ส่องค่าเทอม ร.ร.นานาชาติ แพงสุดในไทย อัพเดตปี 2565

นักเรียน โรงเรียนนานาชาติ
Photo by Romeo GACAD / AFP
รายงาน

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นับเป็นความท้าทายสำหรับทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจการศึกษาที่ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ตั้งแต่การเรียนการสอน รวมถึงโครงสร้างต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากไม่ปรับก็จะทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ จนที่สุดต้องปิดตัวลงไป เนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ขณะเดียวกันนักธุรกิจในแวดวงการศึกษามองว่า เทรนด์การศึกษาตอนนี้ ผู้ปกครองยุคใหม่ยอมลงทุนด้านการศึกษาแก่ลูกมากขึ้น เพราะต้องการเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่โรงเรียนนานาชาติจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ผู้ปกครองยอมลงทุนราคาแพงเพื่อซื้ออนาคตให้ลูก

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจเรตราคาค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติ ในประเทศไทยผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ของแต่ละโรงเรียน พบว่าค่าเทอมของโรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่ เฉลี่ยเริ่มต้นที่หลักแสนบาทต่อปี บางแห่งสูงเกือบล้าน ซึ่ง 15 โรงเรียนที่เรตราคาเริ่มต้นโดยประมาณ อัพเดตปี 2565 ยกตัวอย่างระดับ ป.1 (Year 1) ได้แก่

  • อันดับ 1 International School Bangkok : ISB 850,000 บาท/ปี
  • อันดับ 2 King’s College International School 735,000 บาท/ปี
  • อันดับ 3 Harrow International School Bangkok 729,000 บาท/ปี
  • อันดับ 4 Brighton College International School Bangkok 721,400 บาท/ปี
  • อันดับ 5 Denla British School: DBS 704,007 บาท/ปี
  • อันดับ 6 Shrewsbury International School 699,900 บาท/ปี
  • อันดับ 7 Basis International School 685,000 บาท/ปี
  • อันดับ 8 Wellington College International School Bangkok 645,000 บาท/ปี
  • อันดับ 9 Ruamrudee International School: RIS 630,000 บาท/ปี
  • อันดับ 10 Bangkok Patana School 628,300 บาท/ปี
  • อันดับ 12 Berkeley International School 609,126 บาท/ปี
  • อันดับ 12 KIS International School 608,000 บาท/ปี
  • อันดับ 13 UWC Thailand International School, Phuket 592,000 บาท/ปี
  • อันดับ 14 Rugby School 589,600 บาท/ปี
  • อันดับ 15 Verso International School 480,000 บาท/ปี (แก้ไขข้อมูลผิด ณ วันที่ 11 ก.ย.2566 จาก 900,000 บาทต่อปี)

(แก้ไขอันดับ ก.พ. 2565)

ผศ.ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ DBS กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติแพงกว่าโรงเรียนรัฐบาล หรือโรงเรียนเอกชนกว่า 3-4 เท่า แต่เมื่อเทียบกับโรงเรียนนานาชาติในประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย อย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น จะค่อนข้างสูงกว่าประเทศไทย

ขณะที่คุณภาพเท่ากันคือทุกแห่งจะเน้นการเรียนการสอน เด็ก ๆ สามารถดีไซน์สิ่งที่เขาอยากจะเรียนได้ และอย่าลืมว่ายุคนี้ การแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติเพิ่มสูงขึ้น เราต้องแข่งกัน คัดเลือกแย่งตัวบุคลากรครูจากประเทศอื่น ๆ ด้วย ซึ่งไทยโชคดีมาก ที่เป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่ชาวต่างชาติอยากมาอาศัยอยู่ เพราะเรามีอาหาร มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ

ผศ.ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ DBS

“ปัจจุบันมองว่าการศึกษามีความท้าทายมาก อย่างแรกคือ ประเทศไทยมีโรงเรียนมากกว่า 30,000 แห่ง แต่อัตราการเกิดของเด็กนับวันยิ่งต่ำลง ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ความไม่พร้อมของคน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถไปบังคับให้คนต้องมีลูกได้ เพราะมันเป็นเรื่องยาก สมมติอัตราการเกิดอยู่ที่ 500,000 คนต่อปี

“เราตั้งเป้าจะให้อัตราเกิดพุ่งเป็น 800,000 คนเลยก็ไม่ได้ แต่เราก็ต้องเปลี่ยนมาให้ความสนับสนุนกับจำนวน 500,000 คน ว่าจะทำยังไงให้มีคุณภาพ จึงเป็นหน้าที่ของสถานศึกษา ต้องพัฒนาคน และต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง”

ค่าใช้จ่ายในครอบครัวมากสุด คือ ค่าเล่าเรียนลูก

ดร.ต่อยศกล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการศึกษาของลูกมากขึ้นเรื่อย ๆ พยายามเลือกสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาสามารถให้ได้กับครอบครัว บางครอบครัวผมฟังแล้วก็สะท้อนเหมือนกัน บอกว่า ค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่สูงที่สุดในบ้านคือ การศึกษาของลูก เพราะฉะนั้นพ่อแม่ในเมืองไทยจะให้ความสำคัญกับตรงนี้จริง ๆ แล้วอยากจะเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพที่สุดที่เขาจ่ายไหว เพราะฉะนั้นผู้ปกครองส่วนใหญ่ถ้าจ่ายไหวก็จะเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงสุดให้ลูกเขา

ก็เป็นโอกาสที่โรงเรียนนานาชาติอาจจะโตได้อีก หากย้อนไปสมัยก่อนถ้าเราถือพาสปอร์ตไทย เราไม่มีสิทธิเรียนโรงเรียนนานาชาติเลย แต่ “คุณอานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ปลดล็อกให้ครอบครัวคนไทยสามารถเรียนโรงเรียนนานาชาติได้และค่อย ๆ เห็นการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปัจจุบัน

“ถึงแม้ว่าสมัยนั้นคนไทยจะเรียนนานาชาติได้แล้ว แต่ว่าส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ตอบโจทย์ผู้ปกครองเท่าไหร่ ซึ่งโรงเรียนนานาชาติมีหลายไซซ์ วัดจากระดับชั้นที่เปิด มีแต่โรงเรียนขนาดใหญ่ เปิดตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยม ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่เปิดแค่เฉพาะช่วงชั้น เช่น เปิดแค่อนุบาลหรือประถม ก็จะสังเกตว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผู้ปกครองจะค้นหาโรงเรียนที่เป็นไซซ์ขนาดใหญ่ มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับเล็กไปจนโต ช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา โรงเรียนลักษณะนี้ เกิดขึ้นประมาณเกือบ 10 แห่ง”

ด้าน ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ DBS Denla British School กล่าวเสริมว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 10 แห่งในกรุงเทพฯ ยังไม่รวมจังหวัดอื่น ๆ เฉลี่ยแล้วเติบโตขึ้น 9% เรียกได้ว่าโรงเรียนนานาชาติของไทยเติบโตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย)

“ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติ มีมากกว่า 200 แห่ง โดยเป็นโรงเรียนระดับพรีเมี่ยม 73 แห่ง หรือคิดเป็น 36% คาดว่าอนาคตก็จะมีแนวโน้มเติบโตได้อีก เนื่องจากผู้ปกครองยุคใหม่มีแนวโน้มลงทุนด้านการศึกษาแก่ลูกมากขึ้น ส่วนหนึ่งนิยมโรงเรียนนานาชาติ เพราะมีความมั่นใจในการปูพื้นฐานให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมในการแข่งขันทั้งทางด้านธุรกิจและการใช้ชีวิต”

ดร.เต็มยศ.กล่าวต่อว่า ผู้ปกครองยุคใหม่เปิดใจและสนับสนุนให้ลูกค้นหาความถนัดของตนเอง มีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ว่าจะส่งลูกเรียนโรงเรียนอะไรก็ได้ตอนเด็ก ๆ แล้วเมื่อโตขึ้นก็ค่อยส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยดี ๆ แต่ปัจจุบันพวกเขามีความคิดว่าต้องลงทุน Invest Now เพื่อ Harvest in the future นั่นคือการลงทุนเรื่องการศึกษาให้ลูกในวันนี้ เพื่อให้ลูกมีความรู้และทักษะรอบด้านตั้งแต่พวกเขายังเล็ก เมื่อพวกเขาเติบโตจะเป็นบุคคลคุณภาพที่มีความเพียบพร้อมในทุกด้านและมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูง

เต็มยศ ปาลเดชพงศ์
ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ DBS Denla British School

เมื่อถามถึงข้อได้เปรียบของตลาดโรงเรียนในปัจจุบันที่มีผลต่อการตัดสินใจ “ผศ.ดร.ต่อยศ” เผยว่า หลัก ๆ มีอยู่ 3 ด้าน คือ

1.โลเกชั่น โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีเด็กเล็ก ไม่อยากให้ลูกของตนเองต้องเดินทางไกลมากกว่า 30 นาที ต่อให้โรงเรียนนั้นมีคุณภาพมากแค่ไหนก็ตาม

2.หลักสูตร โรงเรียนนานาชาติทุกแห่งจะไม่ได้ถูกกำหนดว่าหลักสูตรที่สอนจะต้องเป็นหลักสูตรอะไร แต่ส่วนใหญ่หลักสูตรยอดนิยมคือหลักสูตรจากประเทศอังกฤษ ใช้งานมากกว่า 50% รองลงมาคือหลักสูตรอเมริกัน และหลักสูตร IB (INTERNATIONAL BACCALAUREATE) ระบบการศึกษาของประเทศเยอรมนี สองหลักสูตรหลังความนิยมใกล้เคียงกัน เมื่อผู้ปกครองจะเลือกสถานศึกษาให้ลูกก็ต้องไปดูรายละเอียดว่าจะเลือกแบบใด

3.ความต่อเนื่องของการศึกษา เรียนระยะยาวตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายเลย ผมคิดว่า 3 ประเด็นสำคัญที่สุดในแง่ของความได้เปรียบ

โรงเรียนนานาชาติ DBS
ภาพมุมกว้างโรงเรียนนานาชาติ DBS