นับถอยหลังบิ๊กดีล ทรู ดีแทค พลิกเกมแข่งขัน ย้ำบทบาท “กสทช.”

ทรูดีแทค

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับบิ๊กดีลระหว่าง “ทรู” และ “ดีแทค” โดยในการประชุมผู้ถือหุ้นของทั้งคู่ (4 เม.ย. 2565) ที่ผ่านมา อนุมัติแผนการควบรวมธุรกิจแล้ว โดยทั้งสองบริษัทคาดว่ากระบวนการต่าง ๆ จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังของปีนี้

แต่ในระหว่างนี้ดีลยังอยู่ภายใต้การตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแล โดยเฉพาะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการควบรวมกิจการดังกล่าวด้วย

ชง กสทช.เคาะกลาง พ.ค.

แหล่งข่าวจาก กสทช.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงาน กสทช.กำลังรวบรวมข้อคิดเห็น รวมถึงการจัดทำมาตการเพิ่มเติมต่าง ๆ ไปยังคณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้นำเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณาต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือน พ.ค.นี้ เพื่อให้ทันเดดไลน์ตามประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่ระบุว่า เลขาธิการ กสทช.ต้องรายงานต่อ กสทช. ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระด้านต่าง ๆ ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 18 พ.ค.นี้

“การรวมกิจการจะทำให้ทรูและดีแทคบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น ลดต้นทุนตั้งเสาซ้ำซ้อน เรื่องการแข่งขัน ถ้าแข่งกันจริง ๆ ก็จะกลายเป็นแข่งมากขึ้น เมื่อต้นทุนลดลง ส่วนที่พูดถึงการกระจุกตัวกันของค่าดัชนีการแข่งขันตามหลักเศรษศาสตร์ ตอนมี 3 ราย ก็กระจุกตัว เพราะตลาดมือถือจะกระจุกตัวโดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมากำกับดูแล หลายอย่างต้องรีวิวกันใหม่ เช่น การกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูง”

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การรวมกันทำให้ทั้งสองบริษัทมีเจ้าของเดียวกัน แต่หากแยกบริษัทลูกก็จะใช้คลื่นร่วมกันไม่ได้ จึงต้องมีการทำสัญญาการใช้โครงข่ายแยกกัน ซึ่ง กสทช.ก็จะต้องดูเรื่องความเท่าเทียมในการทำสัญญากับรายอื่น ๆ ด้วยจะมีการควบคุมการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และต้นทุนจะไม่นำมารวมกันอย่างแท้จริง โดยมีการตรวจสอบเรื่องการแยกบัญชี

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากไทม์ไลน์การทำงานของ สำนักงาน กสทช.มีความเป็นไปได้ที่บอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบันจะเป็นผู้พิจารณาดีลนี้ เนื่องจากยังไม่มีบอร์ดชุดใหม่ แต่ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน หากในระหว่างทางมีการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่มาทำหน้าที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการสรรหาแล้ว 5 คน อีก 2 อยู่ระหว่างดำเนินการ มีกำหนดแสดงวิสัยทัศน์ในสิ้น เม.ย.จึงเป็นไปได้ว่าคณะกรรมการสรรหาฯอาจเสนอชื่อให้วุฒิสภาลงคะแนนได้ในเดือน พ.ค.นี้

Advertisment

นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ล่าสุด (7 เม.ย.) ยังรับทราบหนังสือที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ส่งถึง พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. เพื่อชี้แจงเรื่องผลกระทบและผลเสียที่อาจเกิดจากการควบรวม

AWN จี้ 3 ปมผลเสีย-ผลกระทบ

หนังสือดังกล่าวระบุว่า AWN ในฐานะผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ขอเสนอข้อพิจารณาและผลกระทบในเชิงลบที่จะส่งผลต่อประชาชนผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณะของประเทศจากการควบรวมดังกล่าวให้ กสทช.พิจารณา คือ 1.การควบรวมระหว่างทรูและดีแทคก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด ทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวมาก การแข่งขันน้อยลง ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่

Advertisment

และขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นที่ผ่านมา และกีดกันการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่และการเติบโตของผู้แข่งขันรายเล็ก ทั้งยังส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ทำให้ทางเลือกเหลือน้อยลง กระทบอำนาจต่อรองของผู้ซื้อจากการที่ผู้ให้บริการเหลือ 2 ราย อาจทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าบริการที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ลดต่ำลง และเกิดการกระจุกตัวของการใช้คลื่นความถี่

ในประเด็นที่ 2 AWN ชี้ว่า กสทช.มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่งอนุญาต หรือไม่อนุญาต การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และมีหน้าที่ในการนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2548 และประกาศควบรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561 มาใช้คู่กัน เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน

และ 3.เกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ โดยหยิบยกกรณีของ FCC ในอเมริกา และ CMA ของสหราชอาณาจักรมาเป็นตัวอย่าง ทั้งตอกย้ำในท้ายจดหมายด้วยว่า

หาก กสทช.อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค จะก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลดหรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม ส่งผลเสียต่อกลไกตลาด และกระทบประชาชนผู้บริโภคอย่างร้ายแรง รวมถึงผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

ย้อนดูมุมมองนักวิชาการ

ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น และส่งหนังสือถึง กสทช. ขอให้ชะลอดีลดังกล่าวเช่นกัน (14 ก.พ. 2565) โดย “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า หากเกิดการควบรวมกิจการจะทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง เพราะเหลือผู้เล่น 2 ราย อาจส่งผลให้ค่าบริการลดลงช้าหรือไม่ลดลง มีผลต่อการใช้บริการของผู้บริโภค ทั้งย้ำว่าดีลนี้ควรดำเนินการโดย กสทช.ชุดใหม่

ขณะที่ “สฤณี อาชวานันทกุล” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า การควบรวมธุรกิจทางการเงินมีหลายแบบ แต่ดีลการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคค่อนข้างชัดเจน ว่าเป็นการควบรวมกิจการแบบลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือการรวมทุกส่วนเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นบริษัทใหม่

ส่วนบริษัทเดิมจะหายไป เท่ากับตลาดโทรคมนาคมไทยจะเหลือผู้เล่นแค่ 2 ราย นำไปสู่ภาวะการผูกขาดทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม และอาจเกิดได้ตั้งแต่ก่อนการควบรวมเสร็จด้วยซ้ำ

ก่อนหน้านี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้พูดถึงผลดี-ผลเสียของการควบรวมธุรกิจว่า ข้อดีคือทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ และประหยัดต้นทุน

แต่ข้อเสียคือเพิ่มอำนาจการผูกขาด ทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ต้องบาลานซ์ข้อดีและข้อเสียให้ได้ ทั้งย้ำว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลต้องใช้อินเทอร์เน็ตและดาต้าจำนวนมาก ซึ่งผลการควบรวมทำให้ค่าบริการไม่ลดลง หรือลดช้าลง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

ขณะที่ภาคธุรกิจที่ต้องใช้บริการก็มีต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในอนาคตจึงไม่เพียงเผชิญการผูกขาดจากแพลตฟอร์มต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังกำลังเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น เท่ากับกำลังเผชิญการผูกขาดถึงสองชั้น

ย้ำจุดยืนเทคคอมปะนี

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปยังคำชี้แจงของ 2 แม่ทัพ กลุ่มทรู-ดีแทค ต่างระบุว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจ และตั้งบริษัทใหม่ที่จะก้าวไปสู่การเป็น “เทคคอมปะนี” เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฮับเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคอาเซียน

แหล่งข่าวจากกลุ่มทรูกล่าวว่า การควบรวมธุรกิจเป็นการควบรวมบริษัทแม่ โดยผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัทเห็นชอบแล้ว โดย “ดีแทค” เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ภายใต้บริษัท DTN ขณะที่ “ทรูมูฟเอช” รับใบอนุญาตภายใต้บริษัท TUC ทั้ง DTN และ TUC จะยังดำเนินงานทุกอย่างเหมือนเดิม ภายใต้ใบอนุญาตที่ได้รับ เช่นกันกับแบรนด์ทรูมูฟเอชและดีแทคจะยังให้บริการต่อไป เพราะทั้งสองแบรนด์ต่างมีมูลค่าและคุณค่าในตัวเอง