า เรื่องเงินเยียวยาไม่ใช่ปัญหา เพราะใน “เก๊ะ” งบประมาณมีทั้ง งบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น จำนวน 1.39 แสนล้านบาท และงบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ที่ยังเหลืออยู่จำนวน 4.7 แสนล้านบาท และงบฯลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจปี’64 จำนวน 2.9 แสนล้านบาท

“ศิริกัญญา” เห็นตรงกันว่ารัฐบาลมีใช้เงินเพียงพอ แต่จะออกมาได้ทันหรือเปล่า เช่น 4.7 แสนล้าน ยังไม่ได้กู้ ต้องให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะกู้มาก่อน ก้าวไกลเช็กให้แล้วว่าสามารถที่จะกู้จากตลาดในประเทศได้ เพราะสภาพคล่องมีเพียงพอ และตลาดพันธบัตรมีอัตราผลการตอบแทนที่ต่ำลง สามารถระดมทุนออกพันธบัตรรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว

“สำหรับงบประมาณ 3 กระเป๋านี้ไม่น่าเป็นปัญหา แต่จะเพียงพอหรือไม่สำหรับสเต็ปต่อไป เพราะถ้าเอาเงิน 4.7 แสนล้านของเงินกู้ 1 ล้านล้านมาทั้งหมด เท่ากับว่าเงินที่จะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปก็จะไม่มีแล้ว และจะเอาเงินมาจากไหน”

เธอเสนอทางออกที่ต้องทำไปควบคู่กัน 1.เริ่มคิดเกลี่ยงบประมาณ 2564 2.ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ “ก็ต้องกู้อีกรอบ” เรื่องหนี้สาธารณะต่อจีดีพีมาก พยายามจะไม่ให้ทะลุ 60% แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรกังวลมากนัก

“ดอกเบี้ย เงินต้นตัวเลขทั้ง 2 ก้อนอยู่ที่ 11% ของงบประมาณรายจ่าย ยังถือว่าต่ำกว่ากรอบ 15% ถือว่าพอไปได้ ไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลกลัว “ผลกระทบทางการเมือง” หากรัฐบาลกู้รอบ 2 “ศิริกัญญา” ให้แง่คิดว่า ต้องดูท่าทีรัฐบาลจะกังวลผลทางการเมืองมากไปจนทำให้ไม่ยอมทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือเปล่า

แต่ที่ผ่านมารัฐบาลตระหนี่ถี่เหนียวมากเกินไป พยายามรัดเข็มขัดตัวเองมากเกิน ไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยเยียวยาก็ใช้ไม่หมด แผนฟื้นฟูก็อนุมัติช้า

“ถ้าเป็นฝ่ายค้านต้องด่าเรื่องกู้ใช่ไหม…แต่ก้าวไกลไม่เคยด่าเรื่องกู้เงินเพิ่มเลย เพราะเรารู้ว่าเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ปัญหาปากท้องประชาชนต้องแก้ไขโดยด่วนก่อนที่จะเป็นแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย”

แต่เรื่องสำคัญกว่านั้นคืองบประมาณรายจ่ายประจำปี’64 และปี’65 ซึ่งมีเพดานการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลอยู่ ถ้ากู้จนเต็มอัตราแล้ว แต่จัดเก็บภาษีไม่ถึงเป้า จะทำให้เราไม่สามารถจ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีโอกาสที่รัฐบาลจะมีภาวะชอร์ตเงิน หรือเงินตึงตัว เป็นสัญญาณบอกแล้วว่าจะมีการกู้อีก 1 รอบ นอกเหนือเงินกู้จาก 1 ล้านล้าน

วัคซีนได้ผล เศรษฐกิจฟื้น

“ศิริกัญญา” เชื่อว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจปี 2564 หากวัคซีนมาถึงและใช้ได้ผล จะทำให้คนคลายกังวลมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นด้วยส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดี

“ดังนั้น ภาพรวมปี’64 หากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดได้ภายในไตรมาสแรกของปี บวกกับวัคซีนฉีดได้ครอบคลุมปลายปีนี้ มีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาในช่วงไตรมาสสุดท้ายได้ประมาณ 2-3 ล้านคน ก็จะทำให้เศรษฐกิจพอจะฟื้นตัวต่อได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่อาจไม่ดีเท่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 4% หากน่าจะถึงเกือบ ๆ 3%”

“แต่ถ้าจะสะดุดก็จะเกิดจากการแพร่ระบาดเอาไม่อยู่นำไปสู่การล็อกดาวน์ที่เข้มข้นมากกว่านี้ วัคซีนไม่อาจฉีดได้ครบ นักท่องเที่ยวจะยังไม่มา เราอาจเห็นการฟื้นตัวที่ต่ำกว่าเป้าหมายมาก ปี 2563 แย่สุดแน่นอน แต่ปี 2564 ต้องเป็นบวกกว่าปีที่แล้วแน่นอน แต่จะบวกไม่มากอาจบวกแค่ 2%” ศิริกัญญาทิ้งท้าย