ศุลกากรเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยพุ่ง 2.2 พันล้าน ชี้คนไทยแห่นำเข้าแบรนด์เนม

ศุลกากร นำเข้า แบรนด์เนม

กรมศุลกากร เผยภาพรวมนำเข้าสินค้าไทยปีนี้โตต่อเนื่อง เก็บอากรขาเข้ากลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มสูงสุด “กระเป๋า-ของแบรนด์เนม” 8 เดือน พุ่ง 2.2 พันล้าน โต 46%

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ภาพรวมสถิติการนำเข้าส่งออกสินค้าไทยปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง หลังทั่วโลกมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

โดยสินค้าที่มีจัดเก็บอากรขาเข้าได้มากสุดยังเป็นรถยนต์ แต่ยอดลดลง 16% เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ทั่วโลก เผชิญปัญหาขาดแคลนชิป ทำให้ทั่วโลกสามารถผลิตรถออกมาได้จำนวนจำกัด จึงส่งผลให้การนำเข้ารถของไทยน้อยลงไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มรถหรูบางยี่ห้อไม่มีการนำเข้ามาเลยในปีนี้

ส่วนสินค้าที่เก็บอากรขาเข้าเพิ่มสูงสุด เป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กระเป๋า สินค้าแบรนด์เนม โดยรอบ 8 เดือน ขยายตัวถึง 46% ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว คนไทยนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาใช้เพิ่มขึ้น

ประกอบกับมีการเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามา ทำให้ผู้ประกอบการ ร้านค้ามีการสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายเพิ่ม

นอกจากนี้ กรมศุลฯ ยังมีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คร่อมสายพานที่สนามบิน ทำให้ตรวจสแกนสิ่งของ ป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีได้แม่นยำ

อย่างไรก็ตาม กรมศุลฯ ยืนยันว่ารายได้การเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มาจากความเข้มงวดรีดภาษีจากประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา โดยหากเป็นของใช้ส่วนตัว ที่เจ้าของนำเข้ามาสำหรับใช้เอง ก็ไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด ยกเว้นหากนำเข้ามาหลายชิ้น ซ้ำ ๆ กัน และมีแนวโน้มจะเข้ามาจำหน่ายต่อก็จะมีการตรวจสอบ

ภาพรายได้ศุลกากร 8 เดือน 4.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5%

ขณะที่ภาพรวมจัดเก็บรายได้ศุลกากรสะสม 8 เดือน (ต.ค. 64-พ.ค. 65) ของปีงบประมาณ ทำได้ 430,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90,000 ล้านบาท เติบโต 26.5% แบ่งเป็นรายได้ศุลกากร 71,100 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 3,600 ล้านบาท และสูงกว่าเป้าหมาย 706 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือเป็นการจัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น 359,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86,000 ล้านบาท เช่น เก็บให้สรรพากรเพิ่มขึ้น 275,000 ล้านบาท กรมสรรพสามิต 48,000 ล้านบาท และกระทรวงมหาดไทย 35,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ข้อมูลการนำเข้าสินค้าและการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2565 (เดือนต.ค. 64-พ.ค. 65) พบมีมูลค่าสินค้านำเข้า 6.54 ล้านล้านบาท เพิ่ม 32% โดยรถยนต์ยังเป็นสินค้าที่มีการเก็บอากรได้มากสุดที่ 8,581 ล้านบาท แต่ลดลง 16%

รองลงมาเป็นส่วนประกอบยานยนต์ 4,729 ล้านบาท เพิ่ม 6.9% ยารักษาโรค 3,051 ล้านบาท เพิ่ม 12.9% กระเป๋าและของฟุ่มเฟือย 2,221 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.6% และเครื่องสำอาง 1,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1%

ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า กลุ่มสินค้ากระเป๋า และของฟุ่มเฟือย ซึ่งมีการจัดเก็บภาษีประมาณ 30% มีการจัดเก็บเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 706 ล้านบาท โดยเฉพาะเดือน พ.ค. 2565 มีการเก็บอากรได้มากถึง 310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94% หรือเก็บภาษีมากขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 151 ล้านบาท

ขณะที่สินค้าที่เก็บภาษีได้รองลงมาเป็นรถตู้ เก็บเพิ่มขึ้น 496 ล้านบาท ยารักษาโรคเก็บเพิ่มขึ้น 348 ล้านบาท ส่วนประกอบยานยนต์เก็บเพิ่มขึ้น 304 ล้านบาท และอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติรถยนต์เก็บเพิ่มขึ้น 264 ล้านบาท