จับ “เปรมชัย” สะเทือน “อิตาเลี่ยนไทย” 5 แสนล้าน

เพียง 30 นาที ที่เสียงและภาพ การฆ่า-ชำแหละสัตว์ป่า จากป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี แพร่มาถึงกรุงเทพฯ เช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ชื่อ “เปรมชัย กรรณสูต” ก็กระหึ่ม-กระฉ่อนอีกครั้ง เป็นเสียงที่ดังขึ้น หลังกระสุนทะลุร่างเสือดำ และกลิ่นคาวเลือดจากการถลกหนังเสือ เก้ง และไก่ฟ้าหลังเทา ซึ่งล้วนเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง”

ต่างไปจากชื่อ-เสียงของ “เปรมชัย”ซีอีโอบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่มักจะปรากฏแวดวงธุรกิจรับเหมา-สัมปทาน มีโครงการรอเซ็นสัญญากว่า 300 โครงการ มูลค่างาน 5 แสนล้านบาท

แม้หลักฐานจะปรากฏอย่างชัดแจ้ง ตามที่เพจเฟซบุ๊กของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งโพสต์ข้อมูลระบุว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

รายงานว่า คณะของนายเปรมชัย กรรณสูต ลักลอบตั้งแคมป์พักแรมในจุดบริเวณห้วยปะชิ อยู่ระหว่างหน่วยทิคอง กับหน่วยมหาราช ซึ่งเป็นจุดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกไม่อนุญาตให้ตั้งแคมป์ จึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพิสูจน์ทราบ

เจ้าหน้าที่ระบุหลักฐานในที่เกิดเหตุ ตรวจพบอาวุธ 3 รายการ คือ 1.อาวุธปืนยาวขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก 2.อาวุธปืนไรเฟิลติดลำกล้องจำนวน 1 กระบอก 3.อาวุธปืนลูกซองแฝด จำนวน 1 กระบอก และเครื่องกระสุนพร้อมใช้งานและพบซากไก่ฟ้าหลังเทากับเนื้อเก้ง จึงได้ควบคุมตัวนายเปรมชัย กรรณสูต และคณะรวม4 คน ไปที่สำนักงานเขต ถึงในเวลา 02.40 น.

ชำแหละถลกหนังเสือดำ

กระทั่งเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติม พบซากเสือดำถูกชำแหละเนื้อและหนังแล้วกับเครื่องกระสุนปืนอีกจำนวนมากที่ถูกซุกซ่อนไว้บริเวณที่แคมป์พัก และส่งดำเนินคดี สภ.ทองผาภูมิ เสียงปืนทะลุหลังเสือ ดังก้องไปถึงคณะรัฐมนตรี ที่มีการประชุม “ครม.สัญจร” อยู่ที่ จ.จันทบุรี สัญญาณตอบรับจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการทำผิดกฎหมาย ต้องถูกลงโทษ ถ้ามีการพิจารณาคดีก็ต้องเข้ากระบวนการยุติธรรม และตัดสินด้วยศาล ให้ทุกฝ่ายดำเนินการตรงไปตรงมา อย่าอ้างตน หรืออ้างใครเพื่อเอื้่อประโยชน์

กรมป่าไม้ชี้ข้อมูล 5 ประเด็น

สอดคล้อง เป็นลำดับชั้นบังคับบัญชาลงมา เมื่ออธิบดีกรมอุทยานฯ นายธัญญา เนติธรรมกุล ที่ให้ปากคำสาธารณะ ชี้ชัด 5 ประเด็นหลัก 1.ข้อมูลบันทึกภาพมีซากเสือดำ, อาวุธปืน 2.เจ้าหน้าที่ไม่ได้เห็นตอนยิง 3.การขอเข้าพื้นที่จุดหนึ่ง แต่จุดที่เกิดเหตุพบซากสัตว์อยู่อีกจุดหนึ่ง 4.นายเปรมชัยเป็น 1 ใน 4 คนที่อยู่ในบันทึกการจับกุม แต่ให้การปฏิเสธ 5.ไม่พบรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง

เสียงที่มีน้ำหนัก และสะเทือนขวัญคณะรัฐบาล คสช. กลายเป็นเสียงของ “เอ็นจีโอ” สายอนุรักษ์เข้มข้น อย่าง “ศศิน เฉลิมลาภ” ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษร “กรณีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560”

มูลนิธิสืบเกาะติดกดดัน คสช.

แถลงการณ์ระบุว่า 1.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 และได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเสมอมา สาธารณชนรู้ว่าพื้นที่แห่งนี้จะได้รับการปกป้องและอนุรักษ์ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าให้คงไว้ ดังนั้นการที่ผู้ต้องหาเข้าไปในพื้นที่โดยอ้างว่าไม่ทราบจึงเป็นไปไม่ได้

ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทย เจ้าหน้าที่และองค์กรต่าง ๆ ให้ความร่วมมือช่วยกันอนุรักษ์เรื่อยมาจนสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น แต่การที่คนที่มีสถานภาพทางสังคมเข้าไปล่าสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ จึงแสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพต่อกฎหมายและผลงานการอนุรักษ์ของสังคมไทย

3.จากการติดตามข่าวนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) อ้างรู้จักต่อข้าราชการในระดับบริหารขอเข้าไปยังพื้นที่โดยให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวพักผ่อน แต่กลับเข้าไปล่าสัตว์ป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่พบสัตว์ป่าคุ้มครอง ได้แก่ ไก่ฟ้าหลังเทา ซากเนื้อเก้ง ซากเสือดำ ถูกชำแหละและถลกหนัง รวมถึงพบอาวุธปืน 3 กระบอก นับเป็นการกระทำที่ปราศจากความละอายใจและย่ามใจว่าเจ้าหน้าที่คงไม่กล้าดำเนินการตรวจสอบ

4.ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ในความกล้าหาญสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาครั้งนี้

5.ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐบาล อย่าได้เกรงกลัวต่ออิทธิพลและสถานะทางธุรกิจอันใหญ่โตของผู้ต้องหา ขอให้สืบสวนและดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุดเพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อไป

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ต้องหามีฐานความผิด ตามที่เพจของกรมอุทยานฯระบุไว้ 6 กระทง

1.ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 36 และมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

2.ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง

3.ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง

4.ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

5.ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

6.ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

โทษใหญ่ 2 ข้อหาคุก 5 ปี

แหล่งข่าวจากกรมอุทยานฯระบุว่า “เปรมชัย” อาจถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันกระทำผิด 4 ข้อหา เช่น 1.ข้อหาพยายามล่า

2.ข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง 3.ข้อหามีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง 4.ข้อหาพบอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอัตราโทษสูงสุด ข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง จำคุก 5 ปี ปรับ 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีครอบครอบซากสัตว์ป่า จำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ส่วนใหญ่คดีลักษณะนี้มักจะ “รอลงอาญา”

“เปรมชัย” รับไม้ต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจากผู้เป็นพ่อ “หมอชัยยุทธ กรรณสูต” ตั้งแต่ปี 2522 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท 14.38%

เขาอาจถูกดำเนินคดี “พยายามล่า”

ซึ่งที่สุดท้ายอาจจะไปไกลสุดแค่ “รอลงอาญา” ตามรอยคดีอื่น ๆ แต่ชีวิตนักธุรกิจ “เปรมชัย” วัย 64 ในฐานะเจ้าของอาณาจักรรับเหมาก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ ทั้งในและต่างประเทศมากว่า 60 ปี มีงานในมือร่วม 5 แสนล้านบาท อาจถึงจุดพลิกผัน

สะเทือนภาพลักษณ์ซีอีโอ

แหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข่าวที่ออกมา ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และตำแหน่งซีอีโอของบริษัท เนื่องจากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหากมีการดำเนินคดี อาจจะต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้มารับตำแหน่งประธานและกรรมการบริษัทแทน

นายเปรมชัย ขณะที่ในแง่ธุรกิจของบริษัท จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องส่วนตัวของนายเปรมชัย

ปัจจุบันอิตาเลียนไทยฯมีงานเล็กและใหญ่ในมือทั้งกำลังก่อสร้างและรอเซ็นสัญญาร่วม 300 โครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่างานในมือ (แบ็กล็อก) 5 แสนล้านบาท มีทั้งงานก่อสร้างอาคาร อาทิ สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงศรีที่เพลินจิต, เซ็นทรัลพลาซานครราชสีมา, วิสซ์ดอม 101 และงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ไม่ว่ารถไฟฟ้ารถไฟทางคู่ ทางด่วน สนามบิน โรงไฟฟ้า

มีโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง อาทิ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเป็นงานอุโมงค์ช่วงต่อเชื่อมกับสถานีหัวลำโพง, สายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต, สายสีเขียวต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่, สายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2, ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟท่าเรือแหลมฉบัง, โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงแปลง G, มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช, รถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงมาบกะเบา-จิระ, อุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง เป็นต้น

ล่าสุดได้เซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเฟสแรกกรุงธนบุรี-คลองสาน วงเงิน 1,068 ล้านบาท และบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินสายสีทอง 188 ล้านบาท และงานนำสายไฟลงใต้ดินช่วงถนนตก-สะพานพระราม 9 วงเงิน 1,942 ล้านบาท

เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ปี 2560 บริษัทได้งานใหม่ในมือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท (รวมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 35,000 ล้านบาท)สูงสุดในรอบ 60 ปีที่ก่อตั้งบริษัทมาทำให้มีงานในมือปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท เป็นงานในประเทศและต่างประเทศ 50 : 50 ทยอยรับรู้รายได้ 4 ปี เฉลี่ยปีละ 1.2 แสนล้านบาท

โดยปี 2560 ที่ผ่านมาสามารถรับรู้รายได้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าปี 2561 จะถึง 1 แสนล้านบาท

“ปีนี้รัฐบาลผลักดันโครงการขนาดใหญ่เปิดประมูลออกมามากกว่าปี 2560 ถึงเท่าตัว คิดเป็นมูลค่างานกว่า 1 ล้านล้านบาท ที่บริษัทประเมินไว้จะเข้าร่วมประมูลหลายโครงการ ทั้งงานก่อสร้างและลงทุน PPP เช่น รถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 9 โครงการ มูลค่า 4 แสนล้านบาท รถไฟไทย-จีน รถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ยังมีงานอื่น ๆ อีก เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โดยคาดว่าบริษัทจะได้งานในมืออย่างน้อย 3 แสนล้านบาท”

ล่าสุด อิตาเลียนไทยฯสนใจจะเข้าร่วมประมูลลงทุน PPP gross cost 30 ปี งานระบบและบริหารโครงการเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมาและบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่ากว่า 6.1 หมื่นล้านบาท โดยจะร่วมกับพันธมิตรจีน ญี่ปุ่น และยุโรป

ส่วนงานต่างประเทศ “เปรมชัย” กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นงานในประเทศบังกลาเทศ ที่ได้งานแล้วมีโครงการสร้างทางด่วนยกระดับ 5 หมื่นล้านบาทกับรถไฟฟ้ายกระดับ 3 หมื่นล้านบาท ที่เมืองดาการ์ และจะร่วมประมูลสนามบินอีก 3 หมื่นล้านบาท และมอเตอร์เวย์อีก 1 แสนล้านบาท รถไฟใต้ดิน3 หมื่นล้านบาท โรงบำบัดน้ำเสีย และสนามบินใน Q1/61


พร้อมกันนี้รอรัฐบาลเมียนมาอนุมัติใบอนุญาตการเช่าใช้ที่ดิน รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และแผนการก่อสร้างโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่อิตาเลียนไทยฯได้รับสัมปทาน 75 ปี โดยส่งแบบการก่อสร้างไปให้รัฐบาลเมียนมาพิจารณาตั้งแต่ปี 2559 ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ลงทุนไปแล้ว 7,000-8,000 ล้านบาท สำหรับเตรียมความพร้อมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 13,000 ไร่ มีก่อสร้างท่าเรือขนาดเล็กและถนนภายในโครงการ