หุ้นเป๋าตังเสน่ห์แรง โกยรายได้ค่าฟีขาย “สลากดิจิทัล-หุ้นกู้” ทะลัก

KTB หรือหุ้นธนาคารกรุงไทย ถือเป็นหุ้นที่ค่อนข้างมีเสน่ห์ เพราะได้แรงหนุนจากปริมาณธุรกรรมบนแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง เพราะให้บริการครอบคลุมมาตรการภาครัฐและเอกชน ทั้งด้านบริการสุขภาพ ด้านการออมและการลงทุน อย่างการซื้อขายหุ้นกู้ดิจิทัล การให้บริการ Gold Wallet และโดยเฉพาะการซื้อสลากดิจิทัลที่ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว และยังมีแผนที่จะเพิ่มฟีเจอร์การให้บริการต่าง ๆ อีกมากมายในอนาคต

ถ้ามาดูรายได้ค่าธรรมเนียมและจังหวะการจะเข้าลงทุนหุ้น KTB จะเป็นอย่างไร วันนี้ Prachachat Wealth ได้ร่วมพูดคุยกับ “คุณธนภัทร ฉัตรเสถียร” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

Q : รายได้ค่าธรรมเนียม KTB ในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า จากเป๋าตังจะหนุนมากน้อยแค่ไหน ?

นายธนภัทรกล่าวว่า ถ้าพูดถึงตัวของแอปเป๋าตัง ก็ต้องบอกว่าในช่วงที่ผ่านมายังเป็นช่วงของการ accumulate ตัวของ user ตอนนี้ user เขาค่อนข้างเยอะแล้ว ประมาณ 34-35 ล้านราย ที่ใช้แอปเป๋าตัง ซึ่งในส่วนที่เพิ่มขึ้นก็เพิ่มขึ้นมาจากช่วงที่มีมาตรการภาครัฐ “คนละครึ่ง” ทำให้คนทั่วไปเรียกว่าจำเป็นต้องใช้

ในช่วงนี้เราก็อาจจะเห็นในแง่ของการทำรายได้มากขึ้น หลังจากที่เขามีจำนวน user พอสมควรแล้ว เพียงแต่ว่ารายได้ที่จะผลักดันตัวรายได้ค่าธรรมเนียมรวมมันยังไม่เยอะมาก

ผมคำนวณให้ง่าย ๆ ถ้าสมมุติว่ามีสลากกินแบ่งที่ขายผ่านตัวแอปเป๋าตังประมาณ 10 กว่าล้านฉบับต่องวด ก็คือต่อครึ่งเดือน รายได้ที่เขาจะได้จริง ๆ หลักก็ประมาณสัก 3-4 ล้านบาทต่องวด คิดเป็นต่อปีอาจจะประมาณสัก 100 ล้านบาท ซึ่งเรียกว่าไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับตัวกำไรรวมของ KTB ที่เป็นหลักหมื่นล้าน

หรือในส่วนของการขายหุ้นกู้ก็เหมือนกัน ซึ่งในแง่ของการขายหุ้นกู้ วอลุ่มก็จะเห็นว่าเยอะมากที่ขายมา 3-4 ซีรีส์ในช่วงที่ผ่านมา รวม ๆ กันก็เป็นหมื่นล้าน เพียงแต่ว่าปกติแล้วเป๋าตังเขาก็เป็นในแง่ของแพลตฟอร์ม ในแง่ของคนที่ช่วยขาย เพราะฉะนั้น ผมไม่ทราบแน่นอนว่าเขาได้ค่าฟีเท่าไหร่ แต่คิดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณสัก 25 pbs (0.25%) ก็คิดเป็นรายได้ประมาณ 200 กว่าล้านบาท ก็ไม่ได้เยอะเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น รายได้ค่าธรรมเนียมจากแอปเป๋าตังต้องบอกว่าตอนนี้ยังไม่เยอะ แต่ว่าในอนาคตมันก็ยังมีความหวังว่าอาจจะขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมต่อไปในโปรดักต์อื่น ๆ หรือโปรดักต์ที่มีอยู่มันก็จะขยายมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ตัวของสลากกินแบ่ง ปกติต่องวดพิมพ์ออกมาประมาณ 100 ล้านฉบับ ซึ่ง 100 ล้านฉบับตอนนี้ขายผ่านบนแอปเป๋าตังประมาณ 10 ล้านฉบับเท่านั้นเอง ในอนาคตถ้ามันเป็น 20-30 ล้านฉบับ ต้องบอกว่ามันก็เริ่มมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่เป็นนัยมากขึ้น

หรือตัวของการขายหุ้นกู้ผ่านแอปเป๋าตังจะเห็นว่าขายผ่านแอปเป๋าตัง จองเร็วมาก หมดเร็วมาก ในอนาคตผมคิดว่าก็คงจะมีบริษัทอื่น ๆ ที่สนใจมาขายหุ้นกู้ผ่านแอปเป๋าตังมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่เป็นนัยมากขึ้น

หรืออาจจะมองไปถึงตัวโปรดักต์อื่น ๆ ประกัน, กองทุนรวม ในเมื่อมีแพลตฟอร์มแล้ว สามารถขายผ่านแอปเป๋าตังได้หมด เพียงแต่ว่าตอนนี้เรายังไม่สามารถประมาณได้ว่าในอนาคตตัวของรายได้ค่าฟีตรงนี้จะเยอะแค่ไหน แต่ว่าให้มองเป็นอัพไซด์แล้วกันว่าในอนาคตตรงนี้ยังมีอัพไซด์ที่จะเกิดจากค่าธรรมเนียมอยู่

Q : กำไรช่วงไตรมาส 3-4 ทิศทางจะเป็นอย่างไรหากดูจากโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ?

นายธนภัทรกล่าวต่อว่า ในช่วงไตรมาส 3/65 กำไรก็น่าจะเห็นโตได้จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) และเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) คือต้องบอกก่อนว่า YOY มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะว่าในช่วงของปีที่แล้วเรายังอยู่ในสถานการณ์โควิด เรื่องของหนี้เสีย (NPL) และสำรองหนี้ ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันในช่วงของปีที่แล้ว

ส่วนปีนี้ภาพมันดีขึ้น เพราะฉะนั้น ภาพ YOY ก็เลยโต แต่ QOQ ผมคิดว่าเราน่าจะเห็นในแง่ของตัวรายได้ปรับตัวดีขึ้น และที่สำคัญเลยคือสำรองหนี้น่าจะลดลง เพราะในช่วงไตรมาส 2/65 ถ้าย้อนกลับไปดูตัวของ KTB มีการตั้งสำรองส่วนเกินไว้ระดับหนึ่ง ซึ่งสำรองส่วนเกินตรงนี้ทำให้ NPL coverage ratio (อัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม) ของ KTB มันเพิ่มขึ้นเป็น 159% ก็ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มไปเยอะเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น พอภาพมันเป็นแบบนี้ หมายความว่าไตรมาส 3/65 เขาก็ไม่ต้องตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อกำไรได้ ส่วนไตรมาส 4/65 ก็อาจจะเห็นกำไรอ่อนตัวจากไตรมาส 3/65 ลงมาบ้าง เพราะปกติแล้วไตรมาส 4/65 จะเป็นช่วงของการบุ๊กค่าใช้จ่าย แต่เทียบ YOY ก็น่าจะยังดีอยู่ โดยภาพรวมทั้งปี กำไรของ KTB ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 31,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 40% เทียบ YOY ซึ่งก็ถือว่าโตค่อนข้างเยอะ

Q : จังหวะการเข้าลงทุนหุ้น KTB ราคาเป้าหมายและราคาอัพไซด์มองไว้อย่างไร ?

นายธนภัทรกล่าวอีกว่า ถ้าดูตัวของอัพไซด์ KTB ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอัพไซด์จากราคาเป้าหมายของทางทรีนีตี้เอง หรือว่าอัพไซด์จากราคาเป้าหมายของ Consensus ก็ตาม ก็จะเห็นว่าตอนนี้อัพไซด์อาจจะไม่ได้สูงมาก เพราะว่าหุ้น KTB ในปีนี้ outperform กลุ่มค่อนข้างเยอะ เทียบผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (Return YTD) ก็ต้องบอกว่าแบงก์ใหญ่อื่น ๆ ราคาหุ้นเติบโตขึ้นมาไม่เกิน 10% แต่ KTB ผลตอบแทนโตมาแล้วประมาณ 25%

แต่ถามว่าไม่มีอัพไซด์เลยไหม ผมคิดว่ายังไม่ใช่ หุ้นยังพอมีอัพไซด์อยู่ เพียงแต่อัพไซด์อาจจะต้องรอการปรับจาก 2 ส่วน อย่างแรกก็คือ ในเรื่องของการปรับประมาณการกำไร มีโอกาสที่เราจะเห็นการปรับตัวของประมาณการกำไร เพราะว่าประเด็นหลักในเรื่องค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ ที่เรามองว่ามีโอกาสลดลง ตอนนี้ยังประมาณกันไม่ถูกว่าจะลดลงไปถึงระดับไหน ซึ่งก็เป็นอัพไซด์ในการปรับตัวของประมาณการกำไร

ประเด็นที่สองการ Roll-over ราคาเป้าหมาย ตอนนี้ยังใช้ราคาเป้าหมายของปี’65 แน่นอนพอไปถึงช่วงการประกาศงบฯไตรมาส 3/65 จะมีการ Roll-over ตัวราคาเป้าหมายไปในช่วงปี ’66 ซึ่งจะเห็นอัพไซด์ของ KTB กลับมาอีกครั้ง

ในแง่จังหวะในการเข้าลงทุน ผมคิดว่าช่วงนี้ตลาดก็ยังเป็นขาขึ้นที่จะเรียกว่าตึง ๆ เพราะฉะนั้นอาจจะรอจังหวะที่ตลาดมีจังหวะปรับตัวลงมาบ้างและก็เข้าซื้อ ผมคิดว่า KTB ยังเป็นหุ้นที่น่าสนใจในแง่ของการเติบโต อย่างที่บอกมีอัพไซด์จากเรื่องของค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสำรองหนี้ที่มีแนวโน้มจะลดลง

และในแง่ของคุณภาพหนี้เมื่อเทียบกับแบงก์ใหญ่อื่น ๆ ก็ต้องบอกว่า KTB ก็มีความเด่นเฉพาะตัวเหมือนกัน อย่างแรกก็คือสินเชื่อภาครัฐ จะเห็นว่าสินเชื่อภาครัฐเป็นตัวช่วย KTB ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างเยอะเลย NPL ของ KTB ตอนนี้แนวโน้มถือว่าดูดีกว่าแบงก์ใหญ่อื่น ๆ ด้วยซ้ำ และสำรองส่วนเกินที่มีอยู่ค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของแบงก์ใหญ่อื่น ๆ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ KTB ก็เป็นหุ้นที่น่าสนใจสามารถเข้าลงทุนได้ แต่อาจจะต้องอาศัยจังหวะนิดหนึ่ง