คนไทย 23 ล้านแชร์ข่าวปลอม ดีอีเอสชี้ ‘นักข่าว-ครู’ อาชีพเสี่ยงแพร่เฟคนิวส์

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

ดีอีเอสเปิดสถิติ ยอดสะสมมีจำนวนคนไทยกว่า 23 ล้านคนโพสต์-แชร์ข่าวปลอม อายุ 18-24 ปี นำร่อง ขณะที่ผู้สื่อข่าว-ครู ติดกลุ่มอาชีพเสี่ยงเผยแพร่และแชร์ข่าวปลอมากที่สุด พร้อมเปิดโรดแมปปี’65 ดึงประชาชนมีส่วนร่วม

วันที่ 27 ธันวาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการติดตามข่าวสาร และการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมวันที่ 1 พ.ย. 2562 ถึง 23 ธ.ค. 2564 พบว่า มีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 1,167,543 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 23,785,145 คน

ส่วนช่วงอายุที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการโพสต์และแชร์มากที่สุด คือ กลุ่มช่วงอายุ 18-24 ปี คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ส่วนกลุ่มช่วงอายุ 55-64 ปี มีพฤติกรรมเสี่ยงต่ำในการเผยแพร่ข่าวปลอม คิดเป็น 0.1%

โดยกลุ่มอาชีพที่เข้าข่ายเผยแพร่ข่าวปลอมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผู้สื่อข่าว คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 16.7% เนื่องมาจากเป็นกลุ่มอาชีพที่ประชาชนให้ความสนใจ และเชื่อถือในการเผยแพร่มากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มผู้จัดการ-ผู้บริหาร 9.3% และผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ 8%

ขณะที่กลุ่มอาชีพของผู้แชร์ข่าวที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอาชีพคุณครู-อาจารย์ 14.0% รองลงมาคือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มอาชีพช่างภาพ 9.4% และกลุ่มอาชีพวิศวกร 7.0%

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563-23 ธ.ค. 2564 เริ่มจัดเก็บข้อมูลการเปรียบเทียบเทรนด์ของหมวดหมู่ข่าวทั้ง 4 หมวด

โดยหมวดแรกที่มีการที่พบข่าวปลอมมากที่สุดคือ หมวดนโยบาย เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบาลออกมาเพื่อเยียวยาให้กับประชาชนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มียอดเฉลี่ยพูดถึง 53,017 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 46.77%

รองลงมาเป็นหมวดสุขภาพ เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสุขภาพ การรักษา มีคนพูดถึงและแชร์ข่าวปลอมต่อวันเฉลี่ย 29,329 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 25.87%

ถัดมาหมวดเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนของราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค เฉลี่ย 15,966 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 14.09% และอันดับสุดท้ายคือหมวดภัยพิบัติ 15,042 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 13.07%

และในปี 2565 ดีอีเอสจะเดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้ เท่าทันข่าวปลอมรวมถึงรณรงค์ต่อต้านการเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อให้ประชาชนได้ใช้งานบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัย และรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล ตลอดจนมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาข่าวปลอม สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับสังคม

โดยเจาะกลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่มสมาคมวิทยุสื่อสาร กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และรวมถึงกลุ่มอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.)