เร่งเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ สรรพากรหวังโกยรายได้เข้ารัฐเพิ่ม

สรรพากร

สรรพากรเดินหน้าเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ จับมือประเทศสมาชิก “Global Forum-OECD” แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ เร่งหาข้อสรุปแนวทางจัดเก็บ คาดกลางปี 2566 ได้ข้อสรุป หนุนรัฐเก็บรายได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับภาษีอีเซอร์วิสที่คาดปีนี้เก็บภาษีบริษัทต่างชาติได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลจัดเก็บรายได้ 8 เดือน เกินเป้ากว่า 1.5 แสนล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้เข้าร่วมโครงการ The Asia Initiative เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยจัดเก็บภาษี จากเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่เป็นสมาชิก Global Forum ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ผ่านการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากล ให้สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ

สำหรับรูปแบบในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสมาชิก Global Forum นั้น มี 2 รูปแบบ คือ 1.ในช่วงสิ้นปีจะรวบรวมข้อมูลแล้วส่งให้ประเทศที่เป็นสมาชิก และ 2.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเมื่อมีการร้องขอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ สำหรับผู้ที่ชอบฟอกเงิน และโอนเงินไปเสียภาษีประเทศที่ถูกกว่า หรือหลีกเลี่ยงการไม่แจ้งภาษีจากรายได้ที่แท้จริง ซึ่งทำให้กระบวนการตรวจสอบภาษีทำได้ยากขึ้น กรมจึงได้มีการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับต่างประเทศ

ตารางรายได้สรรพากร

ทั้งนี้ ในช่วงกลางปี 2566 จะเห็นข้อสรุปมาตรการผ่านการร่วมมือสมาชิก Global Forum และสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD ที่มีสมาชิกอยู่กว่า 139 ประเทศทั่วโลกด้วย โดยขณะนี้กรมอยู่ระหว่างเตรียมการในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งหน่วยงานที่จะต้องให้ข้อมูลมาที่กรมสรรพากร และกรมก็ต้องจัดระบบส่งข้อมูล รวมทั้งการออกกฎหมายให้มีผลรองรับด้วย

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะต้องทำต่อ จากที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีสรรพากร ที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ได้ริเริ่มโครงการไว้ ซึ่งหากดำเนินการได้แล้วเสร็จ เราจะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก จะทำให้มีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น เพราะคนไทยที่ไปสร้างรายได้ไว้ต่างประเทศ ก็หลบภาษี ต่างประเทศก็เก็บไม่ได้ เมืองไทยก็เก็บไม่ได้

“เราก็จะเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น เพราะในอดีตถ้ารายได้ไม่เกิดในประเทศ กรมสรรพากรจะติดตามยาก ตอนนี้หากมีรายได้เกิดที่ไหนในโลก เครือข่ายที่เป็นสมาชิกร้อยกว่าประเทศจะส่งข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน ทั้งเงินพิสดาร เงินผิดกฎหมาย และการเลี่ยงภาษีจะหาที่อยู่ได้ยากขึ้น” นายลวรณกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 2 เสาหลัก ได้แก่ เสาหลักที่ 1 มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีเงินได้โดยปันส่วนกำไรมาให้กับประเทศผู้ใช้บริการถึงแม้จะไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศที่ให้บริการ

และเสาหลักที่ 2 มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่หลบเลี่ยงภาษีโดยถ่ายโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ จะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจนเสียอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15%

“ก่อนหน้านี้มีการหารือเบื้องต้น สำหรับเสาหลักที่ 1 คือ กำหนดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับธุรกิจที่มียอดขายเกิน 20,000 ล้านยูโร หากมีกำไรเกิน 10% ของยอดขาย ต้องแบ่งสันปันส่วนกำไร โดย 10% แรกเป็นกำไรของบริษัท ส่วนที่เกิน 10% นั้น นำมาจัดสรรจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กลุ่ม OECD ในอัตรา 25% แต่ยังไม่ได้สรุป เนื่องจากหลายประเทศมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ หากกรมสรรพากรผลักดันให้มาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้มีรายได้เข้ารัฐเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มต่างชาติ (VAT for Electronic Service : VES) ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทย หรือภาษีอีเซอร์วิส

โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งปัจจุบันมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมากกว่า 5,000 ล้านบาทแล้ว โดยคาดว่าสิ้นปีงบประมาณนี้ (31 ก.ย. 2565) จะมีรายได้จากการเก็บภาษีดังกล่าวใกล้เคียง 1 หมื่นล้านบาท

ล่าสุด การเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2565 ของกรมสรรพากรในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. 2564-พ.ค. 2565) สามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐได้แล้วกว่า 1.24 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.87 แสนล้านบาท และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณกว่า 1.57 แสนล้านบาท จึงคาดว่าการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายซึ่งตามเอกสารงบประมาณตั้งไว้ที่ 1.87 ล้านบาท