รัฐบาลระดมมาตรการสู้โควิด แจกเงิน “เราชนะ”- อุ้มพักหนี้

เครดิตภาพ : ศูนย์ COVID-19

รัฐบาลระดมมาตรการรับมือโควิด-19 รอบใหม่ ทั้งแจกเงินเยียวยา และลดค่าน้ำ-ค่าไฟให้ครัวเรือนและเอสเอ็มอี นายกฯเคาะจ่ายเยียวยาประชาชนผ่านโครงการ “เราชนะ” 3,500 บาท 2 เดือน คลังจัด 4 มาตรการขยายเวลาลดภาษีที่ดิน-ลดค่าธรรมเนียมโอนเหลือ 0.01% แบงก์รัฐเร่ง “พักหนี้-เติมสภาพคล่อง” อุ้มรายย่อย-เอสเอ็มอี

บิ๊กตู่แจก 3,500 บาท 2 เดือน

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้มีการอนุมัติหลายโครงการ โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19

“ครม.ได้อนุมัติเงินเยียวยาประชาชน จำนวน 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งมีรูปแบบเยียวยาในอาชีพ คือ แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม” นายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า

แถลงมาตรการรัฐบาล

 

ลดค่าน้ำ-ค่าไฟประชาชน-SMEs

มาตรการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอี ประกอบด้วย 1.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป ช่วยเหลือค่าใช้น้ำประปา ลดร้อยละ 10 ระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าประปาประจำเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2564 โดยมีผู้ได้รับสิทธิประเภทที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 6.76 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 395 ล้านบาท

และมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ประจำเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2564 โดยกลุ่มใช้น้อยกว่า 150 หน่วย ฟรี 90 หน่วยแรกทุกราย จำนวน 10.13 ล้านราย มูลค่า 3,650 ล้านบาท กลุ่มใช้เกิน 150 หน่วย ปรับขั้นส่วนลดใหม่ 11.83 ล้านราย มูลค่า 3,752 ล้านบาท และสำหรับกิจการขนาดเล็ก ฟรี 50 หน่วยแรกทุกราย จำนวน 1.74 ล้านราย วงเงิน 800 ล้านบาท

ส่วนมาตรการช่วยเหลือค่าอินเทอร์เน็ต มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ประสานขอความร่วมมือผู้ให้บริการในการพิจารณามาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน

 

มาตรการเยียวยาโควิด

ระดมมาตรการรับมือ

2.มาตรการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 กระทรวงพาณิชย์ประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3.มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้พื้นที่ในโรงงานของตัวเองเป็นสถานที่กักตัว (factory quarantine) กระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ

4.ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อช่วยลดผลกระทบให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการที่ประสบปัญหาและมีข้อจำกัดการเดินทางในช่วงที่ยังมีการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในระลอกใหม่

ต่อชีวิตลูกหนี้แบงก์-ดูแลจ้างงาน

5.มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลังประสานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือและเตรียมมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม

6.มาตรการช่วยเหลือด้านแรงงานเพิ่มเติม โดยกระทรวงแรงงานติดตามและเร่งรัดดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ยอมรับพื้นที่สีแดงเศรษฐกิจทรุด

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่แม้จะไม่มีการปิดสถานที่ต่าง ๆ เป็นวงกว้าง ไม่จำกัดการเดินทางออกนอกเคหสถาน เหมือนการระบาดเมื่อปีก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนยังดำเนินต่อไปได้ ยอดค่าใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่ง ยังอยู่ในระดับเดียวกับก่อนการระบาด แต่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงที่มีการควบคุมระดับสูงสุด ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการ และพนักงาน ลูกจ้าง

“รัฐบาลกำลังประเมินสถานการณ์การระบาดเพื่อกำหนดมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะการช่วยเหลือเงินเยียวยาค่าครองชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบนี้ คาดว่าภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้จะมีความชัดเจน และมีมาตรการออกมาได้” นายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า

โดยสรุป ครม.มีมติอนุมัติมาตรการบรรเทาผลกระทบในระยะเร่งด่วน 3 ส่วนหลัก คือ 1.มาตรการเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน 2.มาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงาน การลดส่งเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์การว่างงาน 3.มาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดยการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าอินเทอร์เน็ต

ย้ำเงินไม่มีปัญหา

“อีกเรื่องที่จะต้องขอย้ำคือ รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลเศรษฐกิจในรอบการระบาดใหม่นี้ เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า เราใช้ไป 5 แสนกว่าล้านบาท ยังเหลือประมาณ 4.9 แสนล้านบาท”

นอกจากนี้ ยังมีงบฯกลางของงบประมาณปี 2564 อีกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน และเร่งด่วน รวมกันแล้ว 6 แสนล้านบาท เรื่องเงินไม่มีปัญหา จะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และทันการณ์ นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

ลงทะเบียนรับเงิน “เราชนะ”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมี 4 มาตรการ โดยมาตรการแรก “คนละครึ่ง” จะเปิดให้ลงทะเบียนเก็บตกสิทธิ์ที่คงเหลือ จากเฟสแรกและเฟสสองรวมกัน 1 ล้านสิทธิ์ ในวันที่ 20 ม.ค. หลังผ่านครม. 19 ม.ค. จากนั้นจะเริ่มให้ใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.เป็นต้นไป

มาตรการที่สอง เป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ ซึ่ง ครม.เห็นชอบให้จ่ายเงินบรรเทาความเดือดร้อน คนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งจะเสนอ ครม.สัปดาห์หน้าเช่นกัน โดยจะให้ลงทะเบียนผ่านโครงการ “เราชนะ” ซึ่งจะพยายามเปิดให้ลงทะเบียนภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ หรืออย่างช้าไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.

ลดภาษีที่ดิน-ค่าโอน

มาตรการที่สาม การช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% (ชำระ 10%) ต่อไปอีก 1 ปี พร้อมลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์เหลือ 0.01% ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้จะเสนอ ครม.ใน 2 สัปดาห์

และมาตรการที่สี่ เป็นมาตรการด้านการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง หลังมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป หมดอายุตั้งแต่ ต.ค. 2563 โดยมีทั้งการเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีและประชาชน รวมถึงการพักหนี้ และบรรเทาภาระหนี้ ซึ่งจากมาตรการต่าง ๆ ปัจจุบันยังมีวงเงินให้สินเชื่อเหลืออยู่ประมาณ 2.68 แสนล้านบาท จะนำมาให้การช่วยเหลือในช่วงที่มีการระบาดของโควิดรอบใหม่นี้

“จากวงเงินดังกล่าว ครม.ได้อนุมัติให้ธนาคารออมสิน กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขยายเวลารับสินเชื่อจนถึง 30 มิ.ย. 2564 ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ได้ขยายให้จนถึง มิ.ย. 2564 อยู่แล้ว”

ปรับแผนหนี้สาธารณะ

นายอาคมกล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือเรื่องการปรับแผนหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2564 โดยส่วนหนึ่งได้หารือถึงเม็ดเงินที่จะใช้ดูแลสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 มีการใช้วงเงินไป แต่ยังมีวงเงินเหลือ ซึ่งจะปรับวงเงินมาใช้ในปีงบประมาณ 2564 นี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า เดิมในปีงบประมาณ 2563 มีการตั้งเป้ากู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จำนวน 4.5 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายมีการกู้จริงไปเพียงกว่า 3.7 แสนล้านบาท ทำให้ยังมีวงเงินส่วนนี้เหลืออยู่กว่า 7.6 หมื่นล้านบาท จึงได้ปรับวงเงินดังกล่าวมาใส่ในแผนบริหารหนี้ฯปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเดิมวางกรอบกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไว้ 5.5 แสนล้านบาท ก็จะทำให้มีวงเงินที่กู้ได้ทั้งสิ้นกว่า 6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนการกู้เงินเพิ่ม้

ออมสินปล่อยกู้ฉุกเฉิน 1 หมื่นล้าน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารมีมาตรการที่จะดูแลลูกค้าในพื้นที่ 28 จังหวัด ซึ่งมีจำนวน 1.9 ล้านบัญชี เป็นมาตรการช่วยเหลือพิเศษในเรื่องการพักชำระหนี้ ทั้งแบบพักเงินต้น พักทั้งต้นทั้งดอกเบี้ย หรือพักต้นและลดดอกเบี้ย

ธนาคารยังมีมาตรการเติมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีและรายย่อย โดยขยายวงเงิน “สินเชื่อเสริมพลังฐานราก” ให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท อีก 1 หมื่นล้านบาท โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.-มิ.ย. 2564 ส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีก็มีการขยายโครงการ “มีที่มีเงิน” ที่ให้วงเงินกู้ได้ถึง 50 ล้านบาท โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่ออีก 5,000 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท

ธอส.ลดค่างวด 6 เดือน

ด้าน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า ธนาคารได้มีมาตรการเพิ่มเติมรับมือผลกระทบรอบใหม่ “ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” ประกอบด้วย 4 มาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) นานสูงสุด 6 เดือน ทั้งลูกค้ารายย่อยและกลุ่ม SMEs ที่มีสถานะปกติ หรือสถานะ NPL โดยแต่ละมาตรการจะให้ลูกค้าเลือกได้ว่า มีกำลังจะผ่อนชำระ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน โดยธนาคารจะตัดชำระให้ทั้งเงินต้นและตัดดอกเบี้ย

ทั้งนี้มาตรการส่วนใหญ่จะมีระยะเวลา 6 เดือน (ก.พ.-ก.ค. 2564) มีเพียงมาตรการสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลตที่จะขอลดเงินงวด หรือพักหนี้ได้ไม่เกินเดือน มิ.ย. 2564

ธพว.ออกชุดมาตรการ “พักหนี้อุ่นใจ เติมเงินใหม่ไปต่อ”

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ธนาคารได้ออกชุดมาตรการ “พักหนี้อุ่นใจ เติมเงินใหม่ไปต่อ” โดยแนวทางช่วยเหลือขึ้นอยู่กับผลกระทบหนักเบาของลูกค้าแต่ละราย

ประกอบด้วย 1.มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน ไม่เกิน 31 ธ.ค. 2564 และ 2.มาตรการเติมเงินใหม่เสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อพิเศษ ครอบคลุมทุกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปีใน 2 ปีแรก ระยะผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน