ปรับราคาหน้าฟาร์มหมู ทะลุ 80 บาท/กก. คาดหลังเปิดประเทศบริโภคเพิ่ม

ส.ผู้เลี้ยงสุกร ปรับราคาหน้าฟาร์ม อีก 4 บาท ทะลุ 80 บาท อ้างต้นทุนขยับขึ้น ดันราคาเนื้อหมูขึ้น กก.ละ 6 บาท เตรียมประเมินซัพพลายใหม่ คาดหลังเปิดประเทศ 1 พ.ย. 64 ความต้องการบริโภคเพิ่ม ด้านอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเผยพิษน้ำท่วม กระทบผลผลิตหมู ซ้ำวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง เกษตรกรแบกต้นทุนสูง

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า สมาคมประกาศปรับราคาสุกร (หมู) ล่าสุดวันพระที่ 14 ตุลาคม 2564 อีก 4 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ใกล้เคียงกับต้นทุน โดยภาคตะวันตกจะอยู่ที่ 72 บาท/กก. ภาคตะวันออก 79-80 บาท/กก. ภาคอีสาน 74-76 บาท/กก. ภาคเหนือ 76บาท/กก. ภาคใต้ 78บาท/กก.

เนื่องจากปัญหาการกดดันราคาจากสุกรกลุ่มเสี่ยง (หมูเทา) ผู้เลี้ยงสุกรขอขยับราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม เพื่อลดภาระการขาดทุนต่อเนื่อง โดยก่อนเริ่มผ่อนคลายเปิดประเทศของรัฐบาล ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะประเมินผลผลิต Supply) สุกรเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณความต้องการที่คาดว่าจะสูงขึ้น

สำหรับต้นทุนการเลี้ยงสุกรตามการประชุมของคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ใน Pig Board ประเมินต้นทุนการผลิตสุกร และคาดการณ์ Q2-Q3/2564 ดังนี้ กรณีซื้อลูกสุกรมาเลี้ยงขุน เฉลี่ย Q2 ที่ 78.31 และ Q3 ที่ 80.03 บาทต่อกิโลกรัม และกรณีผลิตลูกสุกรเอง เฉลี่ย Q2 ที่ 70.13 และ Q3 ที่  71.55 บาทต่อกิโลกรัม

รายงานข่าวระบุว่า การปรับราคาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว นับจากที่ปรับขึ้นครั้งแรก 29 กันยายน 2564 และปรับขึ้นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 รวมแล้วราคาหมูหน้าฟาร์ม ปรับขึ้นไปถึง 12 บาทต่อกิโลกรัม

โดยราคาหมูหน้าฟาร์มภาคตะวันตก ครั้งแรกปรับจาก 60 เป็น 64-68 บาทต่อกิโลกรัม ล่าสุด 72 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนภาคตะวันออกปรับจาก 75 เป็น 75-77 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 79-80 บาท

ภาคอีสานจาก 70 เป็น 72-74 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 74-76 บาทต่อกิโลกรัม

ภาคเหนือ 72 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 76 บาทต่อกิโลกรัม และภาคใต้จาก 71 เป็น 74 บาทต่อกิโลกรัม และขยับเป็น 78 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูชำแหละปรับขึ้น 6-10 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาจำหน่ายเฉลี่ย 150 บาท ขึ้นไปถึง 154 บาท และขยับเป็น 160 บาทต่อกิโลกรัม

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลี้ยงสุกรในปัจจุบันว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบให้ผลผลิตสุกรเสียหาย เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรส่วนใหญ่ชะลอการนำสุกรชุดใหม่เข้าเลี้ยงออกไปก่อน และบางส่วนเข้าเลี้ยงสุกรบางลงไม่เต็มกำลังการผลิต เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม และรอดูสถานการณ์โรค ทั้งภาวะโรคในสัตว์ อาทิ PRRS หรือเพิร์ส และสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ขณะที่ต้นทุนการผลิตสุกรในปัจจุบันตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) อยู่ที่ 80.50 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจัยสำคัญมาจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ใช้ในสูตรการผลิตอาหารสุกรมากถึง 50% มีราคาถึงกิโลกรัมละ 11.35 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบันคาดว่า ประเทศไทยจะมีแม่สุกรจำนวน 8 แสนตัว ลดลงจากปกติที่มีจำนวน 1.1 ล้านตัว คิดเป็นผลผลิตสุกรที่หายไปจากระบบประมาณ 30% ทำให้คาดว่าไทยจะมีการผลิตสุกรขุนจำนวน 15 ล้านตัวต่อปี จากเดิมที่มีการผลิตที่ 19-20 ล้านตัวต่อปี หรือลดลง 25% เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ต่างมีความระมัดระวังในการนำสุกรเข้าเลี้ยง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ประสบกับปัญหาการขาดทุนสะสมนานกว่า 3 ปีในช่วงก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ในปี 2564 เกษตรกรได้มีการบริหารจัดการฟาร์มและพัฒนาระบบการเลี้ยงด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity ในฟาร์มอย่างเข้มงวด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง ป้องกันความเสี่ยงจากโรค ASF ขณะเดียวกัน โรค PRRS ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้การผลิตสุกรเสียหายเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ฟาร์มสุกรของเกษตรกรรายย่อยและฟาร์มขนาดเล็กมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรยังได้รับผลกระทบจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมที่หดตัวลง เนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 มีการปิดสถานที่เสี่ยง รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง ส่งผลต่อราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของเกษตรกรมีภาวะตกต่ำ สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเข้าเลี้ยงสุกรขุนลดลงดังกล่าวข้างต้น