เปิดสถิติ IPO ปี’63-65 ธุรกิจไม่หวั่น ตบเท้าเข้าเทรดไม่ต่ำกว่าแสนล้าน

ตลาดหุัน

ย้อนดูสถิติระดมทุนไอพีโอ (IPO) ของบริษัทขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ในตลาดทุนไทยปี 2563-2565 ตั้งแต่เผชิญสถานการณ์โควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ภาพรวมการระดมทุนหุ้นไอพีโอเป็นอย่างไร

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 อย่างรุนแรง หลายบริษัทต่างได้รับผลกระทบอย่างมากจากเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกที่หยุดชะงัก โดยในช่วงต้นปี 2563 ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ปรับตัวลงหนักจนหลุด 1,000 จุด และปรับตัวลดลงต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ขณะที่ในปี 2564 ประเทศไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูเหมือนจะเลวร้ายลงจากปีก่อนหน้า จากสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์โควิด-19 สู่เดลต้า แต่ในปี 2564 จะเริ่มเห็นบางบริษัทเริ่มมีปรับตัวเพื่อต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจได้มากขึ้น

ต่อเนื่องมาในปี 2565 หลาย ๆ ธุรกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย และเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าแม้บริษัทต่าง ๆ ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิดมาอย่างต่อเนื่อง

แต่หากไปย้อนดูการระดมทุนหุ้นใหม่ไอพีโอ (IPO) จะเห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ยังคงเดินหน้าเข้าระดมทุนหุ้นไอพีโอกันอย่างต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยลบมากมาย ซึ่งสะท้อนว่าที่ผ่านมาตลาดทุนยังคงเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของบริษัทต่าง ๆ มาโดยตลอด

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลการระดมทุนหุ้นไอพีโอของบริษัทในตลาดทุนไทย ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2563-2565 มาให้ดูกันว่าแม้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายบริษัทต่าง ๆ ยังคงพาเหรดเข้าระดมทุน

ปี’63 ไอพีโอท่ามกลางวิกฤตโควิด

ในช่วงปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่เลวร้ายของทุกธุรกิจเนื่องจากเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังมีบริษัทหลายแห่งสนใจเพิ่มช่องทางระดมทุนให้กับบริษัทด้วยการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอ (IPO) ซึ่งในปี 2563 นี้ มีจำนวนหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจำนวนทั้งสิ้น 27 หลักทรัพย์ คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวมทั้งสิ้น 131,049.88 ล้านบาท

นอกจากนี้ ข้อมูลจากดีลอยท์ ประเทศไทย พบว่าในปี 2563 ประเทศไทยรั้งตำแหน่งผู้นำที่สามารถระดมทุนได้สูงสุดในภูมิภาคเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดย บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) และ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เป็นสองบริษัทที่สามารถระดมทุนได้สูงสุดในปีนั้น

ทั้งนี้ ในจำนวน 25 บริษัทจดทะเบียนทั้ง SET และ mai ที่เข้าระดมทุนใหม่ในปีนั้น มีบริษัทที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากด้านผลประกอบการของบริษัทที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยพื้นฐานดี โดยเข้ามาระดมทุนในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งพิจารณาจากราคาซื้อขายที่ปิดวันแรกปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยบางบริษัทนั้นมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 200% โดยทั้ง 3 บจ. IPO ที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นนั้น ทั้งหมดมาจากบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น mai

อย่างไรก็ตาม เส้นทางไม่ได้สวยหรูปูพรม เนื่องจากหลากหลายปัจจัยที่ทำให้สภาวะตลาดมีผันผวนมากมาย ทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์คาดเดายากขึ้น ส่งผลให้หุ้นน้องใหม่อีกหลายตัวต้องเบรกแผนระดมทุนไปในปีนี้

ปี’64 ไอพีโอสูงสุดในรอบ 4 ปี

ในปี 2564 การระดมทุนผ่านไอพีโอกลับมาคึกคักอีกครั้ง แม้ยังคงเป็นช่วงสถานการณ์โควิดแต่บริษัทขนาดเล็ก และขนาดใหญ่เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอ (IPO) ไปแล้วรวม 41 หลักทรัพย์ ซึ่งมีจำนวนสูงที่สุดในรอบ 4 ปี

โดยมีมูลค่าการเสนอขายรวมกว่า 137,273.66 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของกลุ่มประเทศอาเซียน แต่น้อยกว่าปี 2563 ที่มีมูลค่า 164,455.74 ล้านบาท และมีทั้งหมด 27 บริษัท

โดยปี 2564 บริษัทที่มีมูลค่าเสนอขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

1. OR มูลค่า 54,000 ล้านบาท

2. TIDLOR มูลค่า 38,089 ล้านบาท

3. ONEE มูลค่า 4,218.15 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลจากดีลอยท์ ประเทศไทย พบว่าในปี 2564 ประเทศไทยยังคงรั้งตำแหน่งผู้นำที่สามารถระดมทุนจากไอพีโอได้สูงสุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยหุ้นไอพีโอในปีนี้มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทน้ำมัน จนถึงบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ค้าปลีก และธุรกิจทางการเงิน ซึ่งเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนจำนวนมาก

ซึ่งการเข้าระดมทุนผ่านไอพีโอไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ โดยภาพรวมเรียกได้ว่าเป็นปีทองของหุ้นไอพีโอเลยก็ว่าได้ เพราะหลายบริษัทเข้าเทรดวันแรกด้วยราคาเหนือจองมากกว่า 30 บริษัท ทั้งนี้มีหุ้นบางตัวที่ในวันแรกของการซื้อขายราคาสามารถปรับตัวขึ้นไปปิดชนซิลลิ่ง (เพดาน) 200%

ปี’65 ไอพีโอชะลอตัวเล็กน้อย

โดยในปี 2565 นี้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ต.ค 2565 มีการระดมทุนเสนอขาย IPO แล้วจำนวน 27 หลักทรัพย์ คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 88,938.59 ล้านบาท

ทั้งนี้ในปี 2565 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเสนอขาย 3 อันดับแรกคือ 1.กลุ่มอุดสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง 2.กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และ 3.กลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร

โดยข้อมูลจากดีลอยท์ ประเทศไทย พบว่าในช่วง 10 เดือนครึ่งปี 2565 ประเทศไทยยังคงรั้งตำแหน่งผู้นำที่สามารถระดมทุนจากไอพีโอได้สูงสุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระดมทุนได้ทั้งหมด 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจำนวนเงินที่ระดมทุนได้ในปีนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับจำนวนเงินจากการระดมทุนในปี 2560-2562 (มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี) เป็นสัญญาณว่าสิ่งต่าง ๆ กลับสู่สภาวะเดิมก่อนเกิดโรคระบาด ส่วนในปี 2563 และ 2564 เงินจากการระดมทุนในแต่ละปี มีมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ปัจุบันมีคำขอที่ได้รับอนุญาตและพร้อมเสนอขาย IPO อีกจำนวน 12 หลักทรัพย์ และอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอ 26 หลักทรัพย์ และมีจำนวน 87 หลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่าง Preconsult ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดทุนเป็นแหล่งทุนที่สำคัญและยังมีการระดมทุนผ่านตลาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งต้องรอติดตามการเสนอขายหุ้นไอพีโอและวันเทรดต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คาดว่ายังมีหุ้นเตรียม IPO เข้าระดมทุนใน SET กว่า 20 บริษัท  ดังนั้นทั้งปีนี้จึงคาดว่า IPO จะเข้าเทรดอยู่ระดับเดียวกับปีก่อน ที่มี 41 บริษัท และมาร์เก็ตแคป น่าจะใกล้เคียงกันกับปี 2564 ด้วย


เรียกได้ว่าแม้สถานการณ์รอบตัวจะเลวร้ายแค่ไหน บริษัทส่วนใหญ่ยังคงสามารถปรับตัวและเลือกตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนผ่านไอพีโอกันมาอย่างต่อเนื่อง