งบ 64 ผ่านสภาวาระแรก “ธนาธร” โผล่นั่งกรรมาธิการ

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 พ.ศ….. ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธาน

ทั้งนี้ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้อภิปรายปิดสรุปในส่วนฝ่ายค้านว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีและรมว.กลาโหม มีการพัฒนาทางอารมณ์ดีขึ้น อยากให้รักษาฟอร์มสวยๆ แต่พัฒนาการทางปัญญาไม่แน่ใจ เพราะถูกข้าราชการ รัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาลหลอกเยอะ หลอกคำโต บ้านเมืองเสียหาย การพิจารณางบประมาณแผ่นดิน มีอยู่ 3-4 เรื่อง อยากรู้ว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคมไทย ปีนี้ ปี 64 เป็นอย่างไร แล้วเราแก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ ถ้าแก้ปัญหาไม่ตรงแล้วจะทำอย่างไรต่อ

สภาพเศรษฐกิจวันนี้ รัฐบาล นายกฯ ยอมรับว่าลำบาก หลายสถาบันยืนยันชัดเจนว่าเศรษฐกิจ -8% มีการเลิกจ้างพนักงานมากมาย แต่นายกฯ ไม่ยอมรับ บอกว่าเศรษฐกิจยังดี ไปได้ อยู่ได้วันนี้อยู่ได้เพราะเงินเยียวยา 5 พันบาท หมดเวลา 3 เดือน

ส่วนเกษตรกรจบที่เดือน ก.ค. ถ้าเยียวยาหมดเอาอย่างไรต่อ และสิ่งที่กำลังหมดตามมาคือการพักหนี้ธนาคาร ชีวิตเหล่านี้กำลังกลับเข้าสู่ร่องความกดอากาศต่ำ ชีวิตรายจ่ายเข้าสู่ปกติ แต่รายรับโรงงานยังไม่เปิด สนามบินยังไม่รองรับนักท่องเที่ยว รายได้ยังไม่มี และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังอยู่ต่อไป

พอเข้าปี 64 เหลืออีก 3 เดือนที่งบประมาณจะเริ่มใช้ คนไทยต้องเผชิญหนี้ 5 ประเภท 1.หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 60% ของจีดีพี 2.หนี้ครัวเรือน 3.หนี้ภาคธุรกิจ 4.หนี้เสียในระบบ NPL 5.หนี้นอกระบบ ชาวบ้านจะเข้าสู่อาณาจักรนักเลง ดอกเบี้ยโหด ทวงโหด แล้วคนเป็นหนี้ก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ใช้เงินเยอะ ใช้เงินน้อย ความต่างกันคือเอามาใช้ได้ผลงอกเงยหรือไม่ เชื่อว่าอีกไม่นานกู้เงินมามากแล้วหนี้สาธารณะจะเกิน 60% กลางปีนี้จะได้เห็นนายกฯ และรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินกลางปีอีก เพราะเก็บเงินไม่ได้ และไม่เกิน 1 ปี รัฐบาลนี้จะขอแก้กฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อขยายเพดานหนี้สาธารณะ

ยุปรับ ครม.ทีมเศรษฐกิจ

นายสุทิน กล่าวว่า ในปี 64 เผาจริงและอาจลอยอังคารในปีนั้นด้วยซ้ำไป อีก 3 เดือนวิกฤตใหญ่มา ที่พูดวันนี้ไม่ได้ซ้ำเติม แต่นี่คือฐานคิดในการทำงบประมาณ เมื่อรู้อย่างนี้ปี 64 ควรทำงบประมาณอย่างไร การท่องเที่ยว การส่งออกไม่มีแล้ว หวังงบประมาณแต่เก็บเงินไม่เข้าเป้า เมื่อเป็นอย่างนี้จึงเป็นทุกข์หนี้ 5 ประเภท ถ้าเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ธรรมดาต้องเอาเงินคงคลังมาใช้ แต่ฐานะเงินคงคลังไม่ค่อยดีแล้ว ถ้าบอกว่าฐานะคงคลังของประเทศดีทำไมประชาชนเป็นหนี้เยอะ แล้วทำไมเจอโควิดปั๊บต้องกู้ทันที ในเอกสารงบประมาณระบุว่าเศรษฐกิจในปี 64 จะโต 5% คิดว่าประเมินผิดไม่เชื่อว่าจะมี 5% ถึงโต 5% ก็ยังอยู่กลางเหว ยังไม่ขึ้นสู่พื้นดิน และทั้งประเมินการจัดเก็บรายได้ผิด

ทางแก้คือ จัดทำงบประมาณใหม่ 64 ขอให้ใจเย็นๆ ทบทวนใหม่อะไรแก้ไขได้ก็ไปแก้ เพราะยังมีเงินใช้อีก 2 ก้อน คืองบ 63 และเงินกู้ วิปฝ่ายค้านได้ข้อสรุปว่าขอให้ทำใหม่ ถ้ายังยกมือให้ผ่านคิดว่าต้มประชาชน ถ้าไม่ผ่านวันนี้ก็แก้ใหม่ได้หรือไม่ นอกจากนี้ เวลาบริษัทใหญ่ๆ องค์กรใหญ่ๆ เจอวิกฤต จะล้ม เขาต้องปรับคนบริหารใหม่ ใช้ระบบประกันคุณภาพการบริหาร หลายท่านเป็นนักบริหาร เขาทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต้องคิดว่างบประมาณวันนี้คือแผนฟื้นฟู ต่อไปคือหาผู้บริหาร ประกันกันด้วยเป้าตัวเลข ถ้า CEO ใช้เงินบริษัทเต็มแม็ก ทำยอดขายไม่เข้าเป้าก็ก็ต้องปลด

แนะประกันคุณภาพการเมือง

“เอางบนี้ไปทำใหม่ วาระ 2 ก็ได้ ส่วนผู้บริหาร ปรับ ครม. ต้องปรับทีมเศรษฐกิจ ถ้าทำมา 6 ปีแล้ว วันนี้รู้ว่าต่ำลงจะถึงก้นเหวยังใช้ชุดเดิมก็ไม่แปลกว่าต่างชาติไม่เชื่อมั่น ทีมเศรษฐกิจที่ต้องปรับก่อนคือหัวหน้าทีม ท่านทักษิณ ชินวัตรทำได้เพราะเขารู้ ถ้าท่านนายกฯ ไม่รู้ ท่านสมคิดบอกว่ายุบสภา สภาไม่ผิด ต้องปรับ ครม. นอกจากปรับทีมเศรษฐกิจไม่พอ ต้องชวนนายกฯ มาสู่การเมืองแบบใหม่ ถ้ายังเป็นแบบนี้ปฏิรูปประเทศไม่ได้ ลองประกันคุณภาพทางการเมือง นายกฯ เป็นมืออาชีพ รับประกันด้วยผลงานให้ประชาชนมีความหวัง กล้าลุกขึ้นมาแล้วบอกต่อสภาผ่านไปยังประชาชนว่า ถ้าจีดีพีไม่โตถึง5% ลาออก ถ้าหนี้สาธารณะแตะ 65% ของจีดีพีลาออก ถ้าหนี้ครัวเรือนถึง 90% ลาออก นี่คือการปฏิรูปทางการเมืองที่อยากเห็นเพื่อไทย ก็พร้อมที่จะประกันคุณภาพถ้าทำไม่ตามเป้าก็ลาออก” นายสุทิน กล่าว

บิ๊กตู่ โต้ ยุคยิ่งลักษณ์ จีดีพีก็ต่ำ

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อภิปรายสรุปว่า มีตัวเลขหลายตัวเลขที่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลขจีดีพีที่บอกว่ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจต่ำลงจนเตี้ยติดดิน ต้องให้ความเป็นธรรมบ้าง ตั้งแต่ปี 2554 จีดีพีอยู่ที่ 0.8 แต่ขึ้นขยับขึ้นมาเป็น 7.2 จากนโยบายรถคันแรก จำนำข้าว มาถึงปี 2555 ลดลงเป็นปกติ ปี 2556 ลงมาเหลือ 2.7 ปี พอ 57 โต 1% กระทั่งปี 58 จีดีพีขึ้นมา 3.1 ปี 2559 โต 3.4 ปี 2560 โต 4.0 ปี 2561 โต 4.10 มีการลงทุนในโครงการต่างๆ ใกล้สำเร็จแต่เจอสงครามการค้าและโควิด -19 แต่รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ การทำงบประมาณใหม่ทำได้หรือไม่ก็แล้วแต่ ส่วนข้อติติงต่างๆ รับฟังได้หมด

จากนั้นเข้าสู่การลงมติ จำนวนผู้เข้าประชุม 471 คน เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ด้วยเสียง 273 ต่อ 200 เสียง งดออกเสียง 3

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ธนาธร พ้น สมาชิกภาพ ส.ส.

จากนั้น มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระ 2 โดยชื่อที่น่าสนใจในส่วนของพรรคก้าวไกล ปรากฏชื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มก้าวหน้า เข้ามาเป็นกรรมาธิการด้วย หลังจากก่อนหน้านี้นายธนาธร เคยเป็นกรรมาธิการพิจารณางบปี 2563 มาแล้ว แต่ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมาธิการ เมื่อ 29 พ.ย.2562 ทิ้งคำพูดปริศนาขณะแถลงข่าวในวันนั้นว่า

“การลาออกจาก กมธ.งบประมาณในครั้งนี้ เพื่อกลับไปอยู่กับประชาชน ในเมื่อพวกเขาไม่ต้องการเห็นผมในสภา ผมก็ไม่ขออยู่ในสภา ผมจึงขอกลับไปอยู่กับประชาชน ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อพี่น้องประชาชนลุกขึ้นยืนตรง ไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการ ไม่ยอมทนกับระบอบที่กดหัวประชาชนไว้อีกต่อไป สิ่งที่อภิสิทธิ์ชนพยายามทำอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้ คือการรวบอำนาจเข้าสู่ตัวเอง และพวกพ้อง และใช้กลไกเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ส.ว. หรือคนร่างรัฐธรรมนูญที่เขาแต่งตั้งมาเอง นั่นคือการรวบอำนาจมาอยู่ที่กลุ่มอภิสิทธิ์ชนซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ”