ภาษีที่ดิน กทม. เคาะประตูบ้าน รีดเพิ่ม 6 แสนราย จ่ายอัตราใหม่

ที่ดิน ภาษีที่ดิน

กทม.เดินหน้ารีดภาษีที่ดินในอัตราตามกฏหมาย ทำทุกทาง ส่งจดหมาย ไปเคาะประตู และอาจต้องลงประกาศหนังสือพิมพ์ เพื่อเก็บรายได้

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 นายจักรพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทำข้อมูลเชิงลึกแนวทางจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามแนวคิดของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าฯ กทม. ที่จะปรับอัตราการจัดเก็บในที่ดินประเภทต่าง ๆ ใหม่ เพราะอัตราที่จัดเก็บในปัจจุบันยังไม่ถึงเพดานที่กำหนด ซึ่ง กทม.มีอำนาจที่จะดำเนินการได้โดยออกเป็นข้อบัญญัติของ กทม. ซึ่งจะเร่งให้ได้ข้อสรุปในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ในปี 2565 การเก็บภาษีที่ดินยังทำตามกฎหมายที่มีอยู่ไปก่อน แต่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 กทม.ต้องลงสำรวจพื้นที่ภาษีและวางแนวทางจัดเก็บใหม่ต่อไป

รองผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า ในช่วง 3 เดือนที่เหลือ (ก.ค.-ก.ย.) ของปีงบประมาณ 2565  ต้องเก็บรายได้ให้เข้าเป้า 79,000 ล้านบาท ไม่ได้มองเฉพาะภาษีที่ดิน ขณะที่แนวทางการเพิ่มอัตราภาษีก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ต้องทำ ควบคู่กับวางแผนปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ภาษีที่ กทม.เก็บเองครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะภาษีที่ดินที่ฐานข้อมูลยังไม่ครบถ้วน

มติชนรายงานว่า แนวคิดของ กทม. ในการปรับอัตราภาษีที่ดิน จะต้องทบทวนอัตราที่ดินทุกประเภท เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน หากได้รับอนุมัติจากสภา กทม. คงเริ่มเก็บได้ในปี 2566 โดยออกเป็นข้อบัญญัติ กทม. ซึ่งอัตราที่จะกำหนดนั้นจะน้อยกว่าหรือชนเพดานที่ประกาศในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบได้ โดยปัจจุบันอัตราเพดานของที่ดินเกษตรกรรมอยู่ที่ 0.5% บ้านพักอาศัยอยู่ที่ 0.3% ที่ดินอื่น ๆ หรือรกร้างว่างเปล่าอยู่ที่ 1.2%

ปัจจุบัน กทม.ได้ส่งใบประเมินให้กับผู้ที่ต้องเสียภาษีที่ดินแล้ว ทั้ง 50 เขต มีอยู่กว่า 600,000 ราย ให้มาจ่ายภาษีภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ล่าสุดมีไปรษณีย์ตีกลับกว่า 10% หรือประมาณ 60,000 ราย ทำให้ต้องปรับวิธีการใหม่ เช่น ส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียน หรือไปเคาะถึงประตูบ้าน เพราะจากการตรวจสอบไปรษณีย์ที่ตีกลับพบว่ามีบางส่วนที่มีแง้มดูแล้วแต่ไม่รับเอกสาร และอาจจะต้องลงประกาศผ่านหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งให้มาชำระภายในเวลาเหมือนที่เทศบาลตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เพราะอาจจะมีบางส่วนที่เจ้าของอยู่ต่างจังหวัด

สำหรับปีนี้เป็นปีแรกที่ภาษีที่ดินเก็บในอัตรา 100% ทำให้คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเก็บภาษีได้เท่าไร จากเป้าที่ตั้งไว้ 12,000  ล้านบาท เพราะมีประชาชนขอเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเปล่าที่มีอยู่ประมาณ 120,000 แปลง เป็นที่ดินเกษตรกันมาก สำหรับในปี 2566 กทม.ได้ออกประกาศกำหนดระยะเวลาทำการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว จะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป


ผลการจัดเก็บรายได้ในปี 2565 ณ เดือนมิถุนายน 2565 จากเป้า 79,000 ล้านบาท จัดเก็บได้แล้ว 53,480 ล้านบาท แยกเป็นรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้ 46,412 ล้านบาท และ กทม.จัดเก็บเอง 7,067 ล้านบาท เช่น ภาษีอากร 1,586 ล้านบาท ภาษีป้าย 880 ล้านบาท ภาษีโรงเรือนและบำรุงท้องที่ 573 ล้านบาท โดยคาดว่า 3 เดือนที่เหลือนี้จะเก็บได้ตามเป้า ส่วนในปี 2566 ตั้งเป้า 79,000 ล้านบาท