ถอดรหัส ชุดประจำชาติเมียนมา สารจาก ชาติพันธุ์ ทรงพลังกว่าที่ทั่วโลกคิด

ถอดรหัสชุดประจำชาติเมียนมา
มีการปรับแก้เนื้อหาและพาดหัว เมื่อวันที่ 18 พ.ค.64

ชุดประจำชาติเมียนมา คว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมจากเวทีประกวด มิสยูนิเวิร์ส 2020 นอกเหนือจากการชูป้าย Pray for Myanmar แล้ว ชุดของเผ่าคะฉิ่นยังแฝงไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิในเมียนมา ซึ่งมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ก่อนจะเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เสียอีก

วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประกวด Miss Universe 2020 ครั้งที่ 69 ในรอบตัดสิน (Final Round) ณ ฮาร์ดร็อกไลฟ์ ภายในเซมิโนลฮาร์ดร็อกโฮเท็ลแอนด์คาสิโน ฮอลลีวูด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสาวงามเข้าร่วมการประกวดทั้งหมด 74 ประเทศจากทั่วโลก โดยผู้ที่สามารถคว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สและมงกุฏ “Power of Unity” มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท มงกุฎนางงามที่แพงที่สุดในโลก ได้สำเร็จ คือ “แอนเดรีย เมซ่า” จากเม็กซิโก

ส่วนอีกรางวัลที่แฟนนางงามลุ้นไม่แพ้กันคือ “ชุดประจำชาติยอดเยี่ยม” ซึ่งผู้ที่คว้ารางวัลนี้ไปคือ “ธูซาร์ วินท์ ลวิน” มิสยูนิเวิร์สเมียนมา จากชุดประจำเผ่าที่เรียบง่าย แต่สามารถส่งสารอันทรงพลังไปถึงคนทั่วโลก ด้วยการชูป้าย “Pray for Myanmar” รณรงค์ให้นานาชาติหันมาสนใจความรุนแรงในประเทศ ภายหลังการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ตอนแรก “ธูซาร์ วินท์ ลวิน” ไม่ได้ตั้งใจสวมชุดนี้ประกวด แต่เนื่องจากชุดประจำชาติที่เธอเตรียมมานั้นได้หายไปกับกระเป๋าขณะเดินทางมาสหรัฐอเมริกา โดยชุดดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจาก “ตุ๊กตาล้มลุก” ของเล่นดั้งเดิมของชาวเมียนมา กับการแต่งกายที่มีสีสันปะแป้งด้วยทานาคา

เมื่อชุดที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ตุ๊กตาล้มลุก” หายไป ชาวเมียนมาในอเมริกาจึงช่วยกันหาชุดใหม่มาให้เธอ กระทั่งได้ชุดที่ “อองซาน ซูจี” เคยสวมใส่ สร้างความประทับใจไปทั่วโลก

สำหรับชุดดังกล่าวเป็นชุดชาติพันธุ์ชิน (chin) อาศัยทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวก็ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์หลักของเมียนมา เช่นเดียวกับมอญ ฉาน กะเหรี่ยง คะฉิ่น คะยา ยะไข่ ไม่นับชนเผ่าย่อยอีก ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีทั้งหมด 135 ชนเผ่า

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก เขียนในบทความ ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมียนมา…1 มิตรชิดใกล้ เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์มติชน ว่า ชนเผ่าต่างๆ พูดกันคนละภาษา แต่งกาย ประเพณีวัฒนธรรมหลากหลาย ต่างก็มีหัวหน้า-ผู้นำเป็นผู้ปกครองในแต่ละอาณาจักร ชนเผ่าทั้งหลาย บางช่วงเวลาก็เป็นมิตรสนิทกัน บางช่วงเวลาก็ทำศึกสงครามกัน ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปล้น แย่งบ้านชิงเมือง

กระทั่งปี พ.ศ.2428 เมื่ออังกฤษทำสงครามกับพม่าครั้งที่ 3 เป็นสงครามครั้งสุดท้าย…เปลี่ยนแผ่นดินพม่าไปตลอดกาล อังกฤษยึดเมืองมัณฑะเลย์ ปลดกษัตริย์ธิโบว์ (Thibaw) ของพม่า บังคับให้ลี้ภัยไปอยู่ในอินเดียที่อังกฤษปกครอง และใช้นโยบาย “แบ่งแยกและปกครอง” คือการแยกส่วนพม่าส่วนกลางและชายแดนออกจากกัน ปรับใช้ระบบการปกครองเพื่อมิให้ชนเผ่าต่าง ๆ “รวมตัวกันได้”

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการเมืองการปกครองของเมียนมา กล่าวถึงในงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา พม่าหลังเสียเมือง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2564 ซึ่ง เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เรียบเรียงข้อมูลไว้ ดังนี้

หลังพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษได้เข้าปกครองอย่างเบ็ดเสร็จในบริเวณแกนกลางเขตลุ่มแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำสะโตง รวมถึงเทือกเขาตะนาวศรีและอาระกัน พื้นที่เหล่านี้อังกฤษเข้าปกครองโดยตรง มีอำนาจควบคุมอย่างสมบูรณ์ ขณะที่เขตเทือกเขาสูง ในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานปัจจุบันนั้น อังกฤษเข้าปกครองแบบหลวม ๆ คล้ายรัฐในอารักขา ทำให้เจ้าผู้ปกครองยังมีอำนาจการปกครองตนเองอยู่บ้าง

“ส่วนที่เป็นพม่าแท้มันเป็นการปกครองโดยตรงจากอังกฤษ พลังจากอังกฤษค่อนข้างจะเข้มงวด ข้าหลวงเข้าไปปกครองตักตวงผลประโยชน์ก็ค่อนข้างเข้มงวด แล้วสถาบันที่ขัดขวางผลประโยชน์ของอังกฤษ เช่น กษัตริย์พม่าก็ถูกทลายหายไป แต่อีกดินแดนหนึ่งเหมือนกับว่าเป็นรัฐในอารักขาหรือมีลักษณะการควบคุมจากอังกฤษที่มันหลวมขึ้น เมื่อเทียบกับดินแดนส่วนแรก ในการนี้สถาบันการปกครองบางอย่างยังถูกเก็บรักษาเอาไว้ อย่างเช่น ระบบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน… สิ้นแสงฉาน เจ้าฟ้ารัฐฉานมันมาล่มเมื่อ ค.ศ. 1962 ตอนเนวินปฏิวัติ แต่กษัตริย์พม่า พม่าเสียเมือง สิ้นพระเจ้าแผ่นดินพม่า ค.ศ. 1885… นี่คือจุดต่าง” ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

อังกฤษปกครองพม่าจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และให้เอกราชพม่าเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1948 โดยบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการเรียกร้องเอกราชคือนายพลอองซาน ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1947 ในข้อตกลงปางโหลง ซึ่งอองซานร่วมประชุมกับผู้นำในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ

ผศดรดุลยภาค อธิบายอีกว่า นักวิเคราะห์มองว่าข้อตกลงนี้เป็นใบเบิกทางที่ทำให้ดินแดนพม่าแท้กับดินแดนกลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวขึ้นเป็นรัฐเอกราชพม่าในเวลาต่อมา และเป็นเค้าโครงในการก่อรูปการปกครองแบบสหพันธรัฐของพม่า ซึ่งมีรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ

“ข้อตกลงปางโหลงเป็นพื้นฐานสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่า ซึ่งให้สิทธิการปกครองตนเองระดับหนึ่งกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่สำคัญคือมีมาตราหนึ่งที่ระบุถึงการให้สิทธิการแบ่งแยกดินแดนได้หลังจากการรวมตัวกันครบ 10 ปี แต่หลังจากนายพลอองซานถูกลอบสังหาร ทำให้เหตุการณ์ในพม่ากลับพลิกผัน ผลลัพธ์ของมันแน่ชัดก็คือ ทำให้พม่ายังสร้างรัฐไม่เสร็จ ทำให้พม่าระส่ำระส่าย ชีวิตชีวาแห่งสหพันธรัฐที่เคยคุยไว้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

นายพลอองซานลงนามข้อตกลงปางโหลง ค.ศ. 1947 (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม)

ต่อมา อำนาจเบ็ดเสร็จจึงไปอยู่ที่ศูนย์กลางในกรุงย่างกุ้ง มีการให้สิทธิพิเศษกับสมาชิกสภาที่เป็นพม่าแท้ และอีกหลายเรื่องที่พม่าแท้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่า นั่นทำให้กลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงเรียกร้องและเคลื่อนไหวติดอาวุธ บางกลุ่มหวังต้องการการปกครองแบบสหพันธรัฐ บางกลุ่มต้องการสร้างรัฐเอกราชเป็นของตนเอง รวมทั้งเกิดการแตกแยกในกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เหล่านี้จึงนำไปสู่สงครามกลางเมืองในพม่า

หลังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมานานหลายสิบปี ในที่สุด “อองซาน ซูจี” ก็คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2558 พรรคเอ็นแอลดีของเธอกุมคะแนนเสียงทั้งประเทศ 86% ทว่าเธอซึ่งเป็นประธานพรรคไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เนื่องจากมีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ

แต่ผ่านไปไม่ถึง 10 ปี รัฐบาลทหารก็ยึดอำนาจจากเธอ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในอีก 1 ปีข้างหน้า

“ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์” อธิบายในรายงาน กองทัพชาติพันธุ์…ตัวแปรสำคัญในเมียนมา เผยแพร่ทางเว็บไซต์ thaipublica ว่า หลังการรัฐประหารเมียนมาผ่านไป 1 เดือน กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มเริ่มเคลื่อนไหว แสดงท่าทีของตนเองออกมา หนึ่งในนั้นคือ กองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น KIA (Kachin Independence Army) ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมา

KIA ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2504 เพื่อต่อกรกับพม่า โดยตั้งแต่ 2504-2537 กองทัพคะฉิ่นอิสระได้เปลี่ยนจากการต่อสู้กับทหารพม่าเพื่อต้องการเป็นเอกราช มาเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิปกครองตนเอง

 

ภาพจาก ข่าวสด

เมื่อช่วงตี 3 วันที่ 11 มีนาคม 2564 KIA บุกโจมตีค่ายทหารพม่า ในพื้นที่บ้านแซซิน ทางทิศตะวันตกของอำเภอผากั้น จังหวัดโมญิน ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างรัฐคะฉิ่นกับภาคสะกาย โดยทหารพม่ากองดังกล่าว ส่วนหนึ่งถูกส่งมาปราบปรามผู้ชุมนุมในเมืองมัณฑะเลย์

ชาวบ้านเล่าว่าได้ยินเสียงปืนดังขึ้นตั้งแต่ตี 3 จากนั้นมีเสียงสู้รบต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง ประมาณตี 5 เสียงปืนจึงสงบลง ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้เดินไปดูยังค่ายแห่งนี้ตอนฟ้าสาง พบว่าค่ายถูกเผาจนราบเรียบ พบรอยเลือด และไม่มีทหารพม่าเหลืออยู่แม้แต่คนเดียว

พ.อ.หน่อบู โฆษก KIA บอกเหตุผลที่บุกโจมตีค่ายทหารพม่าว่า เพื่อตอบโต้ที่ตำรวจพม่ายิงชาวคะฉิ่นเสียชีวิต ขณะร่วมประท้วงในเมืองมิตจีนา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564

การประท้วงในวันนั้น มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 คน ภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกเป็นภาพของแม่ชีแอน โรส นู ตอง กำลังคุกเข่าเรียกร้องให้ตำรวจพม่าอย่าทำร้ายเด็ก ๆ โดยมีตำรวจ 2 นาย คุกเข่า ยกมือไหว้ พูดคุยอยู่กับแม่ชี

Kachin News Group ระบุว่าคลิปวิดีโอซึ่งถูกเผยแพร่ภายหลัง เห็นว่าขณะที่แม่ชีกำลังเจรจากับตำรวจ 2 นายอยู่นั้น ตำรวจที่อยู่ด้านหลัง กำลังยิงปืนใส่ผู้ประท้วง

MYITKYINA NEWS JOURNAL/Reuters

ที่ครึกโครมอีกข่าวคือกรณีสื่อหลายสำนักรายงานว่า KIA ตอบโต้กองทัพเมียนมาโดยใช้เครื่องบินโจมตีทางอากาศเมื่อช่วงเช้า วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้ยิงเฮลิคอปเตอร์ตกหนึ่งลำในรัฐคะฉิ่น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของ พ.อ.หน่อบู โฆษก KIA ที่ระบุว่า เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวถูกยิงตกราว 10.20 น. ตามเวลาท้องถิ่นใกล้กับเมืองโมเมาะในรัฐคะฉิ่น

“กองทัพเมียนมาเริ่มโจมตีทางอากาศในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่เวลา 08.00 หรือ 09.00 น. ด้วยเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ยิงถล่ม ดังนั้นพวกเราจึงยิงกลับ” เขากล่าวผ่านโทรศัพท์กับรอยเตอร์ โดยปฏิเสธที่จะบอกว่าใช้อาวุธชนิดใดตอบโต้กลับ

ภาพจาก ข่าวสด

ต่อมาผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทยรายงานว่าโฆษกกองทัพ KIA ยืนยันว่า เป็นผู้ยิงเฮลิคอปเตอร์ตกด้วยจรวดต่อสู้อากาศยาน FN6 หลังจากกองทัพเมียนมายิงอาวุธหนักใส่หมู่บ้านในรัฐคะฉิ่น ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 1 คน

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้นักบินที่ 1 นักบินที่ 2 และทหารอีก 2 นาย รวมทั้งหมด 4 นาย เสียชีวิตทั้งลำ โดยเฮลิคอปเตอร์ได้ตกลงบริเวณกลางทุ่งนาของชาวบ้าน ขณะที่ทหารเมียนมาออกมาปฏิเสธว่า เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวไม่ได้ถูกยิง แต่เกิดจากอุบัติเหตุ ตามรายงานของข่าวสด 

ความรุนแรงในพม่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ชนเผ่าคะฉิ่นอพยพจากรัฐฉานเข้ามาทางดอยลาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ไปอยู่ที่ดอยวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย แล้วอพยพมาอยู่ที่บ้านใหม่หมอกจ๋าม อำเภอแม่อาย บ้านใหม่พัฒนา อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ข้อมูลจากเว็บไซต์ สวัสดี ระบุว่า ปัจจุบันชนเผ่าคะฉิ่นอาศัยอยู่ใน 2 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน และบางส่วนก็อาศัยอยู่ที่ อำเภอพร้าว, อำเภอฝาง, อำเภอท่าตอน, อำเภอไชยปราการ, อำเภอดอยสะเก็ด, และ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมีการกระจายอยู่ในส่วนของ จังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย

ย้อนไปเมื่อปี 2560 มติชน รายงานว่า บริเวณสถานกงสุลใหญ่แห่งสหภาพเมียนมา ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กลุ่มคะฉิ่นพลัดถิ่นในประเทศไทย จาก อ.เชียงดาว และสันทราย กว่า 50 คน รวมตัวที่หน้าสถานกงสุล เพื่อยื่นหนังสือผ่านสถานกงสุลใหญ่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เรียกร้องให้กองกำลังทหารเมียนมายุติการโจมตีฐานที่มั่นในรัฐคะฉิ่น และเขตรัฐฉานตอนเหนือ

โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายุติสงครามในเขตรัฐคะฉิ่น และเขตรัฐฉานตอนเหนือ และขอให้กองทัพเมียนมารับผิดชอบต่อกรณีที่มีชาวบ้านบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก รวมทั้งเรียกร้องให้ อองซาน ซูจี แกนนำรัฐบาลเมียนมาในขณะนั้น สั่งให้กองทัพเมียนมายุติการโจมตีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ พร้อมตรวจสอบการหายตัวไปของบุคคลสำคัญในเขตพื้นที่เมืองโก

อีกทั้งได้เรียกร้องต่อรัฐบาลจีนอนุญาตให้ผู้อพยพที่หนีภัยสงครามเข้าไปพักพิงและมีมนุษยธรรมต่อชาวคะฉิ่น ตลอดจนเรียกร้องต่อรัฐบาลรัสเซียให้ตรวจสอบและเอาผิดทหารรัสเซียที่ให้ความช่วยเหลือกองทัพรัฐบาลเมียนมาโจมตีชาวคะฉิ่น ตามที่มีกระแสข่าวระบุ

ก่อนหน้านั้น กลุ่มคะฉิ่นพลัดถิ่นในประเทศไทยเคยเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องนี้มาแล้ว แต่เป็นการฝากส่งจดหมายลงตู้ไปรษณีย์ที่ติดตั้งอยู่ที่หน้าสถานกงสุลฯ เหมือนเช่นทุกครั้ง และที่ผ่านมาไม่เคยมีความเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การยุติปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ภาพจาก มติชน

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนในเมียนมา ทั้งการสู้รบในพื้นที่ของชาวคะฉิ่น รวมไปถึงการเรียกร้องหาความยุติธรรมบนเวทีการประกวด มิสยูนิเวิร์ส 2020 ในต่างแดน