ทรู-ดีแทค รายงาน กสทช. เดินหน้าควบรวมธุรกิจ

ทรู ดีแทค ทรานส์ฟอร์มสู่เทคปะนี
แฟ้มภาพ

ทรู-ดีแทค รายงาน กสทช. นับหนึ่งควบรวมธุรกิจ ก้าวสู่เทคคอมปะนี

วันที่ 26 มกราคม 2565 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เปิดเผยว่า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ได้ยื่นรายงานต่อ กสทช.เพื่อแจ้งความประสงค์ที่จะดำเนินการรวมธุรกิจเพื่อตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันแล้ว ซึ่งเป็นไปตามประกาศ กสทช.ที่ระบุให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต ที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจ กับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น และทำให้เกิดนิติบุคคลใหม่ขึ้นจะต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการดำเนินการ

ก่อนหน้านี้ นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทเลนอร์ ระบุในการแถลงข่าว (วันที่ 22 พ.ย. 2564) ว่า บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังดีลนี้เสร็จสิ้นจะมีรายได้ถึง 2.17 แสนล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดในแง่รายได้ 40% ใกล้เคียงเอไอเอส และมีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 3 หมื่นล้านบาท พร้อมอธิบายเหตุผลถึงความร่วมมือว่า เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันในอนาคตที่จะไม่จำกัดแค่ในประเทศใดจากพัฒนาการของเทคโนโลยี

“บริษัทใหม่จะตั้งอยู่บนหลักการที่เป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุดจากดีแทค และทรูมารวมกัน เราจะแข็งแกร่งพอที่จะลงทุนนวัตกรรมใหม่ระดับโลกเพื่อชาวไทยได้ เมื่อ 20 ปีก่อนเราเชื่อมโยงคนด้วยเสียง และข้อมูล แต่อีก 20 ปีข้างหน้าจะต่างออกไป เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะ 5G, AI, IOT หรือ cloud ทำให้เกิดการปฏิวัติทางเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของเราทุกคน นั่นคือสาเหตุที่เราร่วมมือกัน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะไปข้างหน้า และไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคได้”

อีกทั้งบริษัทใหม่ยังจะตั้งกองทุนมูลค่า 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ และสตาร์ตอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ในประเทศไทย คาดว่าความร่วมมือจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 1/2565

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เสริมว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจสู่ “เทคคอมปะนี” จากสภาพตลาดโทรคมนาคมที่เปลี่ยนไป เพื่อให้แข่งขันกับผู้เล่นระดับโลก และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฮับเทคโนโลยีระดับภูมิภาค