กทม.ทุบนายทุนปลูกกล้วย บี้ภาษีที่ดินเต็มพิกัด 15 เท่า

ปลูกกล้วย

ทีมชัชชาติเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินปลูกกล้วย-มะนาวใจกลางกรุง ตีกรอบที่ดินผังเมือง 3 สี “แดง-ม่วง-เม็ดมะปราง” โซนพาณิชยกรรม โรงงาน คลังสินค้า ทำหนังสือหารือคลังออกข้อบัญญัติ กทม.เก็บภาษีเกษตรกรรมเต็มเพดาน 0.15% หรือล้านละ 1,500 บาท ดัดหลังนายทุนนำที่ดินเงินล้านมาปลูกกล้วยหวังจ่ายภาษีต่ำสุด 0.01% ถ้าทำสำเร็จแลนด์ลอร์ดอ่วมถ้วนหน้าจ่ายภาษีแพงขึ้น 15 เท่า

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าในการทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทภาษีเกษตรกรรม จากการนำที่ดินเปล่าใจกลางเมืองมาปลูกพืชเกษตรเพื่อจ่ายภาษีในอัตราต่ำ ล่าสุด กทม.ได้มีการทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

หารือ กรรมการวินิจฉัยภาษี

สาระสำคัญที่ขอหารือ เพื่อต้องการยืนยันว่า กทม.ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติเรียกเก็บภาษีที่ดินในอัตราชนเพดานภาษีตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หากสามารถทำได้คาดว่าจะทำให้ กทม.มีรายได้จัดเก็บภาษีที่ดินฯเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภาษีที่ดินมีการกำหนดอัตราภาษี 2 ราคา กล่าวคือ กฎหมายแม่ (พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562) กำหนดภาษีสูงสุดหรือกำหนด “เพดานภาษี” ไว้ โดยผู้จัดเก็บคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศไทยจำนวน 7,852 แห่ง (ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2562) สามารถจัดเก็บต่ำกว่าได้ แต่ห้ามจัดเก็บเกินเพดานภาษีที่กำหนด

ขณะที่มี “อัตราผ่อนผัน” หรืออัตราแนะนำในช่วงเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดิน เพื่อบรรเทาภาระภาษีและลดแรงต้านในการบังคับใช้กฎหมาย โดยออกเป็นกฎหมายระดับพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น จึงมีช่องว่างระหว่างเพดานภาษีกับอัตราภาษีผ่อนผัน ดังนี้

มาตรา 37 ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ 2562 กำหนดเพดานภาษี แบ่งเป็น ประเภทเกษตรกรรม ไม่เกิน 0.15% หรือล้านละ 1,500 บาท, ประเภทที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท, ประเภทการค้าและพาณิชยกรรม ไม่เกิน 1.2% หรือล้านละ 12,000 บาท และประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่เกิน 3% หรือล้านละ 30,000 บาท

ช่องว่างภาษี 5-15 เท่า

ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่อัตราภาษีแนะนำหรือภาษีผ่อนผัน มีข้อสังเกตอย่างน้อย 2 จุดหลัก คือ

1.ประเภทเกษตรกรรม มีอัตราแนะนำ 0.01-0.1% หรือจัดเก็บล้านละ 100-1,000 บาท ในขณะที่เพดานภาษีอยู่ที่ล้านละ 1,500 บาท ทำให้มีช่องว่างในการจ่ายภาษีเกษตรกรรมที่แตกต่างกัน 5-15 เท่า

2.ประเภทที่ดินเปล่า ซึ่งมีความซับซ้อนเป็นอย่างมากในการทำอัตราแนะนำ กล่าวคือ 2.1 เพดานภาษีจริง ๆ คือ 3% หรือล้านละ 30,000 บาท แต่ในการจัดเก็บให้เริ่มต้นใช้อัตราเดียวกันกับประเภทพาณิชยกรรม อยู่ที่ 1.2% หรือล้านละ 12,000 บาท

จากนั้น 2.2 มีอัตราแนะนำโดยให้เริ่มต้นจัดเก็บจริงอยู่ที่ 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท

ดังนั้น จากเพดานภาษีที่ดินเปล่าซึ่งแพงที่สุดในจำนวน 4 ประเภทดังกล่าว ทำให้มีการบริหารภาษีด้วยการนำที่ดินเปล่าปลูกพืชผักเพื่อเข้าเกณฑ์จ่ายภาษีประเภทเกษตรกรรม

โฟกัสผังเมืองสีแดง-ม่วง

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า ขณะนี้สำนักการคลัง กทม. ได้ยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มอัตราภาษีที่ดินประเภทเกษตรกรรมให้มีการจัดเก็บสูงสุดตามเพดานภาษี อยู่ที่ 0.15% หรือล้านละ 1,500 บาท ในกรณีมีการนำที่ดินเปล่าในโซนผังเมืองที่ไม่ใช่ผังเมืองสีเขียวแต่นำมาใช้ประโยชน์ประกอบการเกษตร

โดยการเพิ่มภาษีที่ดินเกษตรกรรมดังกล่าว โฟกัสไปที่การใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง 3 ประเภทคือ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมหรือผังเมืองสีแดง, ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมหรือผังเมืองสีม่วง และที่ดินประเภทคลังสินค้าหรือผังเมืองสีเม็ดมะปราง

ทั้งนี้ ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2556 จำแนกที่ดินเป็น 10 ประเภท ได้แก่ 1.โซนสีเหลือง ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย 2.สีส้ม ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง 3.สีน้ำตาล ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก 4.สีแดง พาณิชยกรรม 5.สีม่วง อุตสาหกรรม

6.สีเม็ดมะปราง ประเภทคลังสินค้า 7.สีขาวทแยงเขียว อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม 8.สีเขียว ชนบทและเกษตรกรรม 9.สีน้ำตาลอ่อน ที่ดินอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และ 10.โซนสีน้ำเงิน ประเภทสถานที่ราชการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

เบื้องต้น พิจารณาจากร่างข้อบัญญัติ กทม.ที่กำลังจะออกมาบังคับใช้ พบว่า กทม.เตรียมขึ้นภาษีที่ดินเกษตรกรรมชนเพดานภาษี เฉพาะการนำที่ดินเปล่าในผังเมืองสีแดง-สีม่วง-สีเม็ดมะปรางมาปลูกพืชเกษตร ส่วนผังเมืองสีอื่น ๆ ให้ใช้อัตราภาษีที่ดินฯที่เป็นอัตราผ่อนผันตามเดิม

สำรวจสีผังเมือง 50 เขต

ผู้สื่อข่าวสำรวจโซนสีผังเมือง 50 เขตในพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตรของ กทม. พบว่า ผังเมืองสีแดง ประเภทพาณิชยกรรม มีการกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ โดยมีจำนวน 4 เขตที่ไม่มีผังเมืองสีแดง ได้แก่ เขตสะพานสูง ผังเมืองสีเหลือง, เขตพระโขนง โซนสีส้ม, เขตบางคอแหลม-เขตดินแดง โซนสีน้ำตาล และมี 5 เขตที่ผังเมืองสีแดงกินพื้นที่ 90-100% ได้แก่ เขตบางรัก, เขตปทุมวัน, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตราชเทวี และเขตสัมพันธวงศ์

สำหรับผังเมืองสีม่วงพบใน 8 เขตหลัก ได้แก่ เขตหนองจอก, เขตลาดกระบัง, เขตมีนบุรี, เขตบางบอน, เขตบางซื่อ, เขตประเวศ, เขตบางขุนเทียน และเขตคันนายาว สุดท้าย ผังเมืองสีเม็ดมะปรางพบใน 2 เขตที่เขตคลองเตยกับเขตลาดกระบัง

คลังชี้ กทม.มีอำนาจทำได้เอง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การจะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เต็มเพดาน เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. ที่สามารถพิจารณาดำเนินการได้เองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหารือกระทรวงการคลังแต่อย่างใด

“เป็นอำนาจหน้าที่ของเขาที่จะต้องไปพิจารณาเอง หากจะจัดเก็บเต็มเพดาน” นายอาคมกล่าว

ขณะที่ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค.อยู่ระหว่างพิจารณาตามที่ กทม.ได้ทำหนังสือหารือมา อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้อำนาจท้องถิ่นในการเก็บภาษีเพิ่มได้เองอยู่แล้ว ไม่ต้องหารือมาที่กระทรวงการคลังแต่อย่างใด

นอกจากนี้ กทม.ยังสามารถออกข้อบัญญัติเก็บภาษีได้เอง โดยไม่ต้องขอคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด เหมือนกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วย เพราะกฎหมายยกเว้นให้ไม่ต้องเสนอคณะกรรมการดังกล่าว

รายได้ภาษีที่ดินฯปี’65 โต 27%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2565 สามารถจัดเก็บไปได้ 9,598,387,829.69 บาท จากเป้าหมายการจัดเก็บภาษี 7.5 พันล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายกว่า 27.98% ซึ่งเป็นตัวเลขจากการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ เหลือแปลงสำรวจอีก 38%

อัพเดตข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 กรุงเทพมหานครสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปแล้วกว่า 61.75% โดยมีข้อมูลที่สำรวจแล้วประเภทที่ดินจำนวน 1,327,676 แปลง ประเภทบ้านที่มีบ้านเลขที่จำนวน 1,069,625 หลัง และห้องชุดจำนวน 965,101 ห้อง

ขณะที่ท็อป 10 รายได้จัดเก็บภาษีที่ดินรอบปี 2565 จากจำนวน 50 เขต เรียงรายได้ภาษีสูงสุด เริ่มจากเขตคลองเตย, เขตปทุมวัน, เขตวัฒนา, เขตบางรัก, เขตจตุจักร, เขตห้วยขวาง, เขตสาทร, เขตบางนา, เขตราชเทวี และเขตหลักสี่