โควิดอาฟเตอร์ช็อก ธุรกิจกวดวิชาหมื่นล้านระส่ำ ปิดกิจการสูงกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ จับตามีตามมาอีกลอตใหญ่ ไม่เว้นรายใหญ่อย่าง The Tutor ปิดถาวร ครูสมศรีสอนออนไลน์อย่างเดียว ชี้แบกต้นทุนหลังแอ่นทั้งค่าเช่าที่ ภาษีป้าย ภาษีที่ดินฯ ทำสภาพคล่องตึง สช.ระดมทีมลงต่างจังหวัดเจอร้องเรียนภาระภาษี-กวดวิชาเถื่อน เตรียมถกมหาดไทยหาทางช่วย
นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ภายหลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง กลุ่มงานทะเบียน สช.ได้รายงานสถิติของการศึกษานอกระบบโรงเรียนรวม 7 ประเภท (โรงเรียนสอนศาสนา-ศิลปะ/กีฬา-วิชาชีพ-เสริมสร้างทักษะชีวิต-ปอเนาะ-กวดวิชา-ตาดีกาหรือศูนย์อบรมคุณธรรม)
ในปี 2563 ปรากฏจำนวนโรงเรียนกวดวิชาลดลงอย่างมีนัยสำคัญกว่า 1,712 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมาที่มีอยู่ 2,801 ราย หรือเท่ากับภายในปีเดียวมีโรงเรียนกวดวิชาเลิกไปถึง 1,069 ราย
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชาต้องปิดกิจการลงมาจาก 1) เศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาต่อเนื่องในช่วงปี 2562-2564 2) โรงเรียนกวดวิชามีชื่อซ้ำกันหรือพบโรงเรียนกวดวิชาเถื่อน ไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งจะถูกสั่งปิดทันที 3) สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองไม่ส่งเด็กเข้าเรียน แต่เลือกใช้การเรียนผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาในต่างจังหวัดไม่มีความพร้อมตั้งรับสถานการณ์
4) ห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนกวดวิชาได้กลับมาเก็บค่าเช่าอีกครั้ง หลังโควิด-19 ผ่อนคลายลง ทำให้โรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และ 5) เกิดภาระต้นทุนด้านภาษีที่โรงเรียนกวดวิชาต้องจ่าย อาทิ ภาษีเงินได้, ภาษีโรงเรือน, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ภาษีป้าย รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 บาทต่อราย ในขณะที่กวดวิชาส่วนใหญ่ไม่มีสภาพคล่องมากพอที่จะกลับมาเปิดกวดวิชาอีกครั้ง
“เศรษฐกิจแย่ลง ประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงค่าธรรมเนียมและภาษีเกี่ยวข้องกลายเป็นอุปสรรคของตลาดโรงเรียนกวดวิชาในการกลับมาเปิดสอนอีกครั้ง ขณะเดียวกันมีโรงเรียนกวดวิชาที่ตั้งใจทำผิดกฎหมายด้วยการไม่จดทะเบียน ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา
จากปัจจัยข้างต้นทำให้จำนวนโรงเรียนกวดวิชาในปีนี้ลดลงสูงเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าโรงเรียนกวดวิชาที่ทำผิดกฎหมายและที่ขาดสภาพคล่องในปี 2564 จะปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ในมุมของ สช.ถือว่าควรใช้โอกาสนี้ในการจัดระเบียบกวดวิชา ปัญหาและอุปสรรคในธุรกิจนี้เป็นอย่างไรด้วย” นายอรรถพลกล่าว
เตรียมถก มท.ลดภาษี
นายอรรถพลกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สช.อยู่ในระหว่างหารือกับกระทรวงมหาดไทย ในประเด็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะผู้จัดเก็บรายได้ให้เพิ่มการ “ยกเว้น” ป้ายกิจกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่โรงเรียน เพราะเดิมทีได้รับยกเว้นเพียงค่าป้ายชื่อโรงเรียนเท่านั้น ส่วนป้ายอื่น ๆ จะถูกตีว่าเป็นป้ายเพื่อการ “โฆษณา” ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกส่งผ่านไปอยู่ใน “ค่าเรียน” เท่ากับว่าเพิ่มภาระให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง
นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนเข้ามายัง สช.จากโรงเรียนกวดวิชาในพื้นที่ภาคใต้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เรียกเก็บภาษี “ย้อนหลัง” ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงควรมีความยืดหยุ่นด้วยการชะลอการจัดเก็บภาษีบางประเภทออกไปก่อน หากยังดำเนินการต่อเชื่อว่า จะมีโรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนนอกระบบประเภทอื่น ๆ แจ้งปิดกิจการในปี 2564 นี้อีกเป็นจำนวนมาก จนอาจจะก่อให้เกิดภาวะการ “ผูกขาด” จากโรงเรียนกวดวิชารายใหญ่ในอนาคตจากการล้มหายตายจากรายกลางและรายเล็กที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ที่เหลือปักหลัก MBK
ด้านนายคุณาธิป รัศมีจันทร์ กรรมการผู้จัดการ โรงเรียนกวดวิชาพลัสเอ็ดดูเซ็นเตอร์ (Pluseducenter) สอนด้วยระบบออนไลน์ 100% ระบุว่า เดิมทีบริเวณพื้นที่สยามสแควร์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนกวดวิชาหลายแบรนด์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพลิกโฉมใหม่ภายใต้โปรเจ็กต์ “Siam Scape” แต่เนื่องจากอัตราค่าเช่าที่สูงเทียบกับการเช่าที่ในห้างสรรพสินค้าพารากอน ดังนั้นคาดว่า จากนี้โรงเรียนกวดวิชาหลากหลายแบรนด์จะย้ายไปเช่าพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เพิ่มขึ้นแน่นอน
ด้านโรงเรียนกวดวิชาเดอะติวเตอร์มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ทางโรงเรียนได้ปิดกิจการกวดวิชาอย่างเป็นทางการแล้ว ส่วนทางด้านโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษแบรนด์ “ครูสมศรี” โดยนางสมศรี ธรรมสารโสภณ เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ คุณครูสมศรี กล่าวว่า ในปัจจุบันโรงเรียนยังไม่ได้ปิดกิจการ แต่ในขณะนี้เหลือเพียงการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากยังมีนักเรียนสนใจเข้ามาเรียนก็ยังคงเปิดการเรียนการสอนแน่นอน
ล่าสุดจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า มีโรงเรียนกวดวิชาที่จดแจ้งเลิกกิจการจำนวนมาก โดยในช่วงปี 2563-2564 (เดือนมกราคม) ประกอบด้วย บริษัทเจเอ็นจี เอ็ดดูเคชั่น รับสอนพิเศษ กวดวิชา และเป็นที่ปรึกษา, บริษัทนัมเบอร์วันฟิสิกส์ ที่ประกอบกิจการสอนเสริม รวมถึงการกวดวิชา, บริษัทเดอะติวเตอร์กรุ๊ป ประกอบกิจการโรงเรียน, บริษัทพี แอนด์ เอส เอดดูเคชั่น โซลูชั่น ประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชา,
บริษัทเชี่ยวชาญปัญญา, บริษัท ซี.บี.ติวเตอร์ริ่ง, บริษัทพิชญ์ณัฐ 92, บริษัทฟูลสมาร์ท, บริษัทโนวเลจ โนวฮาว, บริษัทสเปเชียลคลาส, บริษัทแอบโซลูท แกร็มมาร์, บริษัทอเมริกัน โกลบอล เอ็กเซลเลนซ์ ประกอบกิจการสอนพิเศษทางวิชาการทุกประเภท บริษัทครูดิว เอ็ดดูเคชั่น ประกอบกิจการให้คำปรึกษาด้านวิชาการและกวดวิชาภาษาอังกฤษ แก่นักเรียน นักศึกษา
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมานั้น จำนวนโรงเรียนกวดวิชาในปัจจุบันอยู่ที่ 1,712 แห่ง อยู่ในพื้นที่ กทม. 324 แห่ง ส่วนที่เหลือ 1,388 แห่งอยู่ต่างจังหวัด มีจำนวนนักเรียนรวม 415,806 คน อยู่ใน กทม. 105,849 คน ส่วนที่เหลือ 309,957 คน ขณะที่จำนวนครูผู้สอนภาพรวมใน กทม.อยู่ที่ 4,053 คน อยู่ใน กทม. 731 คน และอยู่ในต่างจังหวัด 706 แห่ง สำหรับ 3 อันดับแรกโรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ บริษัทวี บาย เดอะเบรน ตามมาด้วยออนดีมานด์ เอ็ดดูเคชั่น และเอ็นคอนเซ็ปท์